ริจะเป็นเถ้าแก่ อย่ากลัวเกินเหตุ - Forbes Thailand

ริจะเป็นเถ้าแก่ อย่ากลัวเกินเหตุ

FORBES THAILAND / ADMIN
21 Nov 2014 | 06:56 AM
READ 6260
โดยปกติ คนเรามีความกลัวสารพัดอย่างที่ปิดกั้นและฉุดรั้งเราไว้จากความสำเร็จ เช่น ความกลัวว่าเราไม่มีความสามารถพอ กลัวการถูกปฏิเสธ กลัวการเปลี่ยนแปลง กลัวความล้มเหลวที่จะริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ

 
การริเริ่มธุรกิจใหม่ในฐานะผู้ประกอบการก็เช่นเดียวกัน ทุกครั้งที่เราคิดจะเริ่มก้าวไปทำธุรกิจของตนเอง ก็จะมีเงาของ “ความกลัว” มาทำให้ชะงักอยู่เสมอ “ความกลัวที่จะล้มเหลว (Fear of Failure)” เป็นอุปสรรคขัดขวางที่สำคัญที่สุดต่อการริเริ่มมีธุรกิจใหม่ของตนเอง ความกลัวทำให้เราไม่สามารถปลดแอกพันธนาการจากการเป็น “พนักงานบริษัทหรือลูกจ้าง” ไปสู่สถานะใหม่ในฐานะ “เถ้าแก่หรือผู้ประกอบการรายใหม่” ได้
 
มีความกลัวมากมายที่ก่อขึ้นในจิตใจของผู้ที่ริเริ่มจะประกอบธุรกิจใหม่ เช่น กลัวว่าจะประสบปัญหาสภาพคล่องเนื่องจากสายป่านที่ไม่ยาวพอ กลัวว่าจะไม่สามารถบริหารธุรกิจของตนเองจนประสบความสำเร็จได้เหมือนสมัยที่เป็นผู้บริหารในองค์กร หรือแม้กระทั่งกลัวที่จะเสียหน้า หรือกลัวทำให้ชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลเสื่อมเสียในกรณีที่ออกมาทำธุรกิจส่วนตัวแล้วล้มเหลวไม่เป็นท่า ยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจและการเมืองที่ไม่แน่นอนเช่นในปัจจุบัน ย่อมส่งผลกระตุ้นให้เกิดความวิตกกังวลต่อการทำธุรกิจใหม่ในฐานะผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้นไปอีก
 
อย่างไรก็ตาม ความมั่งคั่งร่ำรวยที่หอมหวานจากการเป็นผู้ประกอบการย่อมต้องแลกมาซึ่งความเสี่ยงอยู่เสมอ ขึ้นชื่อว่าเป็น “ผู้ประกอบการ” จะต้องมีความเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ และกล้าได้กล้าเสียเพื่อที่จะเป็น “ผู้อยู่รอด” เนื่องจาก 75-90 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจที่ก่อตั้งขึ้นใหม่จะล้มเหลวภายในระยะเวลา 5 ปี

 
เนื่องจากเป็นที่เชื่อกันว่า ความกลัวที่จะล้มเหลวเป็นอุปสรรคขัดขวางที่สำคัญต่อการริเริ่มเป็นผู้ประกอบการ โครงการการศึกษาสังคมความเป็นผู้ประกอบการ (Global Entrepreneurship Monitor: GEM) ได้ศึกษาทัศนคติต่อการเป็นผู้ประกอบการในหัวข้อ “ความกลัวที่จะล้มเหลวในการประกอบธุรกิจ (Would fear of failure prevent you from starting business?)” ของประเทศสมาชิกโครงการ GEM ต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งจากข้อมูลที่แสดงดังตารางที่ 1 พบว่า คนไทยมีระดับความกลัวที่จะล้มเหลวในการประกอบธุรกิจอยู่ที่ประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ ประชาชนในกรีซ อิตาลี และโปรตุเก ที่เพิ่งได้รับผลพวงความบอบช้ำจากวิกฤติหนี้สาธารณะยุโรปเมื่อ ค.ศ.2009 สำหรับประเทศอื่นที่มีอัตราส่วนระดับความกลัวที่จะล้มเหลวในการริเริ่มประกอบธุรกิจที่สูงติดอันดับ ได้แก่ เวียดนาม (ที่มีกรณีข้อพิพาทดินแดนกับประเทศจีน) และประเทศอิสราเอล (ซึ่งมีปัญหาความตึงเครียดทางการเมืองและความขัดแย้งทางทหารอยู่จวบจนปัจจุบัน)
 
ในส่วนของผล GEM ประเทศไทย หากพิจารณาแยกตามภูมิภาค ดังแสดงในตารางที่ 2 พบว่า คนไทยในเขตกรุงเทพมหานครมีอัตราส่วนระดับความกลัวที่จะล้มเหลวมากที่สุด รองลงมาคือคนไทยในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามลำดับ ข้อมูลจากโครงการ GEM แสดงให้เห็นว่า ในประเทศไทย ผู้หญิงมีระดับความกลัวในการประกอบธุรกิจมากกว่าผู้ชาย และมีระดับความกลัวแตกต่างกันระหว่างเพศชายและหญิงมากที่สุดในเขตกรุงเทพฯ และภาคใต้
 


 
ถึงแม้ว่าเปอร์เซ็นต์ระดับความกลัวที่จะล้มเหลวในการประกอบธุรกิจของประเทศไทยจะค่อนข้างสูง แต่ประเทศไทยกลับมีสัดส่วนความเป็นผู้ประกอบการที่สูงเช่นกันดังที่กล่าวไปแล้วในบทความฉบับก่อนหน้า โดยประเทศไทยมีสัดส่วนผู้ประกอบการคิดเป็น 46 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทยวัยทำงานทั่วประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนจำนวนผู้ประกอบการที่มากกว่าประเทศญี่ปุ่นถึง 3 เท่า มากกว่าประเทศเกาหลีใต้ถึง 4 เท่าและมากกว่าประเทศมาเลเซียถึง 10 เท่า และถ้าหากนำจำนวนผู้ประกอบการของทั้งสามประเทศดังกล่าวมารวมกัน ประเทศไทยก็ยังคงมีจำนวนผู้ประกอบการมากกว่าอยู่ประมาณ 1.25 เท่า 
 
ปรากฏการณ์ที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกันดังกล่าวนี้สามารถอธิบายได้จากผลงานวิจัยล่าสุดของผมและ สุชาติ ไตรภพสกุล อาจารย์ประจำคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ(BUSEM) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในการประชุมวิชาการนานาชาติ The Annual Conference of the Asia Council for Small Business ที่กำลังจะจัดขึ้น ณ กรุง Seoul โดยผู้วิจัยวิเคราะห์แบบจำลองถดถอยโลจิสติกทวิ (Binary Logistic Regression)พบว่า อัตราส่วนระดับความกลัวที่จะล้มเหลวไม่มีอิทธิพลต่อกิจกรรมการเป็นผู้ประกอบการในประเทศไทยและในประเทศแถบเอเชีย ในขณะที่ความกลัวที่จะล้มเหลวเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่อสัดส่วนกิจกรรมการเป็นผู้ประกอบการของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป อธิบายง่ายๆ คือ คนไทยยังคงริเริ่มมุ่งมั่นที่จะประกอบธุรกิจใหม่ทั้งๆ ที่ยังคงมีความกลัวภายในจิตใจ
 
แม้ว่าสาเหตุของปรากฏการณ์ดังกล่าว จะเกิดจากวัฒนธรรมการมองโลกในแง่ดีของคนไทยซึ่งอยู่ในดินแดนสยามเมืองยิ้ม หรือเพราะว่าต้นทุนค่าเสียโอกาสในการริเริ่มธุรกิจที่ต่ำ (ไม่มีอะไรจะเสีย) การมองเห็นโอกาสทองในการทำธุรกิจในฐานะผู้ประกอบการ หรือเหตุผลอื่นใดก็ตาม ผลวิจัยจากโครงการ GEM โดยคณาจารย์ของ BUSEM ได้ข้อสรุปว่าความกลัวที่จะล้มเหลวไม่ได้ส่งผลให้ความพยายามเป็นผู้ประกอบการของผู้ที่ตั้งใจมุ่งมั่นที่จะประกอบธุรกิจแล้วลดน้อยลงแต่อย่างใด



David Achtzehn อาจารย์ประจำคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและบริหารกิจการ (BUSEM) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ