‘ประณัย พรประภา’ ชู ไลฟ์สไตล์ นิช มาร์เก็ต ก้าวต่อไปของ ‘สยาม แอ็ท สยาม’ - Forbes Thailand

‘ประณัย พรประภา’ ชู ไลฟ์สไตล์ นิช มาร์เก็ต ก้าวต่อไปของ ‘สยาม แอ็ท สยาม’

ครบ 6 ปีเต็ม ที่ ‘ประณัย พรประภา’ ทายาทคนที่ 3 ของ พินิจ และ กิรติการ พรประภา แห่งกลุ่มสยามกลการ ได้เข้ามาบริหารธุรกิจโรงแรม สยาม แอ็ท สยาม พร้อมปรับคอนเซ็ปต์จากดีไซน์ โฮเทล สู่ไลฟ์สไตล์ โฮเทล พร้อมพัฒนาธุรกิจในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) ช่วงโควิด F&B กลายเป็นหัวใจสำคัญในการประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้ และพร้อมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยแนวคิด “ไลฟ์สไตล์ นิช มาร์เก็ต”


    ‘ประณัย พรประภา’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริษัท สยาม แอ็ท สยาม จำกัด เข้ามาบริหารธุรกิจโรงแรมเครือสยาม แอ็ท สยาม ด้วยวัย 29 ปี ปัจจุบันมีโรงแรมรวม 3 แห่ง ได้แก่ สยาม แอ็ท สยาม กรุงเทพ, สยาม แอ็ท สยาม พัทยา และเมอเวนพิค สยาม นาจอมเทียน แบรนด์ร้านอาหาร ได้แก่ TAAN Paradise lost และ Chim Chim รวมทั้งสนามกอล์ฟ Siam Country Club ซึ่งการวางโพสิชั่นสยาม แอ็ท สยาม ให้เป็นไลฟ์สไตล์ โฮเทล สามารถตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

    “สำหรับผมไลฟ์สไตล์โฮเทล คือศูนย์รวมการใช้ชีวิตต่างๆ ของพื้นที่นั้น โดยมี F&B เป็นหัวใจสำคัญ ให้คนมองว่าการมา Siam@Siam ไม่ได้มานอน แต่มาที่บาร์ มาร้านอาหาร หรือมาทำกิจกรรมต่างๆ ที่นี่ คนเดินทางมาเพราะเรามีบาร์ มีร้านอาหารที่ดี ไม่ได้ต้องเน้นที่การเข้าพักอย่างเดียว ไลฟ์สไตล์โฮเทลเป็นเสมือนศูนย์กลาง โดยมีร้านอาหารดีๆ มากกว่า แล้วเราก็จับตรงนี้ได้เพราะเมื่อปีที่แล้วเราได้รายได้ส่วนใหญ่มาจาก F&B”

    ประณัย กล่าวว่า ตอนเข้ามารับผิดชอบธุรกิจโรงแรมเมื่อหกปีก่อน ได้เข้ามาปรับเปลี่ยน ปีที่สองเริ่มวางกลยุทธ์ในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจได้ดี พอปีที่สามเจอโควิด สำหรับธรุกิจโรมแรมถือว่าได้รับผลกระทบหนักที่สุด รายได้เหลือเพียง 30% ถือว่าหนักที่สุดแล้วสำหรับอุตสาหกรรมโรงแรม โดยเฉพาะพัทยา ชลบุรีที่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ ถือเป็นช่วงเวลาที่ยอมรับว่าเหนื่อยมาก พอเปิดกลับมาในปี 2565 รายได้ก็กลับมาที่ 60%

    “มี Crisis meeting ตลอด ทั้งตอนที่ทำ Hospitel ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่คนที่ทำโรงแรมแล้วมาทำโรงพยาบาลแบบจริงจัง ต้องโน้มน้าวหน้างานว่าเราต้องมาสู้กันต่อ อีกอย่างเราก็มาคิดต่อว่าหลังจากโควิดเราจะปรับยังไง เพื่อให้โรงแรมอยู่รอด การยกระดับ F&B outlet ทั้ง TAAN Paradise lost Chim Chim ซึ่ง Chim Chim เป็นโปรเจ็กต์ที่ทำช่วงโควิดเลย เพื่อให้พนักงานมีงาน การจับกลุ่ม Local Market เพื่อดึงดูดลูกค้าท้องถิ่น” ประณัยกล่าว


สร้างแบรนด์ F&B เจาะนิช มาร์เก็ต

    การขยายธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีของกลุ่มสยามแอ็ทสยาม จากการเก็บดาต้าทำให้เห็นแนวโน้มกลุ่มลูกค้าที่มีคาแร็กเตอร์ต่างๆ มากขึ้น และคนจะมีความต้องการแบบเฉพาะเจาะจง (นิช) ขึ้นเรื่อยๆ

    ประณัย กล่าวว่า อย่างร้าน Chim Chim เป็นการสร้าง Target local market อยากสร้างแบรนด์ให้ชัดเจน ว่าเป็นร้านสำหรับกลุ่มที่ชอบคาเฟ่ ลูกค้าเป็นคนที่สนใจเรื่องกาแฟ คนที่ชอบอาหารฝรั่งที่เน้นวัตถุดิบดีๆ เป็นลูกค้าเก๋ๆ อาจจะไม่ใช่กลุ่มลูกค้าโรงแรม ถ้าตรงกับความต้องการของลูกค้าก็พร้อมที่จะจ่าย


    หรืออย่าง Paradise lost เน้นทำเป็น Sustainibility group เป็นคอมมูนิตี้ที่เป็นกระบอกเสียงคุยเรื่องการรักษ์โลก เป็นธีมบาร์ในยุคที่โลกแตกไปแล้ว ทุกอย่างที่ใช้เป็น Recycle เรามี Cocktail ที่เป็น Rum and coke ซึ่งเป็นโคล่าที่ทำเอง เพราะเราพยายามสื่อว่าถ้าโลกที่แตก มันไม่มีโค้กแล้ว เราเลยสร้างโคล่ามาเพื่อเล่าสตอรี่ผ่านเมนู หรือการใช้ปลากระป๋อง เพราะสื่อว่าในโลกนี้ไม่มีวัตถุดิบแล้ว

    “บาร์เทนเดอร์เราเป็นเหมือนเชฟ คืออยู่ในแล็บ นั่ง Dehydrate ผลไม้ 3 วัน หรือดองอะไร 7-8 วันเพื่อมาทำค็อกเทล พวกกลุ่มที่ชอบค็อกเทล และเข้าใจก็จะเห็นคุณค่าของค็อกเทล 400 กว่าบาท แต่คนที่ชินกับ Rum coke ก็จะผิดทาร์เก็ต ผมเลยมองว่ากลุ่มนิชมีมากพอที่จะสร้างรายได้ และทำให้ธุรกิจยั่งยืนได้” ประณัยยกตัวอย่าง

    หรืออย่าง TAAN เน้นกลุ่มนิชเหมือนกัน เน้นแบบเหมือนกินที่บ้าน หรือกินที่ห้าง เน้นคัดสรรวัตถุดิบจากเกษตรกร ชาวนา ชาวประมงต่างๆ ที่เชฟเดินทางไปเจอ เป็นกลุ่มเกษตรกรที่เน้นเรื่องความยั่งยืน เลี้ยงไก่แบบไม่ใช้ฮอร์โมน ชาวประมงที่ตกกุ้งด้วยเบ็ด ได้คืนละ 8 ตัว เรามองว่าของไทยเรามีดีมาก แต่กลายเป็นวัตถุดิบถูกลืม เลยใช้ธีมวัตถุดิบไทย 100% ทั้งร้านจากเกษตรกลุ่มย่อยพวกนี้ ให้พวกเขามีพื้นที่ในการปล่อยของ จึงเกิดเป็น TAAN ขึ้นมา



    นอกจากนี้ ยังได้แยกตั้งบริษัท Kaleido ขึ้นมา เพื่อพัฒนาแบรนด์ใหม่ๆ ในธุรกิจร้านอาหารออกมาเพิ่มเติม ดูแลทั้งงานครีเอทีฟและงานภาคปฏิบัติการ มีการวางโครงสร้าง ฝึกอบรมพนักงาน เพื่อที่จะได้เปิดแบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มและขยายงานได้ง่ายขึ้น ซึ่งใน 3 ปีข้างหน้าจะมีทั้งโรงแรม และร้านอาหารใหม่ ๆ ออกมาอีก

    “ในปีนี้เรายังไม่ได้มองที่การเติบโต ปีนี้เรามองทุกแบรนด์ที่เราถืออยู่และตั้งเป้าในการยกระดับทุกแบรนด์ให้เป็นไปตามที่เราอยากให้เป็น ส่วนปีหน้าเรามีสองโปรเจ็กต์ที่เรามองไว้ ยังไม่ไฟนอลแต่คิดทำอยู่ แล้วก็มีอีกโรงแรมหนึ่งซึ่งอันนี้เป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ ที่เปลี่ยนตึกเก่ามาเป็นโรงแรม” ประณัยกล่าว


เทคโนโลยี – Data หัวใจสำคัญธุรกิจ

    ประณัย กล่าวว่า พยายามวางแนวทางการดำเนินธุรกิจของ Kaleido แบบใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานตลอดเวลา เพราะการดำเนินธุรกิจหลังโควิดมีความยากขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะคน มีอีกธุรกิจที่ทำคือ CODIUM ที่ทำเรื่อง Digital transformation เกี่ยวกับระบบคลาวด์ เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพมากที่สุด และสามารถควบคุมต้นทุนแรงงานได้ อีกอย่าง คือ Data ที่ต้องนำมาวิเคราะห์ ต้องมอง data ที่ได้รับ ทั้งดีและไม่ดี ต้องแปลความหมาย ไม่ใช่อ่านแค่ผิวเผิน


    “อีกอย่างที่ผมพยายามผลักดันอยู่คือความหลากหลาย ทั้งเชื้อชาติและเพศ เรามีผู้บริหารระดับสูงที่เป็นผู้หญิง ซึ่งในอุตสาหกรรมโรงแรมมีค่อนข้างน้อย เชื้อชาติก็มีทั้งสิงคโปร์ รัสเซีย ในกลุ่มผู้บริหาร อีกอย่างหนึ่งที่ก็พยายามผลักดันคือเรื่องของมาตรฐานที่สูง ซึ่งก็ยังผลักดันในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เน้นมาตรฐานที่ดีตลอดเวลา” ประณัยระบุ

    สำหรับรายได้ในปีนี้ สยามแอ็ทสยาม กรุงเทพ ตั้งเป้าเติบโตที่ 34% ซึ่งในส่วน F&B ที่ถือเป็นกลยุทธ์ใหม่ ภายใต้สโลแกนที่ว่า “Rooms. Restaurants. Bars. Fun.” เราไม่ได้เป็นแค่โรงแรมแต่เป็นศูนย์กลางที่มีทั้งร้านอาหาร บาร์ ห้องพัก ร้านอาหารทุกร้านต้องให้ความรู้สึกว่าเป็นร้านสแตนด์อะโลน

    ส่วนธุรกิจสนามกอล์ฟ Siam Country Club กรุงเทพฯ ที่เปิดบริการเมื่อต้นปี 2565 ค่อนข้างดีเพราะโควิดทำให้ตลาดกอล์ฟทั่วโลกเติบโตขึ้น ล่าสุดได้คุยกับ LPGA ที่เกาหลี ช่วงหลังโควิดที่ผ่านมา เขาบอกว่าประชากร 50 ล้านคน 10 ล้านคนตีกอล์ฟ หรือคิดเป็นประมาณ 20% อย่างในประเทศไทยกอล์ฟเติบโตขึ้นเช่นเดียวกัน

    “การทำธุรกิจในยุคนี้ เราต้องปรับตัวและมีปฏิกิริยาที่รวดเร็วต่อสถานการณ์ อย่างตอนนี้คนมีความนิชขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับโควิดก็ได้แต่มันเป็นเทรนด์ ตอนนี้กลุ่มย่อยของคนมีเยอะขึ้น คนชอบอะไรที่แมสน้อยลง ชอบความเฉพาะทางมากขึ้น เราก็พยายามสร้างสรรค์อะไรที่เฉพาะทาง ซึ่งผมชอบที่จะไปเจออะไรใหม่ๆ การเดินทางคือการเรียนรู้ ผมชอบดูว่าที่ไหนเป็นยังไง มีเทรนด์อะไรบ้าง อีกอย่างที่ผมคุยกับทีมเสมอ คือเราต้องมี Learning Culture ตลอดเวลา ผมอยากให้ทุกคนมีมายด์เซ็ตว่าเราไม่ได้รู้ทุกอย่าง และทุกอย่างเปลี่ยนไปเร็วมาก เราต้องเรียนรู้และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา” ประณัยกล่าวทิ้งท้าย


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ก้องภพ เอื้อศิริทรัพย์ จากเด็กสถาปัตย์ จุฬาฯ สู่ ‘นับเงิน กรุ๊ป’ เจ้าของ KIKI ลักชัวรี ซาลอน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine