ช.การช่างในยุคผลัดใบ ภายใต้บังเหียน “สุภามาส ตรีวิศวเวทย์” - Forbes Thailand

ช.การช่างในยุคผลัดใบ ภายใต้บังเหียน “สุภามาส ตรีวิศวเวทย์”

เรื่อง: บำรุง อำนาจเจริญฤทธิ์ ภาพ: จันกลาง กันทอง (อ่านฉบับเต็ม "ช.การช่างในยุคผลัดใบ ภายใต้บังเหียน “สุภามาส ตรีวิศวเวทย์”" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ AUGUST 2015)

กว่า 4 ทศวรรษของ ช.การช่าง ยักษ์ใหญ่ก่อสร้างไทย พร้อมเข้าสู่ยุคผลัดใบ เจ้าสัว ปลิว ตรีวิศวเวทย์ ดันลูกสาว “สุภามาส” รับไม้ต่อ หวังผนึกพลังกับคนรุ่นใหม่เดินหน้า ท้าทาย ร่วมชิงชัยประมูลโครงการพื้นฐานหลายแสนล้านบาทจากภาครัฐ

นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญยิ่งสำหรับ บมจ.ช.การช่าง (CK) บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่หัวแถวระดับประเทศ ที่สืบสานเรื่องราวความสำเร็จมาจนถึง 43 ปี จนถึงวันนี้ วันที่ ปลิว ตรีวิศวเวทย์ บุรุษวัย 72 ปี หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท พร้อมส่งมอบไม้ต่อให้กับ สุภามาส ลูกสาวคนโตผู้มากความสามารถ เพื่อรับช่วงต่อในตำแหน่งสำคัญที่เขาเคยนั่ง
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาจพูดได้ว่า ปลิว ไม่ใคร่ให้โอกาสสื่อในการเข้าสัมภาษณ์พูดคุยนัก จึงนับเป็นโอกาสพิเศษยิ่งที่ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 3 สมาชิกของตระกูล “ตรีวิศวเวทย์” ที่มี ปลิว สุภามาส บุตรสาว และ ณัฐวุฒิผู้เป็นบุตรชายคนเล็ก ปรากฎตัวกับสื่อ เพื่อแจ้งข่าวการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบริหารภายใน CK ครั้งสำคัญยิ่ง

“การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนครั้งใหญ่ในรอบ 30 กว่าปีของบริษัท” ปลิวกล่าวเสริม “คนรุ่นใหม่จะช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาด ร่วมกับคนรุ่นเก่า เป็นการรวมพลังและผสมผสานความคิดของคนสองรุ่น เพื่อสร้างการเติบโตและหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับบริษัทในอนาคต ในภาวะที่โลกการค้าการลงทุนและเทคโนโลยีที่แปรเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง”

ปลิวเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ในปี 2515 เขาและพี่น้องร่วมกันก่อตั้ง ช.การช่าง โดยแรกเริ่มเป็นเพียงสำนักงานเล็กๆ ในตึกแถว 2 ชั้น 2 ห้อง และมีพนักงานเพียง 2 คน โดยมีถาวร ซึ่งตอนนั้นปลิว มีอายุเพียง 29 ปี

พี่น้องร่วมกันก่อนตั้ง CK เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ในยุคที่ประเทศไทยกำลังเร่งเครื่องมุ่งหน้าสู่การพัฒนา โดย CK ในยุคเริ่มต้นนั้น เน้นรับงานอาคารและงานโยธา โดยโครงการส่วนใหญ่นั้นเป็นโครงการจากภาครัฐและกองทัพเป็นหลัก จากวันนั้น ธุรกิจของ CK ขยายตัวอย่างสม่ำเสมอ และมีงานเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2537 บริษัทได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากวันนั้นจนถึงวันนี้ บริษัทได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง จนมีจำนวนพนักงานในกลุ่มรวมราว 5-6 พันคน ในปีนี้ ปลิว ติดทำเนียบมหาเศรษฐีในอันดับที่ 50 ของไทย จากการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes Thailand ซึ่งครอบครองมูลค่าทรัพย์สินรวม 1.43 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ หุ้นของ CK เมื่อสิ้นปี 2554 มีราคาอยู่ที่ 7.55 บาท พุ่งทะยานขึ้นเป็น 27 บาท ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2558 ทำให้มูลค่าตามราคาตลาด (market cap) ที่อยู่ที่ราว 12.48 หมื่นล้านบาทในปี 2554 พุ่งขึ้นเป็น 45.73 หมื่นล้านบาทในวันที่ 3 กรกฎาคม 2558

การเติบโตของบริษัทอย่างต่อเนื่อง กอปรกับโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไป และอายุที่มากขึ้นของปลิว ทำให้เขาตระหนักถึงความสำคัญที่จะคัดเลือกและเตรียมพร้อมผู้สืบทอดบริษัทในตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเขาเปิดโอกาสให้ลูกทั้ง 3 คน ได้เรียนรู้งานในบริษัท สุภามาส ลูกคนโต (41 ปี) เริ่มเข้าทำงานกับ CK ในปี 2549 ในตำแหน่งรองผู้จัดการ สำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนวัฒน์ ลูกคนรอง (อายุ 38 ปี) ดำรงตำแหน่งกรรมการและรองกรรมการผู้จัดการสายงานบริหารใน CKP และลูกคนสุดท้อง ณัฐวุฒิ (35 ปี)  ซึ่งเป็นทั้งนายแบบและนักแสดง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขานุการและตำแหน่งผู้จัดการสำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่ CK

“ผมได้วาง successor ไว้ล่วงหน้า จะเป็นใครนั้น ก็ต้องดูจากผลงานว่าทำงานได้หรือไม่ได้ รับภาระต่อได้หรือไม่ ดูแนวความคิดสร้างการเติบโตของบริษัท และต้องพิสูจน์เรื่องความสามารถ วิสัยทัศน์ และความตั้งใจในการทำงาน” ปลิวกล่าว

จากบททดสอบทั้งปวง พี่ใหญ่ สุภามาส ได้รับเลือกจากคณะกรรมการสรรหาของบริษัท ขึ้นนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ CK ขณะที่ธนวัฒน์ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ที่ CKP แทนสุภามาส โดยมีผลตั้งแต่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา สำหรับณัฐวุฒิ ผู้มีประสบการณ์น้อยอยู่ระหว่างการเรียนรู้

สุภามาส มิได้หนักใจกับตำแหน่งใหม่นี้ถึงแม้จะหมายถึงงานและภาระที่มากขึ้น เนื่องจากบริษัทมีมืออาชีพเข้าร่วมงานอยู่แล้วและวางรากฐานสร้างระบบให้กับตัวองค์กรมานานแล้ว ที่ผ่านมาก็ทำงานมาหลายที่ภายในกลุ่ม ทำให้ได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมองค์กรที่หลากหลาย

สุรชัย ประมวลเจริญกิจ นักวิเคราะห์ที่ บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เชื่อว่า CK หลังการส่งไม้ต่อให้รุ่นลูก จะยังคงสามารถรักษาการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากบริษัทในกลุ่มนั้น มีการเกื้อกูลกันในเรื่องการแบ่งงานโครงการที่ได้ และบริษัทลูกๆ ยังคงสามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องด้วยตัวเอง ซึ่งจุดนี้เป็นจุดแข็งของบริษัทเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมอื่นๆ  

โครงการในครึ่งปีหลังที่ CK ให้ความสนใจเข้าร่วมประมูล อาทิ รถไฟฟ้ารางคู่สัญญาแรก ช่วงฉะเชิงเทรา-คลอง 19-แก่งคอย และช่วงถนนจิระขอนแก่น ซึ่งมีมูลค่ารวม 4 หมื่นล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีส้ม มูลค่ารวม 1.1 แสนล้านบาท อุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอนของกทม. มูลค่า 5.9 พันล้านบาท โดยคาดว่าน่าจะได้รับงาน 20-25% หรือราว 3-4 หมื่นล้านบาทจากทั้งหมด

“CK มีความพร้อมมากที่จะเข้าร่วมการประมูล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินทุน เทคโนโลยี หรือทางด้าน infrastructure engineering บริษัทได้เตรียมการเรื่องนี้มาหลายปีก่อนหน้านี้ เพื่อจุดมุ่งหมายนี้โดยเฉพาะ”

กว่าสี่ทศวรรษ ปลิวเชื่อ CK ได้สั่งสมประสบการณ์จนแข็งแกร่งจนได้รับโอกาสทำโครงการใหญ่ๆ ของประเทศ ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่มีการลอยค่าเงินบาท ซึ่งทำให้บริษัทจำนวนมากต้องล้มละลาย แต่สำหรับ CK นั้น ได้เดินผ่านช่วงลำบากนั้นมาได้ เนื่องจากไม่พึ่งพาเงินสกุลดอลลาร์และมีที่ปรึกษาที่ดี จนทำให้เป็นหนี้มหาศาลชั่วข้ามคืนเหมือนบริษัทอื่นๆ

“ทุกวันนี้ ผมพา “ช.การช่าง” เดินทางมาเกินเป้าหมายแล้ว อดีตเคยคิดเพียงอยากให้เป็น 1 ใน 10 บริษัทก่อสร้างชั้นนำของไทยเท่านั้น แต่วันนี้ติดอยู่ 1 ใน 3” เขากล่าวทิ้งท้ายอย่างภาคภูมิใจ

...waiting for Gist...

อ่านฉบับเต็ม "ช.การช่างในยุคผลัดใบ ภายใต้บังเหียน “สุภามาส ตรีวิศวเวทย์”" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ AUGUST 2015