ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน เผย "การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์" ฟื้นตัว มูลค่าสูงถึง 5 แสนล้านบาท คาดนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยปีนี้เกือบ 10 ล้านคน ตลาดตะวันออกกลางศักยภาพสูง ผู้เชี่ยวชาญแนะสร้างระบบนิเวศเชื่อมโยงบริการ เสริมความแข็งแกร่งอุตสาหกรรมการแพทย์ในประเทศไทย
เวที Hospital Management Asia 2022 การจัดงานสัมมนาด้านระบบสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพ ระดับภูมิภาค ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทยอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 7-8 กันยายน 2565 ที่โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ และบางกอก คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อตอกย้ำศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในภูมิภาค จากการจัดการสถานการณ์โควิดดีที่สุดในอันดับ 6 ของโลก คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย หนึ่งในเป้าหมายของยุทธศาสตร์ new S-Curve ของประเทศ ที่ภาครัฐให้การส่งเสริม คือ การสร้างศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)และ ตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism Hub) ที่มีมูลค่าราว 5 แสนล้านบาท และจากการที่ประเทศไทยมีการจัดการสถานการณ์โควิดได้ดีเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ยิ่งตอกย้ำศักยภาพของไทยในการเป็นเมดิคัล ฮับในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญของการสร้างไทยให้เป็น Medical Hub รวมถึงการสร้างระบบนิเวศให้ประเทศเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ตัวอย่างเช่น BOI ส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัยทางคลินิกและศูนย์วิจัยทางคลินิกธุรกิจทั้งสองประเภท จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี โดยไม่จำกัดจำนวน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อมูลเชิงลึก ในการนำระบบดิจิทัลไปใช้งาน ปัญหาอุปสรรคในการนำดิจิทัลไปใช้งาน รวมถึงการบริหารจัดการบุคลากร (Talent Management) ในองค์กรและอุตสาหกรรมการแพทย์โดยรวมนักท่องเที่ยวเข้าไทยเกือบ 10 ล้านคน
ศาสตราจารย์ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยว่า ในปีนี้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีประมาณ 9.5 ล้านคน ซึ่งร้อยละ 6–8 เป็นการเดินทางเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันกลุ่มหลักจะเป็นชาวตะวันออกกลาง โดยเฉพาะชาวซาอุดิอารเบียที่เพิ่มมากขึ้น หลังจากรัฐบาลไทยเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับซาอุฯ อีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันร้อยละ 65 เป็นการเข้ามาใช้บริการจากโรงพยาบาลเอกชน สะท้อนให้เห็นการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในประเทศไทย “โรงพยาบาลเอกชนเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญและศักยภาพในการผลักดันดิจิทัลเฮลท์แคร์ ศูนย์กลางทางการแพทย์ และตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ สมาชิกของสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เตรียมความพร้อมด้านดิจิทัลโดยสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล รวมถึงโรงพยาบาลในอาเซียน เพื่อให้บริการคนไข้ในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ดังนั้นการทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันในกลุ่มโรงพยาบาลจึงมีความสำคัญ” ศาสตราจารย์ นพ.เฉลิมกล่าว พิงกี้ ฟาดูลเลียน ผู้อำนวยการจัดงาน Hospital Management Asia บริษัท Clarion Events Asia กล่าวว่า การประชุมสัมมนา Hospital Management Asia ในปีนี้ กลับมาจัดที่ประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากห่างหายไป 3 ปีจากสถานการณ์โควิด ซึ่งเป็นตัวเร่งให้ทุกภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่ดิจิทัลเร็วขึ้น รวมถึงภาคอุตสาหกรรมสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งาน เช่น เอไอ บล็อกเชน Internet of Medical Things หรืออุปกรณ์การแพทย์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ โดยการจัดงานในครั้งนี้ ได้มุ่งเน้นให้เกิดอีโคซิสเต็มส์ และคอมมูนิตี้เพื่อเชื่อมโยงบุคลากรในวงการอุตสาหกรรมทั่วทั้งภูมิภาค ด้วยการแบ่งปันความรู้ และประสบการณ์ระหว่างกัน เพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพด้วยดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน ขณะที่นายแพทย์ ตัง ก้อง ชุง รองซีอีโอ โรงพยาบาลตันต็อกเส็ง และศูนย์กลางด้านการดูแลสุขภาพ ได้แบ่งปันประสบการณ์ด้านการจัดบริการสุขภาพแบบเน้นคุณค่า (Value Based Healthcare) ในโรงพยาบาลตันต็อกเส็ง ว่า การจัดบริการสุขภาพแบบเน้นคุณค่า เป็นแนวโน้มในอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ ที่เน้นผลลัพธ์ ในการรักษาคนไข้ และคนไข้จ่ายค่าบริการตามผลลัพธ์ที่ได้ โมเดลใหม่นี้ จำเป็นต้องพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลที่แข็งแกร่ง เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ในการให้บริการคนไข้จากที่ไหนก็ได้ “โรงพยาบาลตันต็อกเส็ง ดูแลคนไข้ 1.4 ล้านคนในสิงคโปร์ เราไม่ใช่แค่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้งาน แต่เราใช้เทคโนโลยีเพื่อทรานสฟอร์มการดูแลรักษาคนไข้ ความท้าทายที่สำคัญ คือ คน ที่ต้องเปลี่ยนระบบ ต้องใส่มูลค่าเพิ่มเข้าไป การนำเอาดิจิทัลมาดูแลคนไข้ได้อย่างไร ถือเป็นเรื่องสำคัญ" นายแพทย์ ตัง ก้อง ชุงกล่าว งาน Hospital Management Asia (HMA) เป็นเวทีระดับภูมิภาคประจำปีสำหรับเจ้าของโรงพยาบาล ผู้บริหารระดับสูง กรรมการ และผู้นำด้านการดูแลสุขภาพในเครือข่าย เพื่อสร้างความร่วมมือ และแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการจัดการด้านสุขภาพและการแก้ปัญหาเพื่อกำหนดอนาคตของอุตสาหกรรมในเอเชีย การจัดงานในครั้งนี้ นับเป็นปีที่ 21 โดยคาดว่าจะมีผู้เข้ารวมงานประมาณ 700 คน โดยร้อยละ 80 เป็นตัวแทนมาจากโรงพยาบาล และรวมถึงเจ้าของโรงพยาบาล ผู้บริหารระดับ C ผู้อำนวยการ แพทย์ และผู้นำด้านการดูแลสุขภาพโดยมีสมาคมโรงพยาบาลเอกชนไทย เป็นเจ้าภาพร่วมและได้รับการสนับสนุนจากสมาคมโรงพยาบาลชั้นนำในเอเชีย 15 แห่ง อ่านเพิ่มเติม: เจริญอักษร ผู้อยู่เบื้องหลัง “CABB BANGKOK TAXI” พร้อมรุกตลาดไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine