ลดคน "การบินไทย" รีดไขมันเพื่อรอดตาย - Forbes Thailand

ลดคน "การบินไทย" รีดไขมันเพื่อรอดตาย

FORBES THAILAND / ADMIN
30 Jan 2015 | 10:00 AM
READ 14851
ปลายทางของ "การบินไทย" จะลงจอด ณ ตรงไหน หลายคนที่ติดตามข่าวสารของสายการบินแห่งชาติในช่วง 2-3 ปีนี้ คงสนใจใคร่รู้ 
 
 
วิกฤติของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) มีตั้งแต่ปัญหาด้านการให้บริการ จากที่เคยครองอันดับต้นๆ ของโลก จากการจัดอันดับของ Skytrax แต่วันนี้ร่วงลงมาจนไม่ติด Top 10 แล้ว ขณะที่ยังต้องประสบกับภาวะตกต่ำทางธุรกิจอย่างหนัก เฉพาะ 9 เดือนแรกของปี 2557 ขาดทุนแล้ว 9.21 พันล้านบาท
 
ล่าสุดเมื่อ 26 มกราคมที่ผ่านมา เกิดความเคลื่อนไหวที่สำคัญจากประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ "ซูเปอร์บอร์ด" ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ได้เปิดเผยแผนการกอบกู้การบินไทย ก่อนจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
 
แผนฟื้นฟูการบินไทยมีทั้งหมด 5 ข้อ คือ 1.ให้ทบทวนเส้นทางการบินที่ขาดทุน 2.ปรับแผนการตลาด เน้นขายตั๋วผ่านระบบออนไลน์ 3.ขายทรัพย์สินและอากาศยานที่ไม่ได้ใช้งาน 4.ปรับโครงสร้างพนักงานจาก 25,000 คน เหลือ 20,000 คน แต่ยังไม่กำหนดช่วงเวลา และ 5.ปรับปรุงและพัฒนากิจการที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของการบินไทย เช่น โรงแรม ขนส่งน้ำมัน เป็นต้น
 
“ต้องตัดส่วนที่ทำให้ติดลบมากๆ เช่น เคยลงทุน 200,000 ล้านบาทต่อปี อาจเหลือ 150,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนแผนการรับมอบเครื่องบินใหม่ และการชำระหนี้เครื่องบิน ก็ให้เจรจาเพื่อขอยืดเวลา แต่ไม่ยกเลิกแผนสั่งซื้อเครื่องบิน ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะเริ่มใช้มาตรการเหล่านี้ได้ แต่แผนที่ต้องใช้งบประมาณ ต้องขออนุมัติจาก ครม. เช่น การปรับลดบุคลากร” พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม กล่าว

 
"คนมากกว่า แต่สร้างรายได้น้อยกว่า"
การลดจำนวนพนักงานเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการกอบกู้กิจการของสายการบินแห่งชาติ ใน Forbes Thailand ฉบับเมษายน 2557 ซึ่งเสนอเรื่อง "การบินไทย การบินใคร" เป็นเรื่องเด่นประจำฉบับ ได้เสนอข้อมูลตัวเลขที่น่าสนใจเกี่ยวกับปริมาณพนักงานสายการบินกับการสร้างรายได้
 
จากการรวบรวมของบริษัทหลักทรัพย์ CLSA ใน Hong Kong ได้เปรียบเทียบจำนวนพนักงาน และการสร้างรายได้เฉลี่ยต่อพนักงานของสายการบินแห่งชาติในเอเชียแปซิฟิก 8 แห่ง พบว่าการบินไทยซึ่งมีพนักงานรวม 26,000 คน มีอัตราการสร้างรายได้ต่อพนักงานน้อยที่สุด ที่ 258,254 เหรียญ ขณะที่ Korean Air ซึ่งมีพนักงาน 15,840 คน มียอดสร้างรายได้ต่อพนักงานมากที่สุดที่ 595,207 เหรียญ (ดูตาราง)


 
CLSA Securities (Thailand) Ltd. แนะนำให้ "ขาย" หุ้นการบินไทย ตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2556 โดยให้เหตุผลว่า การบินไทยไม่สามารถแข่งขันกับสายการบินต้นทุนต่ำ และสายการบินแบบเต็มบริการเจ้าอื่นในภูมิภาคได้ เพราะการบริหารต้นทุนที่ช้ากว่าสายการบินอื่น ขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำมีสัญญาว่าจ้างนักบินที่สั้น สามารถปลดออกได้อย่างรวดเร็ว ในช่วงที่ไม่มีเที่ยวบินมาก
 
"อีกทั้งการมีพนักงานมากเกินความจำเป็น และไม่สามารถขายเครื่องบินได้ทันเวลา ล้วนเพิ่มค่าใช้จ่ายให้แก่สายการบินในยามที่รายได้ลดลง" ปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ CLSA กล่าว
 
ทั้งนี้ โชคชัย ปัญญายงค์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส รักษาการตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ในขณะนั้น กล่าวถึงแผนลดค่าใช้จ่ายของการบินไทย ที่ตั้งเป้าไว้ 2.3 พันล้านบาท หนึ่งในนั้นคือการปรับลดจำนวนพนักงานที่มีกว่า 24,000 คน โดยมีแผนปรับลดพนักงานปีละประมาณ 500-600 คน ภายใน 3 ปี จะมีพนักงานลง 10-15% 
 
ในฐานะคนทำงานในการบินไทยมา 31 ปี โชคชัยอธิบายว่าการบินไทยต้องสร้างบุคลากรด้านการบินของตัวเองมาตั้งแต่ 50 ปีก่อน ทำให้มีบุคลากรจำนวนมาก การบินไทยต้องรักษาทุกคนเอาไว้ เพราะถือว่าร่วมกันสร้างองค์กรมาด้วยกัน แต่ปัจจุบันตัวเขาริเริ่มนโยบายการจ้างคนนอกมาให้บริการในบางกิจกรรม เช่น ธุรกิจ Call Center เป็นต้น

 
รัฐบาลค้ำยัน
เมื่อปลายปี 2557  แม้ว่าทริสเรทติ้ง หน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทไทย จะยังคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันของการบินไทย ที่ระดับ A+  แต่กลับมีเงื่อนไขสำคัญว่า
 
"อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลง หากผลการประกอบการของบริษัทยังอ่อนแออย่างต่อเนื่อง หรือรัฐบาลปรับลดการช่วยเหลือ ทั้งนี้แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเป็น Stable หรือ “คงที่” ได้  หากบริษัทสามารถปรับปรุงอัตราการทำกำไรจากการดำเนินงาน และความสามารถในการชำระหนี้ได้"  
 
การส่งสัญญาณเตือนที่ชัดเจนตอกย้ำว่า สายการบินแห่งชาติซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจของประเทศ จะขาดน้ำเลี้ยงจากรัฐบาลไม่ได้
 
"ไม่ล้มหรอก รัฐดูแลอยู่" ท่านผู้นำ, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวไว้ชัดเจน


 

ข่าวอื่นๆ