เปิดไอเดียสตาร์ทอัพ U.K. ผู้แก้ปัญหา "กากกาแฟ" ล้นเมือง - Forbes Thailand

เปิดไอเดียสตาร์ทอัพ U.K. ผู้แก้ปัญหา "กากกาแฟ" ล้นเมือง

เป็นที่รู้กันดีว่าสหราชณาจักรเป็นหนึ่งในดินแดนของคนที่หลงใหลชาและกาแฟเป็นอย่างมาก แต่ความนิยมดื่มกาแฟที่เพิ่มขึ้น ก็ได้จุดประกายให้หลายหน่วยงานเริ่มตระหนักถึงความยั่งยืนในการใช้ถ้วยกระดาษ รวมถึงเรื่องอื่นๆ อย่างการค้าที่เป็นธรรม ที่ได้ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของแหล่งเพาะปลูกกาแฟ

อย่างไรก็ตาม โลกแห่งกาแฟยังมีความลับที่มักถูกลืมอยู่บ่อยครั้ง นั่นคือ ของเสียที่เกิดจากการลงกาแฟอย่างกากกาแฟที่เฉพาะในสหราชอาณาจักร ก็ผลิตขยะอย่างกากกาแฟปีละกว่าครึ่งล้านตัน และของเสียเหล่านี้จะถูกฝังลงไปในดิน

และจากกระแสแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ทำให้สตาร์ทอัพกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งพยายามเข้ามาหาทางเปลี่ยนขยะจากกาแฟให้กลายเป็นของมีค่าขึ้นมา โดยพวกเขาคือ คู่พี่น้อง Anna และ William Brightman ได้เริ่มพัฒนากระบวนการรีไซเคิลกากกาแฟให้กลายเป็นน้ำมันคุณภาพสูง ที่พวกเขานำมาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์บำรุงผิวแบรนด์ UpCircle

Anna และ William Brightman สองพี่น้องผู้ก่อตั้ง UpCircle (ภาพจาก UpCircle)

จุดเริ่มต้นของเราเกิดขึ้นหลังจากเราไปซื้อกาแฟที่โรงอาหาร และเราได้รู้ว่าการเพลิดเพลินไปกับกาแฟทุกเช้าของเรานั้นสร้างขยะขึ้นจำนวนมาก ซึ่งทำให้เราคิดได้ว่านั่นไม่ใช่เพียงแค่ขยะของพวกเราเท่านั้น แต่ผลกระทบที่ใหญ่กว่าจากการบริโภคกาแฟมาจากเหล่าอาคารสำนักงานและร้านกาแฟ” Anna เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของแนวคิดสู่จุดเริ่มต้นของ Up Circle

หลังจากนั้นไม่นาน สองพี่น้องก็เริ่มออกไปพูดคุยกับร้านกาแฟเพียงเพื่อพบว่าพวกเขาได้จ่ายเงินให้กับสภาท้องถิ่นเป็นค่าเก็บกากกาแฟแล้วนำไปฝังกลบ พวกเขาจึงเสนอให้ร้านกาแฟเหล่านั้นมอบกากกาแฟให้พวกเขาแทน ซึ่งร้านค้าส่วนมากก็ยินดี

เราพยายามที่จะท้าทายการรับรู้ของผู้คนกับสิ่งที่พวกเขามองว่ามันเป็นของเสีย เราหวังจริงๆ ว่าจะได้แสดงให้เห็นว่าส่วนผสมบางอย่างไม่เพียงแค่ดีเท่านั้น แต่ยังดีต่อผิวกว่าส่วนผสมอื่นจริงๆ” Anna กล่าว

ผลิตภัณฑ์ของ UpCircle

จากข้อมูลของสองพี่น้อง Brightman งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า ในกากกาแฟประกอบไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด และมีมากกว่าในเมล็ดกาแฟสดเสียอีก นั่นทำให้กากกาแฟกลายมาเป็นทรัพยากรที่มีค่าสำหรับการทำเครื่องสำอาง

และเมื่อพวกเขาพัฒนาจนได้ผลิตภัณฑ์ไลน์แรก William และ Anna ก็สามารถโน้มน้าวร้านค้าปลีกใหญ่ๆ อย่าง Boots, Waitrose, Whole Foods and Planet Organic เพื่อวางสินค้าจำหน่ายในร้านเหล่านี้

เราต้องการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการนำวัตถุดิบใช้แล้วมายกระดับสู่ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวออร์แกนิคตัวใหม่ที่ทำมาจากธรรมชาติ William กล่าว

 

"กากกาแฟ" เชื้อเพลิงชีวมวลชั้นยอด

หนึ่งในผู้บุกเบิกเรื่องการนำกากกาแฟมาใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับผลิตสินค้าในสหราชอาณาจักร คือ Arthur Kay ผู้ก่อตั้งและรองประธานกรรมการของ bio-bean ที่คิดค้นการผลิตเชื้อเพลิงธรรมชาติจากกากกาแฟในปี 2013

Arthur Kay ผู้ก่อตั้ง bio-beam (ภาพจาก bio-bean)

โดยหลังจาก Kay จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์จาก University College London เขาก็แหวกออกจากเส้นทางอาชีพสถาปนิกและก่อตั้ง bio-bean บริษัทที่พัฒนากระบวนการเปลี่ยนกากกาแฟให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ ซึ่งรวมไปถึงไบโอดีเซลที่สามารถนำไปใช้กับรถเครื่องยนต์ดีเซลและรถบัสได้

ควบคู่ไปกับการทดลองไบโอดีเซล บริษัทฯ ยังได้เริ่มผลิต “Coffee Logs” หรือถ่านจากกากกาแฟ ที่สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาแทนไม้ และก้อนชีวมวลอัดแข็งที่สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับหม้อไอน้ำในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

ทั้งนี้ หลังจากเริ่มดำเนินการไม่นาน ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ขยายสินค้าทั้งในกลุ่มเชื้อเพลิงชีวภาพอัดแข็ง, กลิ่นและรสธรรมชาติสำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องสำอาง อาหาร และเครื่องดื่ม

ถ่านกากกาแฟจาก bio-bean

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเชื้อเพลิงชีวภาพอัดแข็งของ bio-bean จะใช้สำหรับเตาเผา ซึ่งต้องผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา แต่ Kay กล่าวว่า นี่ก็เป็นทางเลือกที่ยั่งยืนมากกว่า และพวกเขาไม่ได้ผลิตคาร์บอนเพิ่มขึ้น

เชื้อเพลิงชีวภาพของเราจัดเป็นคาร์บอนจากธรรมชาติ ปัจจุบันกากกาแฟที่ได้จะถูกนำไปฝังกลบ ซึ่งนั่นจะผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทนออกมา

บริษัท bio-bean ระบุว่า การจัดการรีไซเคิลนี้จะส่งผลโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง Kay กล่าวว่าเราลดปริมาณคาร์บอนในสหราชอาณาจักรวันละ 6 ตัน ซึ่งปริมาณนั้นเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่เกิดจากการขับรถรอบโลก 215 รอบ

    แปลและเรียบเรียงโดย กนกวรรณ มากเมฆ / Online Content Creator   ที่มา