“มูลนิธิเวิลด์ไวด์เว็บ” ชี้เสรีภาพผ่านเว็บทั่วโลกตกต่ำหนัก - Forbes Thailand

“มูลนิธิเวิลด์ไวด์เว็บ” ชี้เสรีภาพผ่านเว็บทั่วโลกตกต่ำหนัก

FORBES THAILAND / ADMIN
12 Dec 2014 | 07:13 PM
READ 2799
ผู้คิดค้น WWW เรียกร้องให้อินเทอร์เน็ตเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ต้องปลอดจากการค้าและการเมือง ดัชนีเว็บย้ำประเทศไทยทรุด พ่ายกระทั่งจีน แต่ยังอยู่เหนือเวียดนามกับเมียนมาร์ 
 
 
มูลนิธิเวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web Foundation) ได้เปิดเผยรายงานดัชนีเว็บ (Web Index) ประจำปี 2014-2015 ซึ่งเป็นดัชนีตัวแรกของโลกที่ใช้ชี้วัดบทบาทของเว็บ ที่ส่งผลต่อความก้าวหน้าทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ใน 86 ประเทศทั่วโลก โดยกลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวียถึง 3 ประเทศ ยังครองอันดับต้นสามอันดับแรก ได้แก่ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งสูง ความไม่เท่าเทียมกันต่ำ และพลเมืองมีสิทธิเสรีภาพมาก
 
รายงานฉบับนี้ได้รายงานสถานการณ์ในปัจจุบันว่า ผู้ใช้เว็บกำลังเผชิญความเสี่ยงที่จะถูกสอดแนมโดยรัฐสูงขึ้น เนื่องจากกฎหมายป้องกันการสอดแนมมวลชน (mass surveillance) ยังอ่อนแอ หรือยังไม่มีการบังคับใช้เลยในกว่า 84% ของประเทศที่ทำการศึกษา ความเสี่ยงดังกล่าวสูงขึ้นกว่าปี 2556 ถึง 63%  และยังเกิดการเซ็นเซอร์ออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ในระดับปานกลางหรือระดับสูงถึง 38% ของประเทศทั้งหมด เพิ่มขึ้นกว่าปี 2556 ถึง 32% 
 
 
อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมของเสรีภาพสื่อจะย่ำแย่ลงในเกือบทุกประเทศ แต่เว็บและโซเชียลมีเดียได้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการเคลื่อนไหวภาคพลเมืองถึง 3 ใน 5 ของประเทศที่ทำการศึกษา ขณะเดียวกัน ยังพบว่าประเทศกว่า 60% ผู้หญิงใช้เว็บเพื่อแสดงถึงสิทธิของตนในระดับปานกลางหรือระดับสูง
 
รายงานระบุอีกว่า ยังหาความเป็นกลางในการให้บริการอินเทอร์เน็ต (net neutrality) อย่างแท้จริงได้ยาก จากการประเมินครั้งแรกของโลกพบว่า มีเพียง 1 ใน 4 ของประเทศทั้งหมด ที่สามารถบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ เพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางการเมืองและการค้าในการบริหารทราฟฟิกอินเทอร์เน็ต
 

นอกจากนั้น ประเทศถึง 74% ในดัชนี ยังไม่สามารถแก้ปัญหาความรุนแรงด้านเพศสถานะ (Gender-based violence) บนโลกออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งที่หลายประเทศมีรายได้สูง โดยพบว่าศาลและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างล้มเหลว เมื่อพบการใช้ข้อมูลสารสนเทศบนเว็บก่อความรุนแรงทางเพศ
 
อีกทั้ง เกือบ 60% ของประชากรโลกยังไม่สามารถออนไลน์ได้ ขณะที่ครึ่งหนึ่งของผู้ใช้เว็บอาศัยอยู่ในประเทศที่จำกัดสิทธิ์ออนไลน์อย่างรุนแรง รวมแล้วมีประชากรโลก 4.3 พันล้านคนที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงเว็บ ในขณะที่ประชากรอย่างน้อย 1.8 พันล้านคนเผชิญกับการละเมิดสิทธิขั้นรุนแรง ในเรื่องความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการแสดงออกบนโลกออนไลน์ และอีก 225 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศที่กำลังซื้อ เป็นปัจจัยกำหนดการเข้าถึงคอนเทนต์และบริการ
 
Tim Berners-Lee ผู้คิดค้นเว็บและผู้ก่อตั้ง World Wide Web Foundation กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เราต้องทำให้ทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ในราคาย่อมเยา รวมถึงได้รับบริการอินเทอร์เน็ตโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติทางการค้าหรือการเมือง ตลอดจนปกป้องความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพของผู้ใช้เว็บ โดยไม่คำนึงว่าผู้ใช้อาศัยอยู่ที่ใด
 
การจัดทำดัชนีเว็บประจำปี 2014-2015 เพื่อชี้วัดบทบาทของเว็บ ที่มีต่อความก้าวหน้าทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ใน 86 ประเทศทั่วโลก กระทำผ่านตัวชี้วัดหลัก 4 ด้าน ได้แก่ Universal Access, Relevant Content, Freedom and Openness และ Empowerment  โดยประเทศที่ทำคะแนนรวมทุกด้านสูงสุด 10 อันดับ ได้แก่ เดนมาร์ก 100.00, ฟินแลนด์ 98.81, นอร์เวย์ 97.32, สหราชอาณาจักร 95.67, สวีเดน 94.97, ไอซ์แลนด์ 93.72, เนเธอร์แลนด์ 91.84 และเบลเยียม 89.61
 
ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับ 53 ที่ 39.20 โดยแยกเป็นคะแนนตามตัวชี้วัดหลักได้ดังนี้ Universal Access 64.09, Relevant Content 36.26, Freedom and Openness 24.68 และ Empowerment 30.99  หากพิจารณาเฉพาะกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในการจัดทำดัชนีครั้งนี้ มีทั้งหมด 11 ประเทศ ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 10 มีคะแนนเหนือเวียดนามเพียงประเทศเดียว (อันดับ 1-9 ได้แก่ เกาหลีใต้, นิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, จีน, อินโดนีเซีย) หากพิจารณาเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน นอกจากเวียดนามแล้ว ยังมีเมียนมาร์อีกหนึ่งประเทศเท่านั้น ที่ประเทศไทยมีอันดับ Web Index สูงกว่า


-ข้อมูลเพิ่มเติม Web Index 2014 data
-กราฟิกอินเตอร์แอคทีฟจาก thewebindex.org