ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 กิจการรากหญ้า ค่าสี่หมื่นล้าน - Forbes Thailand

ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 กิจการรากหญ้า ค่าสี่หมื่นล้าน

เรื่อง: บำรุง อำนาจเจริญฤทธิ์ ภาพ: ดาว วาสิกศิริ

ณ สำนักงานใหญ่ของ บมจ.ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 (SAWAD) บนชั้น 15 ตึก B ของ The Nine Tower Grand ย่านพระรามเก้า ดูโล่งกว้าง คล้ายสำนักงานที่ยังตกแต่งไม่เสร็จ ห้องทำงานของ ธิดา แก้วบุตตา กรรมการ และผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ของบริษัทฯ (ผู้มีมูลค่าทรัพย์สินอย่างน้อย 1.58 หมื่นล้านบาท) โดย คำนวณจากจำนวนหุ้น 37.2% ที่เธอถือในบริษัทฯ และ มูลค่าตลาดรวมของ SAWAD 4.25 หมื่นล้านบาท ณ 24/04/2015)

“ที่นี่บ้านๆ ลูกทุ่ง ตั้งใจให้เป็นอย่างนั้น ไนล์ขี้งก อะไรที่ไม่ควรจ่าย ไนล์จะไม่จ่าย ไนล์เป็นคนง่ายๆ ไม่เสียอะไรถ้าไม่จำเป็น เราไม่ได้มีเงินเยอะ” ผู้บริหารหญิงวัย 32  ปี กล่าวกับ Forbes Thailand พร้อมรอยยิ้มแก้มปริ ในวันที่ SAWAD ได้รับใบอนุญาตทำธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ จากกระทรวงการคลัง

ธิดา คือ ลูกสาวคนเล็กของ ฉัตรชัย และ จริยา แก้วบุตตา ผู้มีพื้นเพในอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ธิดามีพี่สาวอีก 1 คน คือ ดวงใจ ปัจจุบันอายุ 35 ปี ทั้งหมดล้วนช่วยกันบุกเบิกธุรกิจเงินกู้และบริหาร SAWAD จนปัจจุบัน

ฉัตรชัย เริ่มต้นธุรกิจด้วยการจำหน่ายมอเตอร์ไซค์ ฮอนด้าตั้งแต่ปี 2522 ลูกค้าที่ผ่อนรถไป เกิดเดือดร้อนเงินขึ้นมาในวันหนึ่งและไม่รู้จะไปพึ่งพาใคร ธุรกิจปล่อยเงินกู้ของเขาในจังหวัดเพชรบูรณ์ก็เริ่มต้น ด้วยเงินเริ่มต้นราว 3 ล้านบาท ต่อมาก็ขยายสาขาไปจังหวัดอื่นเรื่อยๆ ภายใต้บริษัท ศรีสวัสดิ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (SI) โดย รูปแบบสินเชื่อเน้นใช้ทะเบียนกรรมสิทธิ์รถทุกประเภทเป็นหลักประกัน

ธิดาเข้าเมืองหลวงเมื่ออายุราว 10 ขวบเพื่อเป็นนักเรียนประจำโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย จากนั้นจึงไปเรียนต่อคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วเข้าทำงานด้านตรวจสอบบัญชีที่ Deloitte Touche Tohmatsu Jaiyos สำนักงานปรเทศไทยของหนึ่งในสี่ของบริษัทตรวจสอบบัญชีระดับโลก ก่อนบินไปเรียนต่อ MBA ที่ Waseda University ในญี่ปุ่น

ธุรกิจสินเชื่อของ SI เติบโตไปด้วยดี จนถึงปี 2550 AIG เข้ามาขอร่วมทุน ฉัตรชัยตอบตกลง แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด สร้างเครื่องหมายการค้า “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” จนโด่งดังกลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ ต่อมา วิกฤตการณ์การเงินในสหรัฐทำให้ AIG ต้องขายทรัพย์สินนี้ออกไป บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (ที่มี GE Capital เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในขณะนั้น) เข้ามาซื้อหุ้นทั้งหมด รวมถึงได้กรรมสิทธิ์ในสาขาและเครื่องหมายบริการที่มีอยู่ 

หนึ่งปีหลังขายหุ้นให้ AIG ฉัตรชัย ตั้ง บริษัท พีวีแอนด์เคเคเซอร์วิส 2008 จำกัด แล้วผ่านการแปรสภาพหลายครั้งจนกลายเป็น บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด ทำธุรกิจแบบเดิมขึ้นมาแข่ง

หลายคนอดตั้งคำถามถึงจริยธรรมการทำธุรกิจของเขาไม่ได้ว่า สมควรหรือไม่ ที่สร้างธุรกิจประเภทเดียวกันขึ้นมาแข่งขันกับธุรกิจที่ตัวเองขายไปก่อนหน้า ต่อมาได้เกิดคดีความ โดยกรุงศรีฯ เป็นโจทก์ฟ้องกลุ่มศรีสวัสดิ์ฯ อย่างไรก็ตาม คดีนี้ก็ต้องยุติลง เมื่อศาลตัดสินว่ากลุ่มศรีสวัสดิ์ฯไม่ได้ทำผิดแต่อย่างใด และ วันที่ 8 พฤษภาคม 2557 นำบริษัทเข้าจนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยศักยภาพทางธุรกิจมหาศาล ราคาหุ้นของ SAWAD ณ สิ้นปี 2557 โดดขึ้นมาเกือบ 4 เท่า จากราคา IPO ที่ 6.90 บาท จนกระทั่งปิดอยู่ที่ 39.50 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558

นาโนไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ ที่กระทรวงการคลังต้องการให้สินเชื่อกับประชาชนรายย่อยแบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยอนุญาตให้มีนิติบุคคลใหม่ในสถาบันการเงินไทยดำเนินการ สามารถปล่อยกู้ได้รายละไม่เกิน 1 แสนบาท ในส่วนนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งช่วยขับเคลื่อนให้บริษัทเติบโต โดยรวมแล้ว ธุรกิจหลักยังคงเป็นการปล่อยกู้ยังแบบที่มีรถเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งคิดเป็น 86.85% ของการปล่อยกู้ทั้งหมด ตามด้วย 10.34% ของที่มีบ้านและที่ดินเป็นตัวค้ำ

 “ยังเชื่อว่า คนไทยยังต้องใช้เงิน มันยังโต เมื่อไรคนไทยไม่ต้องการเงิน นั่นแหละจะมีเป็นปัญหา แล้วเมื่อไรละ” เธอทิ้งท้ายก่อนพูดคุยของเราจะจบลง

อ่าน "ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 กิจการรากหญ้า ค่าสี่หมื่นล้าน" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ JUNE 2015