“ซิโน-ไทยฯ” ในกำมือ “อนุทิน ชาญวีรกูล” - Forbes Thailand

“ซิโน-ไทยฯ” ในกำมือ “อนุทิน ชาญวีรกูล”

FORBES THAILAND / ADMIN
08 Sep 2015 | 12:51 PM
READ 2002
เรื่อง: พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ และ ศรีวิภา สิริปัญญาวิทย์ ภาพ: ชัยสิทธิ์ จุนเจือดี

(คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "“ซิโน-ไทยฯ” ในกำมือ “อนุทิน ชาญวีรกูล”" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ August 2015 ในรูปแบบ E-Magazine)

ในขณะที่เครื่องบินส่วนบุคคล ยี่ห้อ Cirrus รุ่น SR22T กำลังพุ่งทะยานออกจากลานบินที่สนามบินดอนเมือง อนุทิน ชาญวีรกูล ส่งสัญญาณให้กับหอบังคับการบิน เพื่อมุ่งหน้าสู่สนามกอล์ฟแรนโช ชาญวีร์ ณ อำเภอ ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา สถานที่ซึ่งเป็นราวกับบ้านหลังที่สองของเขา 
 
“มันเป็นอิสระภาพอย่างหนึ่ง” อนุทิน กล่าวพร้อมอมยิ้ม “มันทำให้ผมลืมทุกอย่าง และแน่วแน่ต่อการขับเครื่องบินอย่างเดียว มันคือการนั่งสมาธิอย่างหนึ่งทีเดียว”

อนุทิน ผู้เป็นทายาทรุ่นที่สองของ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ที่มีรายได้เป็น 1 ใน 3 ของประเทศ นอกจากจะเป็นที่รู้จักในนามผู้บริหารที่เปลี่ยนโฉมหน้าซิโน-ไทยฯ จนกลายเป็นบริษัทก่อสร้างที่มีศักยภาพเทียบเท่าบริษัทชั้นนำของประเทศแล้ว เขายังเป็นที่รู้จักในนามนักการเมืองหนุ่มที่มีอนาคตรุ่ง จนมีคำล่ำลือว่าเขามีบารมีมากพอที่จะขึ้นแท่นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
 
“ผมคาบไม้จิ้มฟันมาเกิด ไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทอง” เป็นคำกล่าวแรกๆ เมื่ออนุทินเริ่มเล่าเรื่องราวชีวิตในวัยเด็ก ในช่วงที่บิดาของเขา ชวรัตน์ ชาญวีรกูล เพิ่งเริ่มสร้างตัว และซิโน-ไทยฯ ยังเป็นเพียงบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างเล็กๆ อนุทินเกิดในช่วงที่บิดากำลังสร้างตัว ซึ่งต้องทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างซิโน-ไทยฯ ให้เติบโต ธุรกิจขาดสภาพคล่องและประสบปัญหาการเงินจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่เนื่องนิจ
 
“มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมโทรเลขกลับมาขอเงินค่าเล่าเรียน โดยใช้คำสั้นๆ ว่า “No mon (money), No fund, your son” แต่คุณพ่อโทรเลขกลับมาสั้นๆ ว่า “Too bad, too sad, your dad” คือไม่มีเงินจะให้” เขากล่าวพลางหัวเราะ
 
อนุทินในวัยนั้น ต้องรับจ้างทำงานนอกเวลาเรียน ไม่ว่าจะเป็นยาม คนล้างชามหรือพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร ขับรถรับจ้าง ฯลฯ เพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ และในที่สุด เขาก็สามารถศึกษาจนจบและได้รับ ปริญญาบัตรคณะวิศวกรรมศาสตร์ จาก Hoftra University ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา แถมยังมีประสบการณ์การทำงานในตำแหน่ง Production Engineer จากบริษัท Mitsubishi ที่โรงงาน Long Island กลับมาฝาก
อนุทินยอมรับว่า ประสบการณ์ในอดีตทำให้เขากลัว “การที่จะไม่มีเงิน” จนขึ้นใจ เมื่อกลับจากประเทศสหรัฐฯ อนุทินพยายามหางานอยู่พักใหญ่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก จึงตัดสินใจสืบทอดกิจการซิโน-ไทยฯ ต่อจากชวรัตน์ โดยเริ่มต้นจากตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปและไต่เต้าขึ้นเป็น CEO ในที่สุด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ซิโน-ไทยฯ เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ  

“พ่อผมเป็นคนรุ่นเก่า พอธุรกิจเริ่มโต เขาปรับตัวไม่ทัน เขายังคิดว่าธุรกิจแบบนี้ เช็คแฮนด์ทีเดียวเป็นอันจบ แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น ถึงเวลาเซ็นสัญญากับฝรั่งทำ joint venture กลับไม่เคยอ่านสัญญา จึงเกิดปัญหาและเสียเปรียบทุกประตู ผมต้องมานั่งแก้สิ่งเหล่านี้”
 
หลังจากการเปลี่ยนแปลง ไม่นานธุรกิจของซิโน-ไทยฯ ก็เริ่มตั้งหลักได้และเติบโตย่างสวยงาม จนสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในปี 2538 ทว่าพายุได้พัดกระหน่ำซิโน-ไทยฯ อีกครั้งในสองปีให้หลัง เมื่อประเทศไทยเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้ซิโน-ไทยฯ ต้องเป็นหนี้จากการกู้เกินตราต่างประเทศถึงเกือบ 1 หมื่นล้านบาท หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท อนุทินสรุปถึงสาเหตุที่ทำให้บริษัทล้มละลายในคราวนั้นว่าเป็นเพราะเขา “โง่” และ “โลภ” เอง
 
“ซิโน-ไทย ไม่เคยขาดทุนจาก operation แต่เป็นปัจจัยภายนอก จากความไม่รู้และความโลภ ที่ต้องการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ… และเอาเงินไปฝากกับ บงล. (บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์) เพื่อได้กำไรจาก spread ซึ่งทำให้ได้เงินฟรีๆ อีก 5-6 ร้อยล้านบาทต่อปี” เขาเล่า แต่เมื่อมีการลอยค่าเงินบาท หนี้สินจากเงินกู้จึงพอกพูนในชั่วข้ามคืน
 

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เขาท้อจนรู้สึกหมดหนทาง แต่เมื่อนึกถึงลูกเล็กทั้งสองคน เขาจึงไม่มีทางอื่นนอกจากเดินหน้าสู้ต่อไป โดยนำบริษัทเข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งใช้เวลาถึง 3 ปีกว่าจะปลดสถานะล้มละลาย และกลับมาประกอบกิจการได้ตามปกติอีกครั้ง
 
ประสบการณ์จากที่เคย “ล้ม” ทำให้อนุทินตัดสินใจทำธุรกิจโดยเน้นการถือ “เงินสด” และ “ไม่เป็นหนี้” โดยตั้งหลักเกณฑ์ไว้ว่า บริษัทต้องมีเงินสดไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทเสมอ เขาให้เหตุผลว่า การทำธุรกิจเงินสดนั้น ทำให้เขาซื้อของโดยได้ส่วนลดที่มากกว่าจาก suppliers และเขาสามารถนำเงินที่ชำระล่วงหน้า (advance payment) จากการทำโครงการก่อสร้างต่างๆ ซึ่งปกติอยู่ที่ 10% ของมูลค่าโครงการ เพื่อมาหมุนและต่อยอดธุรกิจต่อไป
 
ด้วยวิธีทำงานเช่นนี้ ทำให้ซิโนไทยฯ แม้ไม่เติบโตอย่างหวือหวา ทว่ามั่นคง “ไม่ว่าจะยังไง ผมจะไม่มีหนี้อีกแล้ว ในอดีต ไม่ว่าจะมีโครงการอะไร ผมจะวิ่งไปกู้แบงค์ แต่เหตุการณ์ล้มละลายปี 2540 สอนผม ทุกวันนี้ สมมุติว่าผมมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ผมอาจจะทำโครงการ 500 ล้านบาท พอมีกำไร ทุนก็จะเพิ่มเป็น 200 ล้านบาท และจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”
 
ทุกวันนี้ อนุทิน ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับลูกๆ และ “ศศิธร จันทรสมบูรณ์” ภรรยาคนสวยซึ่งเพิ่งจดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2556 ในคฤหาสน์สุดหรู บนพื้นที่ 5 ไร่ ย่านถนนบางนา-ตราด บ่อยครั้งเขาขับเครื่องบินมาพักผ่อนที่สนามกอล์ฟขนาด 800 ไร่บนเขาใหญ่ที่ราวกับบ้านหลังที่สอง ในเรื่องธุรกิจ
 
แม้ครอบครัวจะยังถือหุ้นในซิโน-ไทยฯ เกือบ 20% และยังมีห้องทำงานอยู่บนชั้น 25 ของสำนักงานใหญ่ซิโน-ไทยฯ ย่านอโศก แต่เขายืนยันว่า ได้ปล่อยมือจากบริษัทที่ครอบครัวเป็นผู้ก่อตั้งนานแล้ว

...waiting for Gist...

คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "“ซิโน-ไทยฯ” ในกำมือ “อนุทิน ชาญวีรกูล”" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ August 2015 ในรูปแบบ E-Magazine