บี.กริม เพาเวอร์ ตั้งเป้าระดมทุนอีก 1 หมื่นล้านบาทปีนี้ เพิ่มสัดส่วนธุรกิจพลังงานสะอาด ย้ำเป้าหมายสู่องค์กร Net-Zero Carbon Emissions ภายในปี 2593 เล็งซื้อกิจการพลังงานลม ก๊าซธรรมชาติในเวียดนาม มาเลเซีย และเกาหลีใต้ เพิ่มกำลังการผลิตสู่ 7,200 เมกะวัตต์ ปี 2568
ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเสนอขายหุ้นกู้ครั้งใหม่ จำนวนไม่เกิน 8,000 ล้านบาท และมีกรีนชูอีก 2,000 ล้านบาทในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งใหม่ บริษัทจะนำไปลงทุนในโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ทั้งโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ การควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) ธุรกิจโรงไฟฟ้า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาเข้าซื้อกิจการ 2-3 ดีล อาทิ โรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ในประเทศเวียดนาม มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ภายในช่วงครึ่งปีหลัง รวมทั้งยังนำเงินที่ได้จากการะดมทุนครั้งนี้ เพื่อใช้คืนเงินกู้เดิม เพื่อลดต้นทุนภาระดอกเบี้ยให้ต่ำลง รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ สำหรับแผนเดินหน้าขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อไปสู่เป้าหมายขยายกำลังการผลิต 7,200 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 ตามปณิธานที่จะส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักธรรมภิบาล ตลอดจนการบริหารห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) อย่างรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงผลกระทบใน 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมผ่านการพัฒนาพลังงานสะอาด ฮาราลด์ กล่าวว่า แนวทางขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคตของบี.กริม มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อก้าวสู่องค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) ผ่านโครงการการศึกษาเชื้อเพลิงทางเลือก เทคโนโลยีใหม่ และแผนดำเนินงานต่างๆ โดยเฉพาะการเดินหน้าขยายพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายสำคัญในการนำ บี.กริม เพาเวอร์ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices) หรือ DJSI จัดขึ้นด้วยความร่วมมือของ S&P Global และ SAM ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้ประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทชั้นนำระดับโลก “เป็นเป้าหมายของ บี.กริม ในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด เพื่อร่วมลดภาวะโลกร้อนและดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จากปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงร้อยละ 71 และจากพลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาดร้อยละ 29” ฮาราลด์กล่าว สำหรับการออกหุ้นกู้รวม 8,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งจะเป็นหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) อายุ 5 ปี โดยเงินที่ได้จากการเสนอขาย Green Bond ร้อยละ 87 จะใช้เป็นเงินทุนสำหรับการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ประเทศเวียดนาม และอีกประมาณร้อยละ 13 จะใช้ลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานลม จังหวัดมุกดาหาร ขณะนี้มีผู้ลงทุนให้ความสนใจในหุ้นกู้ทั้ง 3 ชุด ได้แก่ หุ้นกู้อายุ 3 ปี 5 ปี (Green Bond) และ 10 ปี โดยจะมีกำหนดราคาจากความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (Book Building) เร็วๆ นี้ และคาดว่าจะเสนอขายและจัดออกหุ้นกู้ทั้ง 3 ชุดในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2564 พร้อมแต่งตั้งธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ดังกล่าว สำหรับแนวทางในการจัดหาเงินทุนผ่าน Green Financing บริษัทบี.กริม ถือเป็นผู้บุกเบิกการระดมทุนผ่านการการออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) มาตั้งแต่ปี 2561 โดยเป็นบริษัทเอกชนบริษัทแรกที่ออก Green Bond จำนวน 5,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นหุ้นกู้รายแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองโดย Climate Bonds Initiative ก่อนที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะมีการออกเกณฑ์การออก Green Bond อย่างเป็นทางการ ในปี 2562 ก่อนหน้านี้ ในเดือนตุลาคม 2563 ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank (“ ADB”) ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้สีเขียวเพื่อโครงการที่มีส่วนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Loan) วงเงิน 183 ล้านเหรียญสหรัฐ กับบริษัท Phu Yen TTP Joint Stock Company (“Phu Yen TTP JSC”) ซึ่งถือหุ้นโดย บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ ในสัดส่วนร้อยละ 80 และ Truong Thanh Viet Nam Group Joint Stock Company (TTVN) ในสัดส่วนร้อยละ 20 เพื่อพัฒนาและดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 257 เมกะวัตต์ ใน ฮว่า ฮอย จังหวัดฟู้เอียน ประเทศเวียดนาม โดยสัญญาเงินกู้ดังกล่าวถือเป็น Green Loan ที่ได้รับการรับรองจาก Climate Bonds Initiative หรือ CBI ครั้งแรกของประเทศเวียดนามและใน CLMVT ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทประสบความสำเร็จในการจัดหาเงินกู้เกือบ 40,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนรวม 7 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตรวม 980 เมกะวัตต์ เพื่อผลิตไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศไทย และไม่ก่อให้เกิดมลพิษมากเกินค่ามาตรฐาน โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน 5 แห่ง สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของบริษัทในการระดมทุนแม้จะมีสถานการณ์ไม่พึงประสงค์จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อ่านเพิ่มเติม : “โนโว นอร์ดิสค์” เร่งลงทุนธุรกิจยา ชิงโอกาสในไทยหลังโควิดไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine