KCAR โชว์กำไรสูงสุด สวนตลาดรถเช่า-มือสองซบ - Forbes Thailand

KCAR โชว์กำไรสูงสุด สวนตลาดรถเช่า-มือสองซบ

กรุงไทย คาร์เร้นท์ฯ โชว์กำไรสูงสุดในอุตสาหกรรมรถเช่า รถมือสอง สวนกระแสตลาดภาพรวม 30,000 ล้านบาท หดตัวลงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ชูกลยุทธ์ “Service and Quality Exellence” สร้างความต่าง สร้างความมั่นใจลูกค้า ขณะที่แนวโน้มตลาดรถมือสองราคาตกลงต่อเนื่อง ถูกรถอีวีแย่งตลาด คาดปี 2568 ฟื้นตัว เตรียมงบลงทุนอีก 2,000 ล้านบาท ขยายพอร์ตรถยนต์เพิ่ม คาดรายได้-กำไรโตต่อเนื่อง


    พิชิต จันทรเสรีกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงไทย คาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส จำกัด (มหาชน) หรือ KCAR ผู้ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมรถเช่าและรถมือสองกว่า 20 ปี เปิดเผยว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมรถเช่าและรถมือสองในปีที่ผ่านมาหดตัวลง โดยอุตสาหกรรมรถเช่ามีมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มขนส่ง (Logistics) แต่มีการเติบโตในกลุ่มลูกค้าที่ธุรกิจฟื้นตัวจากโควิด

    ขณะที่ตลาดรถยนต์มือสองได้รับผลกระทบจากสถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการให้สินเชื่อ หนี้เสียและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทำให้ตลาดรถยนต์มือสองขายยากขึ้น และราคาตกลงถึง 30%



    “รถอีวีเข้ามาเปลี่ยนโครงสร้างของตลาดรถในประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง ปีนี้ รถอีวียังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอีก จากแนวโน้มราคาที่ลดลง รวมถึงเทคโนโลยี และความประหยัดเรื่องราคาพลังงาน ทำให้คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเพิ่มขึ้น รวมถึงเซกเมนต์ระดับบน ก็ถูกรถอีวีอย่างเทสล่าแย่งตลาดไปพอสมควร ทำให้ตลาดรถมือสองได้รับผลกระทบ” พิชิตกล่าว “อย่างไรก็ตาม การใช้รถอีวียังมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาทั้งเรื่องสถานีชาร์จ ระยะทาง และการการันตี ยังมีภาพที่ไม่ชัดเจนนัก ต้องรออีก 3 – 5 ปี ว่าเทคโนโลยีและความต้องการของผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร”

    อย่างไรก็ตาม คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันให้ความสนใจเช่ารถยนต์ไฟฟ้าสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันมากกว่าซื้อ ด้วยเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่ในตลาดรถมือสองอีวียังน้อย โดยมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาเรื่องการรับประกัน โดยเฉพาะแบตเตอรี่ที่มีราคาสูง ทำให้ผู้ซื้อกังวลภาระที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับในธุรกิจรถเช่าสำหรับองค์กรมีความต้องการพอสมควร แต่ยังไม่มากนัก

    พิชิต กล่าวว่า สำหรับตลาดรถยนต์มือสองน่าจะตกลงไปต่ำสุดแล้ว โดยราคาตกลงถึง 30% คาดว่าในปี 2568 ตลาดจะกลับมาฟื้นตัว และมีดีมานด์กลับเข้ามา เพราะหากเทียบค่าครองชีพของคนไทยกับราคารถใหม่ ยังมีช่องว่างที่ค่อนข้างสูง จึงเป็นโอกาสของตลาดรถยนต์มือสอง ซึ่งในปีนี้บริษัทเตรียมงบลงทุนราว 2,000 ล้านบาท สำหรับขยายพอร์ตรถยนต์ทั้งธุรกิจให้เช่า และรถยนต์มือสอง โดยปัจจุบันมีรถยนต์ในพอร์ตประมาณ 9,000 คัน มีลูกค้าองค์กรเช่าดำเนินงานประมาณ 1,200 คัน โดยบริษัทมีศูนย์บริการทั่วประเทศกว่า 1,000 แห่ง


กำไรสูงสุดในอุตสาหกรรม

    พิชิต กล่าวว่า แนวโน้มรายได้และกำไรของ KCAR ในปี 2566 คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีรายได้รวม 2,280.2 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 183.2 ล้านบาท เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดียวกัน KCAR มีอัตรากำไรสุทธิสูงสุดเป็นอันดับ 1 ที่ 4% ขณะที่มีสินทรัพย์รวมเป็นอันดับ 8 มูลค่า 5,700 ล้านบาท โดยสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (DE) ต่ำสุดที่ 1.5 เท่า

    นอกจากนี้กำไรจากการขายรถงวด 9 เดือนของปี 2566 เพิ่มขึ้น 58% สะท้อนถึงการควบคุมต้นทุนการดำเนินงานที่ดี ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจ และองค์ประกอบอื่น ๆ ที่สร้างความแตกต่างจากผู้ดำเนินธุรกิจรายอื่น



    KCAR ผู้ดำเนินธุรกิรรถเช่า ที่มีวิสัยทัศน์มุ่งเน้นการบริการและคุณภาพเป็นเลิศ “Service and Quality Exellence” เน้นกลยุทธ์การบริหารองค์กรแบบ OPTIMUM สร้างการเติบโตอย่างสมดุลระหว่างการเติบโต กำไร การบริหารความเสี่ยง และผู้มีส่วนได้เสียเพื่อมุ่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

    “ตลาดรถเช่า รถมือสอง เป็นธุรกิจที่เข้ามาง่าย ไม่มีอุปสรรค แต่เป็นตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ ทำให้ยาก และเป็นธุรกิจที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก เรามองตัวเองว่าเป็นธุรกิจบริการ ไม่ใช่ธุรกิจรถเช่า ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับรายละเอียดต่าง ๆ ในการบริการทุกด้าน ตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่การซื้อรถ การซ่อมบำรุง การบริหารซัพพลาย ทำให้ลูกค้าเห็นความแตกต่าง ทำให้เราเติบโตต่อเนื่อง และมีกำไรสูงอย่างสม่ำเสมอ” พิชิตอธิบาย

    ปัจจุบัน มูลค่าตามราคาตลาดของ KCAR อยู่ที่ 2,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100% จากปี 2548 ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วยมูลค่าประมาณ 1,100 ล้านบาท โดยราคาหุ้นไม่เคยต่ำกว่า IPO และมีปันผลตอบแทนอยู่ที่ 5% ต่อปี KCAR เป็นบริษัทที่ไม่เคยขาดทุนตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์ แม้จะผ่านช่วงวิกฤตเศรษฐกิจและโควิดที่ผ่านมา และมีกำไรสะสมเพิ่มขึ้นทุกปี และปี 2567 นี้ คาดว่ารายได้และกำไรจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10%


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : นนทกร จิตตมานนท์กุล ต่อยอด พี.อี. เทคนิค สร้างแบรนด์อะไหล่รองรับ “EV”

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine