ธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัวชัด ยืนยันด้วยผลประกอบการโรงแรมที่ดีขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้น และอัตราการเข้าพักที่กลับมาใกล้เคียงปี 2562 ก่อนที่สถานการณ์โควิด-19 จะขยายผลรุนแรง
เครือเซ็นทารา เชนธุรกิจโรงแรมที่พักรายใหญ่ของไทย ประกาศแผนธุรกิจปีนี้และอีก 3 ปีข้างหน้าในงาน "Opp Day" ช่วงเช้าวันที่ 3 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา โดย 2 ผู้บริหาร ธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ กันย์ ศรีสมพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา บริษัท โรงแรมเซ็นทรัล พลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL
โดยหลังจากพบปะนักลงทุนและนักวิเคราะห์แล้ว ผู้บริหารทั้งสองได้เปิดแถลงข่าวทิศทางการดำเนินธุรกิจหลังจากนี้ว่า เซ็นทาราเตรียมงบสำหรับการขยายลงทุนไว้ประมาณ 15,000 ล้านบาท จะใช้สำหรับการลงทุนโรงแรมใหม่ และการขยายธุรกิจต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์ธุรกิจท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวชัดเจน
ธีระยุทธ กล่าวว่า โรงแรมใหม่ที่จะเปิดตัวในปี 2566 วางไว้ 6 แห่งด้วยกัน เป็นโรงแรมในประเทศ 5 แห่งและต่างประเทศ 1 แห่ง โดยในประเทศประกอบด้วย โรงแรมเซ็นทารา จัวหวัดอุบลราชธานี 160 ห้องพัก (เปิดบริการ 10 มีนาคม 2566), ระยอง 200 ห้องพัก (ไตรมาส 3), สุราษฎร์ธานี 110 ห้องพัก (ไตรมาส 3), อยุธยา 224 ห้องพัก (ไตรมาส 4) และเกาะสมุย 61 ห้องพัก (ไตรมาส 3) รวมถึงจะมีการลงนามสัญญาบริหารโรงแรมเพิ่มอีก 5 แห่งในไทย ที่สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ กระบี่ และเชียงราย
ส่วนในต่างประเทศ เซ็นทารา จะเปิดให้บริการโรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า โรงแรมแห่งแรกภายใต้แบรนด์เซ็นทารา แกรนด์ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโรงแรมระดับ upper upscale ตั้งอยู่ใจกลางเมืองในย่านนัมบะ เป็นอาคารสูง 33 ชั้น พร้อมห้องพัก 515 ห้อง จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคม 2566
บุกหนักทั้งใน-ตปท.
นอกจากนี้ เซ็นทารายังมีแผนเปิดสำนักงานในหัวเมืองสำคัญอย่าง โฮจิมินห์ เซี่ยงไฮ้ และดูไบในปีนี้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการขยายธุรกิจในอนาคต รวมถึงมีแผนเปิดสำนักงานเพิ่มอีกแห่งในโอซาก้าในปี 2567 เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา และต่อยอดธุรกิจในภูมิภาค
ขณะเดียวกัน เซ็นทารา ยังตั้งเป้าลงนามสัญญาบริหารโรงแรมใหม่เพิ่มอีก 10 แห่ง ในต่างประเทศ ณ จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ อาทิ เวียดนาม และกาตาร์
โดยกลยุทธ์ธุรกิจที่สำคัญของเซ็นทารา สำหรับตลาดต่างประเทศ คือการลงนามสัญญาบริหารเพื่อเปิดให้บริการโรงแรมในประเทศกลุ่มอาเซียน เช่น ลาว กัมพูชา และเวียดนาม รวมถึงการจับมือร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทชั้นนำในจีนเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ โดยมีกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางเป็นตลาดหลัก
“เซ็นทารายังคงมองหาโอกาสใหม่ๆ ในหัวเมืองท่องเที่ยวที่น่าสนใจเพื่อขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง” ธีระยุทธ ย้ำและว่า ที่ผ่านมาเซ็นทารา ได้กระแสตอบรับที่ดีในการเปิดโรงแรมเซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุย โรงแรมแบรนด์เซ็นทารา รีเซิร์ฟ แห่งแรกที่เปิดตัวไปในเดือนธันวาคม 2564 เซ็นทารา จึงเตรียมขยายความสำเร็จของแบรนด์ เซ็นทารา รีเซิร์ฟ สู่จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวหลักอื่นๆ อาทิ ในพื้นที่หัวหิน กระบี่ และมัลดีฟส์
“ที่มัลดีฟ เซ็นทารา เตรียมเปิดโรงแรมใหม่ 3 แห่งที่ได้มีการถมพื้นที่เกาะไว้แล้ว คาดว่าจะรุกลงทุนอย่างจริงจังในปีนี้” ซีอีโอเซ็นทารา ยืนยันพร้อมกล่าวว่า 2 โรงแรมใหม่ของเซ็นทารา ที่มัลดีฟ จะใช้แบรนด์เซ็นทารา มิราจ และเซ็นทารา แกรนด์
นอกจากนี้ ผู้บริหารเซ็นทาราเผยว่าสถานการณ์ตลาดท่องเที่ยวกลับมาค่อนข้างดี ทั้งในไทยและต่างประเทศโดยในประเทศไทยจะเห็นว่า โรงแรมเซ็นทาราหลายแห่งมีอัตราการเข้าพักกลับมาปกติ ใกล้เคียงสถานการณ์ก่อนโควิด (ปี 2562) โดยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยราว 80%
ขณะที่บางแห่งสถานการณ์ดีกว่าปี 2562 เช่นที่ภูเก็ตอัตราเข้าพักกว่า 90% ทำให้ผลประกอบการของเซ็นทารากลับมาเป็นบวกมีผลกำไรอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านั้นประสบภาวะขาดทุนเนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวต้องหยุดชะงัก จากผลกระทบสถานการณ์โควิด ซึ่งทำให้ตลาดซบเซาไปประมาณ 2 ปี
ปัจจุบันนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ยอดจองโรงแรมทั้งจัดกิจกรรมสัมนาต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ปีนี้ประเมินว่านักท่องเที่ยวจะเข้าไทยประมาณ 30 ล้านคนเพิ่มขึ้นใกล้เคียงปี 2562 ซึ่งขณะนั้นยอดนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน
โดยจำนวนอาจยังกลับมาไม่เท่าเดิมแต่ ผู้บริหารเซ็นทารากล่าวว่า นักท่องเที่ยวที่เข้าไทยหลังโควิดยังเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางเอง ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ ยอดจับจ่ายใช้สอยสูง เนื่องจากสายการบินยังกลับมาไม่เต็มที่ และราคาตั๋วเครื่องบินค่อนข้างสูง นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ
ผู้บริหารเซ็นทาราเผยว่า นอกจากแผนลงทุนแล้ว เซ็นทารายังขยายเครือข่ายพันธมิตรทางการตลาดไปยังกลุ่มธุรกิจสายการบิน ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า และบริษัทท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อยกระดับประสบการณ์ลูกค้า
โดยเตรียมเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบโปรแกรมสมาชิกเซ็นทาราเดอะวัน (CentaraThe1) ซึ่งในปัจจุบันมีฐานลูกค้าในโปรแกรมสมาชิกเซ็นทาราเดอะวันแล้วกว่า 7 ล้านคน โดยในปีนี้เซ็นทาราตั้งเป้าเพิ่มฐานสมาชิกเซ็นทาราเดอะวันให้ได้มากกว่า 8 ล้านคน
เนื่องจากปีนี้โปรแกรมสมาชิกเซ็นทาราเดอะวัน จะครบรอบ 10 ปี ประกอบกับโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทาราจะครบรอบ 40 ปีในปีนี้ด้วย เซ็นทาราจึงได้ผนึกกำลังร่วมกับพันธมิตรทางการตลาดอย่างสายการบินชั้นนำระดับโลก เช่น กาตาร์ แอร์เวย์, สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส และเตอร์กิช แอร์ไลน์ มอบสิทธิประโยชน์มากมายให้แก่สมาชิกเซ็นทาราเดอะวัน ผ่านแคมเปญแลกเปลี่ยนคะแนนกับสมาชิกได้สะดวกและคุ้มค่ายิ่งขึ้น
“ปีนี้นับเป็นปีที่น่าตื่นเต้นของเซ็นทารา ทั้งการฉลองครบรอบ 40 ปี ของโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคัก แม้ต้องเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เรายังสามารถเติบโตและขยายธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งการเปิดเซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุย เซ็นทารา มิราจ บีช รีสอร์ท ดูไบ และเซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า ที่กำลังจะเปิดให้บริการในเร็วๆ นี้” ธีระยุทธ กล่าวและว่า กลยุทธ์ของเซ็นทารานับจากนี้ไป จะขยายธุรกิจควบคู่ไปกับพันธมิตรอย่างรอบด้าน เพื่อเพิ่มบริการให้ลูกค้าอย่างเต็มที่
พลิกทำกำไรปีแรก
สำหรับผลประกอบการ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน CENTEL เผยว่า ไตรมาส 4/2565 มีรายได้รวม 5,502 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47% และมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา (EBITDA) รวม 1,531 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% จากไตรมาส 4/2564 โดย % EBITDA Margin อยู่ที่ 28% เพิ่มขึ้นเทียบกับปีก่อน
เนื่องจากการดำเนินงานธุรกิจโรงแรมปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะโรงแรมที่จังหวัดท่องเที่ยวหลักซึ่งมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่น บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 498 ล้านบาท หรือเติบโต 228% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้รวม 18,216 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% มี EBITDA รวม 4,411 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120% เทียบปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 398 ล้านบาท หรือเติบโต 123% (ช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 1,734 ล้านบาท)
ส่วนแผนดำเนินธุรกิจในปี 2566 แม้การฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมมีแนวโน้มที่ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงปัจจัยบวกการเริ่มเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เร็วกว่าคาด แต่ยังคงต้องติดตาม และบริหารจัดการต้นทุนอาหาร พลังงาน และค่าจ้างแรงงานที่มีการปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงแนวโน้มการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์
อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ได้มีการวางแผนลดผลกระทบต่อการปรับตัวขึ้นของต้นทุนดังกล่าว เช่น การวางแผนในการเจรจาต่อรองกับผู้ขายวัตถุดิบอย่างต่อเนื่อง หาแหล่งวัตถุดิบทดแทน การใช้พลังงานแสงอาทิตย์และอุปกรณ์ประหยัดพลังงานเพื่อลดค่าไฟฟ้า
การจัดสรรกำลังบุคลากรวิถีใหม่ และรวมถึงแผนการจ่ายคืนเงินต้นก่อนกำหนดสำหรับเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อลดผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
การเติบโตของธุรกิจในปีนี้ จะมาจากทั้งธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหาร โดยโรงแรมในประเทศไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น และส่วนหนึ่งเป็นการเติบโตจากฐานต่ำในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 โดยการเติบโตมาจากโรงแรมระดับ 5 ดาว รวมถึงแบรนด์เซ็นทารา รีเซิร์ฟ ทั้งในกรุงเทพและแหล่งสถานที่ท่องเที่ยวหลัก
ขณะเดียวกัน โรงแรมที่มัลดีฟส์คาดว่าผลการดำเนินงานจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ในปี 2566 การเติบโตของรายได้ส่วนหนึ่งมาจากการเปิดโรงแรมใหม่ (Inorganic Growth) โดยบริษัทฯ จะรับรู้รายได้จากการดำเนินงานโรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป
ภาพรวมปี 2566 คาดการณ์อัตราการเข้าพักเฉลี่ย (รวมโรงแรมร่วมทุน) 65- 72% และรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPar) เติบโต 30-37% เทียบช่วง เดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 3,250-3,400
โดยการเติบโตของ RevPar มาจากอัตราการเข้าพักที่เพิ่มขึ้นและราคาห้องพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะมาจากจากโรงแรมในต่างประเทศที่เมืองดูไบ และประเทศญี่ปุ่นที่ราคาเฉลี่ยสูงกว่าราคาห้องพักในประเทศไทย
สำหรับธุรกิจอาหารคาดยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจจากการเปิดประเทศและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาดำเนินตามปกติ บริษัทฯ ประมาณการอัตราการเติบโตจากสาขาเดิม (Same-Store-Sales: SSS) ไม่รวมกิจการร่วมทุน เติบโต 7-9% เทียบปีก่อน และอัตราการเติบโตของยอดขายรวมทุกสาขา (Total-System-Sales: TSS) จะอยู่ในช่วง 13- 15% เทียบปีที่ผ่านมา
สำหรับการเติบโตของจำนวนสาขา คาดว่าจะมีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นสุทธิรวมแบรนด์ร่วมทุน ประมาณ 120-150 สาขา (รวมสาขา shop-in-shop อาริกาโตะในมิสเตอร์โดนัท) เทียบกับปี 2565 โดยแบรนด์ที่เน้นการขยายสาขาเพิ่มได้แก่ เค เอฟ ซี, มิสเตอร์โดนัท, อานตี้ แอนส์, สลัดแฟคทอรี, ส้มตำนัว และ ชินคันเซ็น ซูชิ
ดูแลสิ่งแวดล้อมพร้อมเติบโตยั่งยืน
นอกจากการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตตามแผนที่วางไว้ บริษัทยังให้ความสำคัญประเด็นเรื่องสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยประกาศความมุ่งมั่นในการเป็นองค์กรที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero 2050) ภายในปี 2593
มีการกำหนดเป้าหมายระยะแรก 10 ปี (long term plan 2020-2029) การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% ภายในปี 2572 ด้วยการบริหารจัดการการใช้พลังงาน การใช้น้ำ และการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ
เซ็นทาราให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมวางแผนระยะยาวในการลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เช่น เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single used plastic) ภายในปี 2568 ให้โรงแรมและรีสอร์ตในเครือทุกแห่งได้รับการรับรองด้านสิ่งแวดล้อมจาก Global Sustainable Tourism Council – GSTC ภายในปี 2568
ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 CENTEL มีโรงแรมภายใต้การบริหารงานทั้งสิ้น จำนวน 92 โรงแรม (19,348 ห้อง) แบ่งเป็นโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 50 โรงแรม (10,406 ห้อง) และโรงแรมที่กำลังพัฒนา 42 โรงแรม (8,942 ห้อง) โดย 50 โรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้วนั้น 19 โรงแรม (5,051 ห้อง) เป็นโรงแรมที่บริษัทฯ เป็นเจ้าของ และ 31 โรงแรม (5,355 ห้อง) เป็นโรงแรมที่อยู่ภายใต้สัญญาบริหาร
สำหรับธุรกิจอาหาร บริษัทฯ มีจำนวนร้านอาหารที่เปิดดำเนินการรวม 1,580 สาขา ดังนี้ เคเอฟซี (319) มิสเตอร์โดนัท (469) โอโตยะ (47) อานตี้แอนส์ (209) เปปเปอร์ลันช์ (51) ชาบูตง ราเมน (17) โคลด์สโตน ครีมเมอรี่ (16) โยชิโนยะ (31) เดอะ เทอเรส (7) เทนยะ (12) คัตสึยะ (60) อร่อยดี (30) อาริกาโตะ (185) เกาลูน (1) แกร๊บคิทเช่น บาย เอเวอรีฟู้ด (18) สลัดแฟคทอรี (30) บราวน์ คาเฟ่ (11) คาเฟ่ อเมซอน–เวียดนาม (18) ส้มตำนัว (5) และชินคันเซ็น ซูชิ (44)
อ่านเพิ่มเติม: ตัน ภาสกรนที จากญี่ปุ่นสู่เกาหลี ข้ามฟากชาเขียวชิงเค้ก “น้ำอัดลม”
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine