ธุรกิจแห่งโลกอนาคต จากมุมมองบริษัทลงทุน - Forbes Thailand

ธุรกิจแห่งโลกอนาคต จากมุมมองบริษัทลงทุน

FORBES THAILAND / ADMIN
17 Oct 2014 | 05:02 PM
READ 5592
โรงรถเล็กๆ ที่ William Hewlett และ David Packard ใช้ก่อตั้งบริษัท Hewlett-Packard เมื่อปี 1939
ป้ายโลหะทางมุมขวาล่างจารึกว่า Birthplace of Silicon Valley


Hewlett-Packard กำเนิดในโรงรถที่ Palo Alto, California ปี 1939 ถือเป็นบริษัทสตาร์ตอัพแห่งแรกของ Silicon Valley  แต่คำว่า “Silicon Valley” เกิดหลังจากนั้นอีก 32 ปี  ที่ Don Hoefler ใช้เป็นชื่อคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ Electronic News 
 
 
ธุรกิจร่วมทุน (venture capital หรือ VC) ใน Silicon Valley ก็เกิดขึ้นช่วงเดียวกันนั้น Kle iner Perkins Caufield & Byers ก่อตั้งปี 1972 เป็นแหล่งทุนให้กับ AOL, Amazon, Compaq, Genentech, Sun Microsystems, Netscape และ Google คู่แข่งอย่าง Sequoia Capital ก่อเกิดในปีเดียวกัน เป็นแหล่งทุนให้ Apple, Oracle, Cisco, Electronic Arts, Google, YouTube, LinkedIn และ WhatsApp (เพิ่งขายไปเมื่อต้นปีให้ Facebook ในราคา 1.9 หมื่นล้านเหรียญ)
 
สัมพันธ์ของบริษัทเทคโนโลยีกับ VC สร้างโอกาสล้ำค่าให้ Silicon Valley เป็นผู้นำทรงพลังในเศรษฐกิจระดับโลก แม้เผชิญยุคตกต่ำปี 2000-2002 ที่ธุรกิจดอตคอมล้ม แต่ส่วนใหญ่แล้วเรียกได้ว่าธุรกิจใน Silicon Valley รุ่งกับรุ่ง
 
แล้วทุกวันนี้ เทคโนโลยีประเภทไหนที่ VC สนับสนุน คำตอบนั้นได้แก่
 
• IT สำหรับองค์กรจะเปลี่ยนไปมาก ยักษ์ใหญ่ เช่น IBM, HP, Cisco และ Oracle จะเผชิญกับสตาร์ตอัพซึ่งคิดค้นซอฟต์แวร์ใหม่ ที่เหมือนเกมเข้ามาใช้ในงานบัญชี การบริหารสินค้าคงคลัง และโลจิสติกส์
 
• ธนาคารจะเผชิญการเติบโตที่ถดถอย เพราะการให้เงินกู้ยืมระหว่างบุคคล เช่น Lending Club จะช่วงชิงลูกค้าจากระบบธนาคารดั้งเดิมไป
 
• ระบบเครือข่ายดิจิตอลภายในบ้านที่เชื่อมโยงทั้งโทรทัศน์ โทรศัพท์ ไปจนถึงเครื่องทำความร้อน และเครื่องปรับอากาศ จะกลายเป็นเรื่องปกติ ทว่าภัยมืดจะเป็นสวรรค์ของแฮกเกอร์เพี้ยนที่ไม่แค่โทรศัพท์ไปที่บ้าน เพื่อถามคุณว่าตู้เย็นทำงานดีอยู่หรือไม่ แต่คงอยากเจาะระบบของบ้านคุณ เพื่อแกล้งปิดระบบไฟในตู้เย็น ส่วนพวกมืออาชีพอาจเจาะเข้าเครือข่ายเพื่อขโมยหมายเลขบัตรเครดิตและรหัสผ่าน ดังนั้น ระบบรักษาความปลอดภัยของเครือข่ายดิจิตอลภายในบ้านจะกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่
 
• ธุรกิจประกันสุขภาพจะสะดุด จากที่บริษัทซึ่งมีพนักงานเกิน 500 คน หันไปใช้บริการประกันตนเองผ่านเครือข่ายเทคโนโลยีเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์และระบบการจ่ายเงินลง ดังที่เห็นใน Stanford Medicine ซึ่งทำสัญญาโดยตรงกับบริษัทหลายแห่งใน Silicon Valley
 
• เทคโนโลยีขนาดจิ๋วและฐานข้อมูลขนาดใหญ่ จะพลิกโฉมการวินิจัยโรคและแนวทางดูแลสุขภาพ เช่นในภาพยนตร์ระทึกขวัญแนววิทยาศาสตร์ปี 1966 เรื่อง Fantastic Voyage คนไข้จะกลืนหรือฉีดชิปเล็กๆ เข้าไปในร่างกาย ชิปนั้นจะส่งข้อมูลร่างกายไปให้แพทย์วิเคราะห์ และมีเครื่องมือวิเคราะห์ช่วยทบทวนอีกที เพื่อวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษา
 
• “ธุรกิจแบบวินาทีสุดท้าย” จะเติบโตต่อเนื่อง ตัวอย่างความสำเร็จมีให้เห็นแล้วจาก Uber บริการรถแท็กซี่ที่ติดต่อผ่านแอพฯ บนมือถือ อีกทั้งจะมีสินค้าและบริการต่างๆ ที่ราคาขึ้นกับการประมูลแบบเรียลไทม์ผ่านอินเทอร์เน็ต แม้กระทั่งบริการทางการแพทย์
 
• การกำหนดค่าบริการด้านสุขภาพแบบเจาะจงเวลาจะเป็นกระแสใหม่มาแรง ยกตัวอย่างการใช้บริการ MRI ที่ต้นทุนเครื่องใหม่ราคาประมาณ 2 ล้านเหรียญ และการใช้บริการส่วนใหญ่อยู่ระหว่างเวลา 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น แล้วทำไมไม่สร้างฐานลูกค้าใหม่ด้วยการให้ส่วนลดสำหรับการใช้บริการช่วงนอกเวลาปกติ เช่น ลด 50% หลัง 5 ทุ่ม หรือลด 80% ช่วงหลังตี 3
 
• ผู้ประกอบการสตรี (ค่อนข้างหายากใน Valley) เริ่มก่อตั้งบริษัทที่วางแผนขายทิ้งทำกำไรในราคา 5 หมื่นล้านเหรียญ (อาจทำ IPO หรือ M&A) ซึ่งไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า Facebook  แล้วไม่ใช่เกิดเป็นครั้งแรก ด้วยปี 1984 Cisco ก่อตั้งโดย Sandra Lerner และ Leonard Bosack ซึ่งยังสมรสกันอยู่ ช่วงต้นปี 2000 มูลค่าตลาดของบริษัทพุ่งขึ้นเป็น 5.55 แสนล้านเหรียญ
 
• โทรศัพท์มือถือจะบางและเบาลง บัตรเครดิตจะฉลาดขึ้น จะมีแอพฯ ฝังบนบัตรเหมือนมือถือ สงครามช่วงชิงเงินในกระเป๋าของคุณเริ่มต้นขึ้นแล้ว
 
ทุกวันนี้ นักลงทุนในบริษัทร่วมทุนที่ Silicon Valley กำลังลงทุนในแนวคิดเหล่านี้ โดยหวังว่าแนวโน้มใหม่นี้จะเริ่มขยายตัวรุดหน้าภายใน 5 ปี และเริ่มทำเงินภายใน 10 ปี จับตาดูให้ดี

 

Rich Karlgaard ผู้พิมพ์ผู้โฆษณาของ Forbes ผลงานล่าสุดคือหนังสือชื่อ The Soft Edge: Where Great Companies Find Lasting Success สำหรับบทความและบล็อกของเขา สามารถเข้าไปดูได้ที่ www.forbes.com/sites/richkarlgaard/