จากความสำเร็จในธุรกิจยานยนต์โดยเฉพาะการเป็นตัวแทนจำหน่ายและตั้งโรงงานนิสสัน แต่วันนี้ในยุคที่ยานยนต์สันดาปเริ่มถูกรุกคืบด้วย EV ‘สยามกลการ’ จึงขอประกาศกลยุทธ์ใหม่ คือการสร้างความแข็งแรงให้ธุรกิจหลัก และเสริมความแข็งแกร่งด้วยธุรกิจแห่งอนาคต ได้แก่ Mobility Tech, เวลเนสและการศึกษา, เทคโนโลยีสะอาด, การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และดิจิทัลแพลตฟอร์มและออโตเมชั่น โดยตั้งเป้าใช้งบการลงทุน 9,500 ล้านบาทใน 3 ปี
‘ตระกูลพรประภา’ คืออีกหนึ่งตระกูลมหาเศรษฐีในไทยที่หลายคนคุ้นเคย ชื่อของ ‘พรเทพ พรประภา’ และครอบครัว ครองอันดับ 20 ในทำเนียบ 50 มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2567 ของนิตยสาร Forbes ด้วยทรัพย์สินกว่า 1,350 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่มาของความมั่งคั่งของเขาหลักๆ แล้วมาจากธุรกิจของตระกูลอย่าง ‘สยามกลการ’ ที่ก่อตั้งโดยผู้เป็นบิดาของพรเทพอย่าง ดร.ถาวร พรประภา เมื่อ 72 ปีก่อน
สยามกลการ เริ่มต้นธุรกิจด้วยการค้ารถยนต์ใหม่และเก่า ก่อนที่ต่อมาจะกลายเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์นิสสัน ดัทสันในไทย และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนจำหน่ายรายแรกในตลาดต่างประเทศ หลังจากนั้นสยามกลการได้ก่อตั้งโรงงานประกอบรถยนต์นิสสันแห่งแรกในไทย จนสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว สามารถขยายเป็นโรงงานสำหรับส่งออกด้วย
นอกจากนิสสันแล้ว ‘กลุ่มสยามกลการ’ (Siam Motors Group หรือ SMG) ยังขยายพาร์ทเนอร์ไปสู่บริษัทชั้นนำต่างๆ เช่น โคมัตสุ, ฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์, ไดกิ้น, สยามดนตรียามาฮ่า, สยามยีเอสแบตเตอรี่ และเควายบี และขยายการลงทุนสู่ธุรกิจ SMG Next อาทิ เกีย เซลส์, วอทส์เอ็กซ์, Hitachi Digital Building Solution และสยามสมาร์ทโซลูชั่น
โดยปัจจุบันกลุ่มสยามกลการมีธุรกิจทั้งหมด 6 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์, กลุ่มธุรกิจอะไหล่ชิ้นส่วนรถยนต์, กลุ่มอุตสาหกรรมและเครื่องจักรกลหนัก, กลุ่มการท่องเที่ยวและบริการ, กลุ่มการศึกษาและเครื่องดนตรี และการลงทุน ซึ่งทั้งหมดนี้ครอบคลุมกว่า 69 บริษัท มีรายได้รวมในปีที่มากว่า 7,000 ล้านเหรียญ
แน่นอนว่าการทำธุรกิจย่อมต้องมีการปรับตัวพร้อมวางวิสัยทัศน์เพื่อก้าวไปข้างหน้า ‘กลุ่มสยามกลการ’ ก็เช่นกัน การรุกคืบเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้าย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่ายานยนต์สันดาปแบบเดิมนั้นได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย ด้วยสัดส่วนรายได้ของกลุ่มที่ 52% มาจากธุรกิจยานยนต์ และอีก 28% มาจากธุรกิจอะไหล่ชิ้นส่วนยานยนต์ หรือเรียกได้ว่า 80% ของรายได้มาจากออโตโมทีฟ ทำให้กลุ่มสยามกลการต้องมองหาทิศทางเสริมความแข็งแกร่งด้วยธุรกิจใหม่ๆ มากขึ้น
“แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามา แต่ในตอนนี้ผู้บริโภคบางส่วนก็ยังสนใจรถรูปแบบไฮบริดอยู่ อย่างไรก็ตาม เราอาจต้องมองธุรกิจอื่นๆ ที่มาทดแทนรถยนต์สันดาปที่อาจได้รับผลกระทบจาก EV ด้วย” ประกาสิทธิ์ พรประภา บุตรชายคนสุดท้องของพรเทพ ที่ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามกลการ จำกัด กล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา
ประกาสิทธิ์ เผยอีกว่า กลุ่มสยามกลการได้กำหนดวิสัยทัศน์ SMG 2030 ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ การมุ่งมั่นสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจหลักทั้ง 6 กลุ่ม และเร่งการเติบโตให้กลุ่มธุรกิจใหม่โดยเฉพาะในธุรกิจ SMG Next ซึ่งจะเป็นยุคใหม่ของการสร้างอนาคตให้กับสยามกลการและพันธมิตร
เซบาสเตียน ดูพุย รองผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามกลการ จำกัด กล่าวว่า กลุ่มสยามกลการตั้งเป้าว่าจะใช้งบลงทุนทั้งหมด 9,500 ล้านบาทใน 3 ปี ซึ่งจะเน้นลงทุนไปที่ธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจยานยนต์ใหม่ๆ อย่าง เกีย เซลส์, อุตสาหกรรม, ฮอสพิทาลิตี้, การศึกษา, อาคารสำนักงานและอสังหาฯ, ดิจิทัลแพลตฟอร์ม, เทคโนโลยีสะอาด และการลงทุนอื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้บริษัทมีรายได้เติบโต 20% ภายในปี 2030
เปิดตัวอาคารสยามปทุมวัน เฮ้าส์
สำหรับหนึ่งในธุรกิจที่อยู่ภายใต้วิสัยทัศน์ SMG Next ที่เปิดตัวในงานแถลงข่าวดังกล่าวคือ ‘อาคารสยามปทุมวัน เฮ้าส์’ อาคารสำนักงานระดับพรีเมียมเกรดเอสูง 33 ชั้น ตั้งอยู่บนทำเลทองย่านปทุมวัน มูลค่าการลงทุนกว่า 3,500 ล้านบาท ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2566 ที่ผ่านมา
โดยอาคารสยามปทุมวัน เฮ้าส์ มีความสูงทั้งสิ้น 136 เมตร มีพื้นที่ให้เช่าสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกทั้งหมด 51,000 ตารางเมตร ส่วนการออกแบบได้รับแรงบันดาลใจมาจากแนวคิดโคชิของญี่ปุ่น โดยรวมฟังก์ชันการใช้งานเข้ากับสุนทรียศาสตร์ได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยหน้าต่างบานใหญ่จากพื้นจรดเพดานที่เปิดให้แสงธรรมชาติสามารถส่องเข้ามาในพื้นที่
ตัวอาคารยังมีการผสานสุดยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากฮิตาชิกและไดกิ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสยามกลการ ตั้งแต่ ระบบความปลอดภัย Hitachi Smart Building Platform ที่มีทั้งการจดจำใบหน้า การจัดการการเข้าถึงแบบอัจฉริยะ และการเฝ้าระวังที่ครอบคลุม ในขณะเดียวกัน มีการควบคุมอุณหภูมิภายในอาคารให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมด้วยเทคโนโลยี VRV (Variable Refrigerant Volume) ของไดกิ้น ระบบปรับอากาศแบบศูนย์รวมอัจฉริยะที่มีคอนเดนซิ่งที่ช่วยให้ประหยัดพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ภายในอาคารยังมีพื้นที่ของร้านค้าปลีกมากมายบนชั้นล็อบบี้ (L) ชั้น M ชั้น 5 ศูนย์อาหารบนชั้น 6 และ Club Siam ชั้น 11 (Amenities Floor) ที่บริหารพื้นที่โดย โกลว์ฟิช พันธมิตรของสยามกลการ และผู้ให้บริการสำนักงานสำเร็จรูประดับไฮเอนด์ในเครือเฮอริเทจ เอสเตทส์
สำหรับราคาค่าเช่าพื้นที่ของอาคารสยามปทุมวัน เฮ้าส์ อยู่ที่ 1,000-1,200 บาท/ตารางเมตร/เดือน สำหรับการเช่าพื้นที่เป็นออฟฟิศ ขณะที่ค่าเช่าพื้นที่สำหรับค้าปลีกอยู่ที่ 1,800 บาท/ตารางเมตร/เดือน
โดยปัจจุบันมีอัตราการเช่าอยู่ที่ 54% ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งได้เป็นบ้านให้กับบริษัทชั้นนำหลายแห่ง อาทิ สยามดนตรียามาฮ่า, นิสสัน เทรดดิ้ง, ไดกิ้น, คริสเตียน ลูบูแตง, ฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์, แอกซ่า ประกันภัย, บิวเทรี่ยม, อันเดอร์ อาร์เมอร์ และอีกมากมาย และคาดว่าอัตราการเช่าพื้นที่จะเพิ่มเป็น 75% ได้ในสิ้นปีหน้า
เตรียมสร้างโรงแรม-โรงเรียนนานาชาติ-ดาต้าเซ็นเตอร์-คลังสินค้า
สำหรับแผนธุรกิจในอนาคตของกลุ่มสยามกลการตามที่วางไว้ มีตั้งแต่การเตรียมรีโนเวทอาคารสยามกลการเดิมที่ตั้งอยู่ตรงข้ามสนามกีฬาแห่งชาติ ให้กลายเป็นโรงแรมสูง 19 ชั้น มูลค่าการลงทุน 1,500 ล้านบาท โดยมี Pan Pacific เข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์
นอกจากนี้ บริษัทยังกำลังจะสร้างโรงเรียนนานาชาติที่พัทยา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 3 ปี รวมถึงมีแผนที่จะรีโนเวทคลังสินค้าที่มีอยู่เดิม ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินขนาด 80 ไร่ ตรงบางนา กม. 22 ให้ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งโครงการนี้กำลังเจรจากับพาร์ทเนอร์จากยุโรป
และอีกหนึ่งโครงการที่กำลังเจรจากับพาร์ทเนอร์อยู่คือการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งมองทำเลไว้ในที่ดินขนาด 40-50 ไร่ของกลุ่มสยามกลการที่มีอยู่ 2 ที่ คือ ในนิคมอมตะ จ.ชลบุรี และอีกที่หนึ่งใน จ.ฉะเชิงเทรา
ซึ่งถ้าหากทำได้ตามกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ที่วางไว้ นี่จะเป็นการสร้างความสำเร็จในระยะยาวให้กับกลุ่มสยามกลการนั่นเอง
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘ประณัย พรประภา’ ชู ไลฟ์สไตล์ นิช มาร์เก็ต ก้าวต่อไปของ ‘สยาม แอ็ท สยาม’
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine