ตลาดอาหารแช่แข็งโตตามวิถีนิว นอร์มอล "สยาม คานาเดี่ยน กรุ๊ป" พลิกเกมสู้ธุรกิจในไทย ส่งฟู้ดดีฮับ เจาะบริการส่งถึงบ้าน เน้นกลุ่มอาหารพร้อมปรุง พร้อมทาน ตลาดแพลนท์-เบสเติบโตสูง ตามกระแสเมกะเทรนด์โลก หวังชดเชยรายได้กลุ่มธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร เจอพิษโควิดกระทบหนัก
ชัยพัฒน์ คุณาภิวัฒน์กุล ผู้อำนวยการฝ่ายขายประจำประเทศไทย ฟู้ดดีฮับ (FoodDeeHub) ภายใต้กลุ่มบริษัท สยาม คานาเดี่ยน กรุ๊ป จำกัด ผู้นำเข้าและส่งออกอาหารแช่แข็งระดับพรีเมี่ยม เปิดเผยว่า บริษัทดำเนินธุรกิจอาหารแช่แข็งมากว่า 34 ปี ซึ่งแนวโน้มตลาดอาหารแช่แข็งโดยรวมยังคงเติบโตสูง โดยอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็งในตลาดโลก คาดว่าจะมีมูลค่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตร้อยละ 4.1 ขณะที่ตลาดอาหารแช่แข็งในประเทศไทยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6 เติบโตสูงกว่าตลาดโลก สำหรับ บริษัท สยาม คานาเดี่ยน กรุ๊ป เป็นผู้นำเข้าและส่งออกอาหารแช่แข็ง เช่น เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้แช่แข็ง โดยตลาดส่งออกหลักอยู่ที่สหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรปและเอเชีย มีการส่งออกสินค้า 3,000 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี ไปยัง 70 ประเทศทั่วโลก ขณะที่ในไทยเป็นผู้นำเข้าสินค้าอาหารแช่แข็งจากแหล่งผลิตทั่วโลกส่งให้กับกลุ่มธุรกิจค้าปลีก โรงแรม ร้านอาหาร โรงพยาบาล ซึ่งปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 ทำให้ยอดขายลดลง จึงต้องมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ชัยพัฒน์ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา บริษัทจึงเปิดธุรกิจบริการส่งอาหารแช่แข็งพร้อมปรุง พร้อมทาน ภายใต้แบรนด์ “ฟู้ดดีฮับ” เพราะเห็นแนวโน้มเติบโตสูง จากวิถีการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปตามวิถีชีวิตใหม่ (New normal lifestyle) ในช่วงการระบาดของโควิด 19 ที่หันมาซื้ออาหารแช่แข็งมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคสามารถซื้อเก็บไว้ได้นาน อายุการเก็บรักษา (Shelf life) 1 ถึง 2 ปี และช่วยลดความเสี่ยงจากการไปซื้อของตามตลาด หรือห้างร้านที่แออัดได้ นอกจากนี้ด้วยเทคโนโลยีการผลิตอาหารในปัจจุบัน นอกจากทำให้อาหารแช่แข็งเก็บรักษาได้นานแล้ว ยังสามารถคงคุณภาพและสารอาหารได้ครบถ้วน รวมไปถึง Hygienic standard จากปัจจัยข้างต้นสนับสนุนและเร่งให้อัตราการเติบโตของตลาดอาหารพร้อมรับประทานและอาหารพร้อมปรุงให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรม ในปี 2563 แนวโน้มของกลุ่มอาหารพร้อมรับประทานและอาหารพร้อมปรุง มีมูลค่าทางตลาดรวมประมาณ 21,000 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 3-5% ต่อปี “ด้วยความชำนาญและประสบการณ์ในธุรกิจนี้ บริษัทฯ เล็งเห็นโอกาสจากวิกฤตสถานการณ์โควิด 19 และได้ตัดสินใจขยายธุรกิจไปยังส่วนของการขายตรงสู่ผู้บริโภค (B2C) ในประเทศไทยในช่วงปลายปี 2563 โดยใช้เซอร์วิสหลัก (Core business) ซึ่งได้รับการยอมรับจากลูกค้าต่างประเทศของเรา ไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดหาวัตถุดิบ (Sourcing) การควบคุมคุณภาพ (Quality control) และระบบโลจิสติกส์ (Cold Chain Logistics) เป็นต้น มาใช้ในการทำตลาด B2C ในประเทศไทย” ชัยพัฒน์ ระบุ ขยายตลาดแพลนท์-เบส เมกะเทรนด์ สำหรับผลิตภัณฑ์ ฟู้ดดีฮับ ประกอบด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งพร้อมปรุงและพร้อมรับประทานภายใต้แบรนด์สินค้าของบริษัทเอง ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 อาหารทะเลสดแช่แข็ง (Frozen seafood) แบรนด์ Natural Coast ได้แก่ ปลาแซลมอน หอยเชลล์ยักษ์ กุ้ง ปลาหมึก ปลาดอรี่ เนื้อหอยลายปรุงสุก ปูนิ่ม วากาเมะ วัตถุดิบอาหารญี่ปุ่น ฯลฯ กลุ่มที่ 2 เบเกอรี่แช่แข็ง (Frozen Bakery) แบรนด์ Club Gourmet ได้แก่ เมนูช็อกโกแลตลาวาเค้ก (Chocolate Lava Cake) และ ทิรามิสุ (Tiramisu) นำเข้าจากดินแดนต้นตำหรับในยุโรป กลุ่มที่ 3 อาหารทะเลกับเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช (Frozen plant-based food) ซึ่งปัจจุบันอาหารในกลุ่มนี้ยังมีอาหารพร้อมปรุง (Ready to Cook) รวมอยู่ด้วย 5 เมนู ดังนี้ หมูกรอบ (ไร้หมู) ซี่โครงหมู (ไร้หมู) ปลาเค็ม (ไร้ปลา) ทอดมันปลา (ไร้ปลา) ลูกชิ้นกุ้ง (ไร้กุ้ง) และกำลังจะเปิดตัวอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) เพิ่มเติมอีกด้วย ได้แก่ เมนูข้าวกะเพราหมู (ไร้หมู) และ กะเพราไก่ (ไร้ไก่) ไรซ์เบอร์รี่ ในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยสินค้ากลุ่มนี้ เนื้อทำมาจากพืชนี้ล้วนๆ ภายใต้แบรนด์ Meatoo กลุ่มที่ 4 คือ อาหารทานเล่น (Food for Fun, Food for Family) เช่น ซาลาเปา ขนมจีบ ฮะเก๋า ถุงทอง ทอดมันกุ้ง ฯลฯ และกลุ่มที่ 5 เนื้อสัตว์ยอดนิยม อาทิ เนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อเป็ด และเนื้อไก่ อีกด้วย ชัยพัฒน์ กล่าวว่า ตลาดแพลนท์-เบส มีแนวโน้มการเติบโตสูงเนื่องจากเป็นเมกะเทรนด์ของโลก ในตลาดโลกคาดว่ามีมูลค่า 2 หมื่นล้านเหรียญฯ เติบโตร้อยละ 12-14 ในประเทศไทยกลุ่มผู้บริโภคมีความตื่นตัวสูงเช่นเดียวกัน และหันมาเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์แพลนท์-เบสมากขึ้น ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท และคาดว่าภายในปี 2567 จะมีมูลค่าถึง 4.5 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 60 “บริษัทมีเป้าหมายอยากเป็นคีย์ ซัพพลายเออร์ของผลิตภัณฑ์แพลนท์-เบส ทั้งในยุโรปและเอเชีย” ชัยพัฒน์กล่าว ธุรกิจโรงแรม-ร้านอาหารฉุดยอด ชัยพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับปีนี้ บริษัทคาดว่าจะมียอดขายรวม 380 ล้านบาท ลดลงประมาณร้อยละ 10 จากปีที่แล้ว ที่มีรายได้ 420 ล้านบาท เนื่องจากผลกระทบของโควิดที่มีต่อธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ทำให้ยอดขายจากกลุ่มนี้หายไปร้อยละ 45 ขณะที่ธุรกิจส่งออกมียอดขายคงที่ ส่วนธุรกิจนำเข้าวัตถุดิบให้กับกลุ่มธุรกิจอาหารเพื่อส่งออกมีการขยายตัว และธุรกิจใหม่ ฟู้ดดีฮับ ที่คาดว่าปีนี้จะมีรายได้ 3 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปี 2565 และปี 2566 คาดว่าจะมีรายได้ 10-12 ล้านบาท ดุษฎีลักษณ์ อัครสกุลเกียรติ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการและผลิตภัณฑ์ ฟู้ดดีฮับ (FoodDeeHub) กล่าวว่า บริษัทมุ่งแผนการตลาดแบบ 360 องศา คือ เน้นทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ทั้งนี้จากแนวโน้มตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคเน้นการทำตลาดช่องทางออนไลน์เป็นหลัก เนื่องจากยุคนิวนอร์มอล โดยการทำตลาดแบบออนไลน์จะช่วยกระจายและขยายสินค้าได้ครอบคลุมมากกว่า ขณะที่ในช่องทางค้าปลีกคาดว่าจะมีวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใน 37 สาขา “ฟู้ดดีฮับ ถือว่าเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ แต่ด้วยจุดแข็งและผลิตภัณฑ์ เสริมด้วยการจัดโปรโมชั่นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นส่วนลด การจัดโปรแถม ที่สำคัญฟู้ดดีฮับเลือกใช้ระบบขนส่งควบคุมอุณหภูมิที่ได้มาตรฐานสำหรับสินค้าทุกตัว เพื่อรักษาคุณภาพสินค้าสูงสุดจนกระทั่งถึงมือลูกค้า ถึงแม้ค่าบริการในการขนส่งจะสูงกว่าการขนส่งด้วยรถร้อน โดยทางฟู้ดดีฮับ ได้แบ่งเบาลูกค้าในด้านค่าขนส่ง โดยคิดค่าขนส่งทั่วไทย 99 บาทต่อออร์เดอร์” ดุษฎีลักษณ์ กล่าว อ่านเพิ่มเติม: ราคาอสังหาฯ ปรับลดลงต่อเนื่องไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine