นพพร ศุภพิพัฒน์ แจงทุกประเด็นกรณี วินด์ เอนเนอร์ยี่ - Forbes Thailand

นพพร ศุภพิพัฒน์ แจงทุกประเด็นกรณี วินด์ เอนเนอร์ยี่

นพพร ศุภพิพัฒน์ อดีตผู้บริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) คู่กรณีที่เป็นผู้ถือหุ้นเดิมและเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทมาตั้งแต่เริ่มต้น ออกมาโต้แย้ง ณพ ณรงค์เดช รองประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร WEH ทุกประเด็นพร้อมทวงเงินค่าหุ้นข้ามทวีป แบบไม่ขอเจรจาอะไรทั้งสิ้น

บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) คือบริษัทพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 1,088 ล้านบาท และมูลค่าสินทรัพย์รวมมากกว่า 50,000 ล้านบาท จึงได้รับความสนใจจากนักลงทุนจำนวนมาก โดยในช่วงแรกของการดำเนินการ WEH ถูกขายให้กับนักลงทุนรายใหญ่ของประเทศมากกว่า 200 ราย ที่มีความสนใจในหุ้นพลังงานทดแทนตัวนี้ ก่อนที่จะเสนอขายให้กับนักลงทุนทั่วไปหรือ IPO จึงเป็นที่จับตามองว่าหากสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้จะมีมูลค่าเพิ่มไม่น้อย ณพ ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า WEH มาถึงวันนี้ได้ เพราะผลงานของตัวเอง ทั้งการเข้าเจรจาขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน ตลอดจนเป็นผู้บริหารที่ดูแลบริหารจัดการองค์กรจนเข้ารูปเข้ารอย ทำให้บริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2560 มีรายได้ 3,260 ล้านบาท กำไร 970 ล้านบาท กำไรสะสม 368 ล้านบาท ปี 61 มีรายได้ 4,275 ล้านบาท กำไร 1,560 ล้านบาท กำไรสะสม 1,392 ล้านบาท และปี 62 มีรายได้กว่า 12,000 ล้านบาท กำไร 5,888 ล้านบาท และมีกำไรสะสม 5,975 ล้านบาท แต่กรณีข้อพิพาทต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับ ณพ นั้น กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ ซึ่งเจ้าตัวยอมรับเองว่าภาพลักษณ์ขององค์กรเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์  แม้ว่าจะออกมาย้ำกับผู้ถือหุ้นอยู่ตลอดเวลาว่า กำลังดำเนินการปรับโครงสร้างภายในองค์กร และปรึกษาตลาดหลักทรัพย์และสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ อยู่ตลอดเวลาเรื่องการเข้าจดทะเบียน   นพพรโต้กลับข้อพิพาท ก่อนหน้านี้ ณพ ณรงค์เดช ออกมาเปิดใจถึงกรณีพิพาทที่เกิดขึ้นต่างๆ ทั้งการฟ้องร้องระหว่างตนกับ นพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ถือหุ้นเดิม เรื่องการโอนหุ้นและการชำระเงิน รวมไปถึงคดีฟ้องร้องระหว่างตนเองกับนายเกษม ณรงค์เดช ผู้เป็นพ่อ หลายคดีได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยตนเองเป็นฝ่ายชนะคดีทั้งหมด ส่วนคดีพิพาทภายใต้อนุญาโตตุลาการที่บริษัทของนพพร ฟ้องเพื่อขอยกเลิกการขายหุ้น WEH ให้กับณพนั้น ณพ ณรงค์เดช แถลงว่าอนุญาโตตุลาการตัดสินว่ายกเลิกการขายหุ้นไม่ได้ และยังบอกอีกว่านพพรได้รับเงินค่าหุ้นไปเรียบร้อยแล้ว และส่าสุด ณพ ได้ฟ้องอนุญาโตตุลาการของสิงคโปร์ เรื่องโบนัส เพย์เมนต์ เนื่องจากการซื้อขาย WEH มีสินทรัพย์ที่ไม่ตรงกับสัญญา ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาชี้ขาดว่าจะต้องชำระหรือลดการชำระเงินหรือไม่ หลังจากนั้นสองวัน นพพร ศุภพิพัฒน์ โต้กลับคำแถลงของ ณพ ณรงค์เดช ผ่าน Zoom จากประเทศฝรั่งเศสทันที ว่า ณพ ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบตามสัญญา จากมูลค่าหุ้น 700 ล้านเหรียญสหรัฐ (2.1 หมื่นล้านบาท) ซึ่งที่ผ่านมา ณพ ได้ชำระเงินมาเพียง 2 งวด รวมเป็นเงิน 175.51 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น ยังคงมียอดค้างชำระรวมดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายที่ศาลสั่งให้ ณพ ชำระเนื่องจากแพ้คดีความ รวมแล้วกว่า 680 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ การที่อนุญาโตตุลาการมีคำสั่งว่าไม่สามารถยกเลิกการซื้อหุ้นได้นั้น และ ณพ จะต้องชำระค่าหุ้นตามสัญญา หมายความว่า ณพ เป็นผู้แพ้คดี เพราะจะต้องชำระค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องให้คู่กรณีด้วย อย่างไรก็ตาม นพพร เชื่อว่า แม้ตนจะชนะคดีแต่เชื่อว่า ณพ ไม่สามารถนำเงินมาชำระคืนได้ตามสัญญา จึงมีการฟ้องร้องที่ศาลอังกฤษในข้อหาร่วมกันฉ้อโกง Conspiracy โดยฮ่องกงใช้กฎหมายเดียวกับประเทศอังกฤษและมีผลบังคับอย่างเคร่งครัด โดยระหว่างนี้ศาลมีการรับฟ้องและสั่งห้ามบริษัทโกลเด้น มิวสิคโอนหุ้น WEH โดยคดีนี้นพพร ได้ฟ้องร้องวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ ทนายความของณพ รวมไปถึง อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารไทยพาณิชย์ด้วย “หากผมชนะคดีความที่ศาลอังกฤษ จะมีผลทำให้ ณพ จะต้องชำระค่าหุ้น และหากไม่สามารถนำเงินมาชำระค่าหุ้นได้ จะต้องขายหุ้นทอดตลาด เพื่อนำเงินมาชำระค่าหุ้นตามสัญญา” นพพร มั่นใจว่า จะชนะคดีที่ประเทศอังกฤษอย่างแน่นอน ด้วยหลักฐานและข้อเท็จจริงที่ตนเองมี  อย่างไรก็ตาม คดีความที่ประเทศอังกฤษน่าจะได้ข้อสรุปในช่วงปลายปี 2564 พร้อมยืนยันว่า จะไม่เจรจาความกับณพแน่นอน ขอเพียงให้ณพชำระเงินมาตามสัญญา ซึ่งเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแค่นั้นพอ หากพิจารณาคุณสมบัติและเกณฑ์การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของ WEH แล้ว ไม่มีข้อไหนเลยที่จะทำให้หุ้นพลังงานลมตัวนี้ ไม่สามารถเป็นหุ้นในดวงใจของนักลงทุนได้เลย และหากสามารถเป็นหนึ่งในหุ้นมหาชน ก็จะสร้างมาร์เก็ตแคปให้ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจขึ้นมาได้อีกหลายขุม ขณะที่ความหวังของผู้ถือหุ้น คือการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดย ประเดช กิตติอิสรานนท์ ขาใหญ่ในแวดวงตลาดหุ้นที่เรียกร้องให้จัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวกรรมการและกรรมการบริหาร คือต้องการให้ ณพ ลาออกจากตำแหน่งภายในองค์กร เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดขององค์กร และลดกระแสกดดันจากข้อพิพาทต่างๆ ของ ณพ จนผลักดันให้ WEH เข้าจดทะเบียนให้ได้ในที่สุด หลังจากนี้คงต้องมาดูกันว่า พลังของผู้ถือหุ้นรายย่อยจะสามารถเรียกคืน WEH กลับมาสู่สาธารณะได้หรือไม่ เพราะหากตัดความขัดแย้งต่างๆ ออกไป เชื่อว่า WEH จะเป็นหุ้นดาวเด่นของตลาดหลักทรัพย์ไทยอย่างแน่นอน ส่วนความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย ก็ต้องพึงกระบวนการยุติธรรมของศาลจากหลักฐานและข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งถือเป็นคำชี้ขาดว่าใครถูกหรือผิด นับว่าเป็นการเดิมพันที่สูงมากของทั้ง ณพ ณรงค์เดช และ นพพร ศุภพิพัฒน์ ทั้งนี้ ในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ในวันที่ 10 กันยายนนี้ที่ ได้มีวาระการปลด ณพ ณรงค์เดช ออกจากการเป็นกรรมการด้วย จากปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น คงต้องมาจับตาดูว่าจะมีใครบ้างที่จะใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นเพื่อตรวจสอบธรรมาธิบาลของผู้บริหารของ WEH จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ที่จะได้ผลประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย อ่านเพิ่มเติม: ณพ ณรงค์เดช เคลียร์ชัดความขัดแย้งชูศักยภาพ วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง

ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine