จับออกซิเจนใส่กระป๋องขาย นวัตกรรมคนไทยสู่ตลาดโลก - Forbes Thailand

จับออกซิเจนใส่กระป๋องขาย นวัตกรรมคนไทยสู่ตลาดโลก

เมื่อเส้นทางของช่างภาพแนวธรรมชาติอย่าง “รติ ไอร้อนทราย” มาบรรจบกับแนวคิดธุรกิจในการทำธุรกิจบนพื้นฐานของนวัตกรรม จึงเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ “ออกซิเจนบูสเตอร์ (Oxygen Booster)” ออกซิเจนเสริมบรรจุกระป๋อง ที่มาถูกที่ถูกเวลาในยุคที่คนต้องควักเงินซื้ออากาศไว้หายใจ


    เมื่อน้ำยังบรรจุขวดขายได้ แล้วทำไมอากาศอย่างออกซิเจนจะบรรจุขายไม่ได้ล่ะ? รติ ตั้งคำถามก่อนจะเริ่มทำธุรกิจขายอากาศ และพลันเมื่อสินค้า “ออกซิเจนบูสเตอร์” ของเขาเปิดตัวออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ก็ได้รับการตอบรับจากตลาดค่อนข้างดี

    เหตุหนึ่งเป็นเพราะว่าสุขภาพของผู้คนโดยรวมถูกรุมเร้าจากโรคต่างๆ ที่เกิดจากอากาศ ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดโควิด-19 และมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดจิ๋วอย่าง PM2.5 ที่รบกวนกับระบบการหายใจในช่วงเวลาหลายปีที่ผานมา จนทำให้ความต้องการในผลิตภัณฑ์ออกซิเจนบรรจุกระป๋องค่อยๆ เติบโตขึ้น

    เมื่อเห็นโอกาสนี้ เขาจึงก่อตั้ง บริษัท ไบโอรอว์ เมื่อปี 2562 ร่วมกับ อารยา บัลลังก์ อดีตนักกลยุทธ์บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด การจับมือของทั้งคู่เป็นเสมือนเคมีที่ลงตัว โดยรติ หนุ่มสายอาร์ทผู้เต็มไปด้วยไอเดีย แต่ไร้ประสบการณ์ทางธุรกิจ ขณะที่อารยา คุ้นเคยกับแวดวงธุรกิจและมีประสบกาณ์ธุรกิจกับบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของไทย คอยช่วยตบไอเดียของรติให้กลายเป็นจริงในโลกธุรกิจ พวกเขาลองผิดลองถูกจนได้ออกซิเจนเสริมบรรจุกระป๋อง ภายใต้แบรนด์ “ออกซิเจนบูสเตอร์” ขึ้นมา


    ปัจจุบัน รติ นั่งเป็นกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ขณะที่อารยานั่งเป็นผู้จัดการทั่วไป แต่กระนั้นทั้งคู่ก็ทำงานเกือบทุกอย่างในบริษัท อย่างรติเองต้องงัดประสบการณ์ถ่ายรูปเข้าช่วย ถ่ายสินค้าโปรโมทด้วยตนเอง ซึ่งดูเหมือนว่าเขาจะชอบและสนุกมากกว่าการบริหารบริษัท

    ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของทั้งคู่ก็อยู่ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 พอดิบพอดี การระบาดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายระลอก และเหตุการณ์นี้ได้ทำให้คนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องออกซิเจนเพราะหากขาดออกซิเจนเพียง 4 นาที ก็เสียชีวิตได้ และนี่จึงเป็นที่มาของผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อ “ออกซิเจนบูสเตอร์”

    รติ เป็นบุตรบุญธรรมของ "เจเรมี ริชาร์ด แชนเซลเลอร์ ไอร้อนทราย" นักลงทุนในธุรกิจไบโอเทคโนโลยี ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท Oxford Biodynamics (OBDL) ประเทศอังกฤษ ด้วยความต้องการที่จะสานต่อธุรกิจด้านไบโอเทค จึงต่อตั้งบริษัท ไบโอรอว์ จำกัดขึ้น โดยเส้นทางอนาคตของธุรกิจของบริษัทนั้นเน้นเรื่องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับสุขภาพ โดยเฉพาะยกระดับสมุนไทยด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในระดับสากล เพราะมองเห็นโอกาสทางธุรกิจของสมุนไพรไทย ประกอบกับไทยเป็นดินแดนที่อุดมไปด้วยสมุนไพรนานาชนิด

    “ผมเป็นช่างภาพ ชอบถ่ายรูป แต่ไม่อยากถ่ายรูปไปตลอด อยากสร้างบางอย่างให้กับประเทศไทย ประกอบกับคุณพ่อ เป็นนักลงทุนในธุรกิจไบโอเทคโนโลยี มีโนว์ฮาว มีงานวิจัยต่างๆ จำนวนมาก ถ้าไม่ทำอะไร สิ่งเหล่านี้จะสูญเปล่า จึงเปิดบริษัทไบโอรอว์ขึ้นมาเพื่อพัฒนาและยกระดับวัตถุดิบจากสมุนไพรไทย นำไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและสินค้าเพื่อสุขภาพ” รติกล่าว
สินค้านวัตกรรมต้องมาพร้อมคุณภาพ

    รติ เล่าว่า จากประสบการณ์การเป็นช่างภาพแนวธรรมชาติและท่องเที่ยว มีโอกาสเดินทางไปหลายประเทศ ได้เข้าไปสำรวจสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมการอยู่ การกิน และของใช้ในชีวิตประจำวัน เห็นสินค้าออกซิเจนเสริมวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตในสหรัฐฯ กว่า 10 ปีแล้ว เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับนักกีฬา นักผจญภัย ปีนเขา เดินป่า เป็นต้น ซึ่งออกซิเจนเสริมเข้ามาช่วยให้การท่องเที่ยวแบบผจญภัยสนุกขึ้น และในวันนั้นก็วาดฝันที่อยากจะทำสินค้าประเภทนี้จำหน่ายในเมืองไทย

    ปัจจุบัน เขามองว่า สินค้านี้ถือเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย แม้จะเป็นสินค้าออกซิเจน ที่หาได้ฟรีในอากาศ แต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์จำเป็นต้องสร้างความแตกต่าง เพื่อให้ผู้บริโภคหันมาซื้อออกซิเจนเสริม

    การพัฒนาผลิตภัณฑ์ “ออกซิเจนบูสเตอร์” จึงใช้เวลานานเกือบ 1 ปี กว่าจะวางตลาด ซึ่งขณะนั้นเริ่มมีผลิตภัณฑ์จากจีน ไต้หวัน เข้ามาจำหน่าย แต่ด้วยความตั้งใจของไบโอรอว์ที่ต้องการผลิตสินค้าให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

    จึงเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ออกซิเจนจากผู้ผลิตเยอรมัน ที่เป็นผู้นำในการผลิตออกซิเจนทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์กว่า 130 ปี และเลือกใช้โรงงานบรรจุที่ได้มาตรฐาน GMP จากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

    นอกจากนี้ ออกซิเจนภายในกระป๋องยังได้รับการรับรองคุณภาพจาก Atlantic Analytical Laboratory ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นห้องแล็บที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล Oxygen Booster จึงถือเป็นออกซิเจนเสริมแบรนด์เดียวในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีใบรับรองคุณภาพออกซิเจน

    อารยา กล่าวเสริมว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของออกซิเจนเสริมคือความสะดวกในการใช้งาน ขณะที่ร่างกายต้องการออกซิเจนแบบฉับพลันทันใด ออกซิเจนบูสเตอร์จึงได้ออกแบบมาให้มีฝาครอบเป็นหน้ากากในตัวที่สะดวกในการใช้ เพียงแค่นิ้วกด และออกแบบโค้งเว้าให้รับกับรูปหน้า โดยบริษัทได้ยื่นจดสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองการออกแบบบรรจุภัณฑ์ไว้แล้ว

    “ตลาดนี้ ถือเป็นตลาดใหม่ ยังเป็น Blue Ocean เหมือนตลาดน้ำดื่มเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ใครจะคิดว่าผู้บริโภคจะซื้อน้ำดื่ม ซึ่งในอนาคตอาจมีคู่แข่งเกิดขึ้นในตลาด แต่รูปแบบดีไซน์ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ลูกค้าเลือกซื้อ ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ ขณะที่บรรจุภัณฑ์เราเลือกใช้วัสดุอลูมิเนียมชนิดพิเศษทนแรงดันได้สูง ทำให้เราสามารถบรรจุออกซิเจนได้มากกว่า และลูกค้าไม่ต้องกังวลเรื่องการเกิดสนิมภายในกระป๋อง” อารยาระบุ

    นอกจากนี้ ชิ้นส่วนพลาสติกที่เป็นส่วนประกอบทั้งหมดเป็นชนิดเดียวกับที่ใช้บรรจุอาหาร (Food Grade) ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้าสร้างตลาดออกซิเจนเสริมในไทย ให้เป็นสินค้าสำหรับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย เหมือนน้ำดื่ม คือ แม้จะเป็นสิ่งที่สามารถได้มาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ แต่ขณะเดียวกันก็มีทางเลือกให้สามารถซื้อมาใช้เสริมในชีวิตประจำวัน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมได้เช่นกัน



เล็งขยายตลาดทั่วโลก


รติ กล่าวว่า เป้าหมายของบริษัทในการทำตลาดผลิตภัณฑ์ “ออกซิเจนบูสเตอร์” ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย เพราะแม้ในสหรัฐฯ จะมีผลิตภัณฑ์ออกซิเจนเสริมจำหน่ายมาแล้วกว่า 15 ปี แต่เพิ่งมาบูมในช่วงโควิด-19 ดังนั้นจึงมีโอกาสขยายตลาดได้ทั่วโลก โดยเฉาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งผู้บริโภคมีความเข้าใจถึงประโยชน์ของออกซิเจนค่อนข้างแพร่หลาย โดยในช่วงแรกจะส่งออกสินค้าไปวางจำหน่ายในประเทศเกาหลี เยอรมัน และตะวันออกกลาง ซึ่งบริษัทฯ มีพันธมิตรในประเทศเหล่านี้

    นอกจากนี้ ยังเตรียมเข้าไปขยายตลาดในกลุ่มอาเซียนอีกด้วย โดยปีนี้ บริษัทจะทำการตลาดอย่างจริงจังผ่านโซเชียลมีเดีย และกลุ่มโรงพยาบาล โดยตั้งเป้ายอดขายไว้ 200 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศร้อยละ 60 เปอร์เซ็นต์ และตลาดส่งออก 40 เปอร์เซ็นต์

    ที่ผ่านมา บริษัทเน้นทำการตลาดผ่านบุคคลที่มีชื่อเสียงในกลุ่มผู้รักการออกกำลังกาย และแวดวงกีฬา อาทิ มิสเตอร์ ราฟาเอล มอนเตโร ผู้เชี่ยวชาญด้าน Fitness Training ของทีมชาติไทยและพรีเมียร์ลีก สโมสรฟุตบอลราชบุรี เอฟซี นักปั่นจักรยานทีมชาติไทย นักกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งทีมชาติไทย นักมวย และสำนักงานการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นต้น โดยในปีนี้เตรียมขยายตัวเข้าสู่กีฬา แบดมินตัน เทนนิส จักรยาน และวิ่ง



    สำหรับในปี 2566 บริษัทฯ วางแผนที่จะขยายตลาดไปสู่คุณแม่ตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีอาการหลังโควิด (Post Covid) ซึ่งส่วนใหญ่จะมีภาวะหายใจไม่อิ่ม ส่งผลให้เหนื่อยง่าย และไม่กระปรี้กระเปร่า และท้ายที่สุดคือทุกคนที่ต้องสวมหน้ากากอนามัยออกจากบ้านกันทุกวัน ไม่ว่าจะสวมหน้ากากเพราะป้องกันโควิด หรือ ป้องกัน PM2.5

    หากสวมหน้ากากฯ นานเกินกว่า 30 นาที จะเริ่มรู้สึกมึนงง ไม่สดชื่น เนื่องจากได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่ หากมีระดับออกซิเจนที่ดีอยู่ตลอดเวลา ก็จะเป็นพื้นฐานสำคัญของสุขภาพที่ดีระดับเซลล์ โดยเฉพาะเซลล์สมอง ดังนั้นการมีออกซิเจนเสริมที่สามารถหยิบใช้ได้สะดวก ตลอดเวลา จึงเป็นอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า

    จากสินค้าที่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่มเล็กๆ ที่เน้นเรื่องสุขภาพและการออกกำลังกายเป็นหลักในช่วงแรกๆ ก็เริ่มขยายตัวเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเป้าหมายลึกๆ ของรติและอารยาที่พวกเขาอยากจะเห็นจากนี้คือ ผลักดันให้ “ออกซิเจนบูสเตอร์” ของพวกเขากลายเป็นสินค้า “mass product” เหมือนกับน้ำที่ใส่บรรจุขวดขายอยู่ทุกที่ทุกแห่งในประเทศไทยได้ทำมาแล้ว


อ่านเพิ่มเติม: Wristcheck แพลตฟอร์มนาฬิกาหรูคว้าเงินระดมทุน 8 ล้านเหรียญฯ


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine