อาเธอร์ ดี. ลิตเติล บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการระดับโลก มองไทยเผชิญ 5 ปัจจัยท้าทาย ผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าถึงเป้าหมาย ขณะที่กลุ่มปตท. นำโดย ฮอริษอน พลัส คิกออฟลงทุนโรงงานผลิตอีวี มูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท ตั้งเป้าผลิต 150,000 คัน ในปี 2573
ฮิโรทากะ อุชิตะ ประธานบริหารและผู้อำนวยการ ประจำอาร์เธอร์ ดี. ลิตเติล ประเทศไทย (ADL) กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างมาก หากประเทศต้องการรักษาตำแหน่ง “ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งเอเชีย” เอาไว้และดึงเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกกำลังให้ความสนใจเทรนด์การลงทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งขับเคลื่อนโดยเป้าหมายในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการผลิต EV ของตลาดทั่วโลกที่มาแข่งขันกับประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน อเมริกาเหนือ และตะวันออกกลาง เป็นต้น
ทั้งนี้ ADL ได้จัดทำดัชนีชี้วัดความพร้อมด้านการขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าทั่วโลก (Global Electric Mobility Readiness Index - GEMRIX) จากการวิเคราะห์ตลาดยานยนต์ใน 15 ประเทศ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพิ่มสูงมากขึ้นทั่วโลก และประเทศไทยอยู่อันดับที่ 9 ในด้านความพร้อมของตลาดสำหรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
ประเทศไทยได้ประกาศแผนผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนการวางจุดยืนในอุตสาหกรรมยานยนต์ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยมลภาวะทางอากาศอีกด้วย
แต่แม้ว่ารัฐบาลไทยจะออกมาตรการกระตุ้นและการออกกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนการเติบโตของตลาด แต่อัตราการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในไทยยังถือว่าต่ำอยู่ รายงานของ อาร์เธอร์ ดี. ลิตเติล ได้ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยต่างๆ ที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญ ซึ่งมีความท้าทาย 5 ประการ คือ
1. การเปลี่ยนผ่านที่เป็นไปได้ของไทยในการใช้พลังงานหลายรูปแบบและการเปลี่ยนฐานของซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนยานยนต์ 2. ความสามารถในการแข่งขันในซัพพลายเชนของแบตเตอรี่ 3. การผลักดันเชิงกลยุทธ์ของไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จ 4. ความตระหนักรู้ของลูกค้าไทยเกี่ยวกับความเป็นกลางทางคาร์บอนและ EV และ 5. ศักยภาพของ EV ไทยในตลาดส่งออก
อัคเชย์ ปราสาด ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายอุตสาหกรรมยานยนต์และการผลิต อาร์เธอร์ ดี. ลิตเติล ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า วิวัฒนาการของอุตสาหกรรม EV ไทยจะขึ้นอยู่กับผู้เล่นในอีโคซิสเต็ม เนื่องจากฐานความต้องการในไทยยังมีจำกัดและเงื่อนไขในฝั่งของอุปทานก็ยังไม่น่าพึงพอใจ
ด้วยเหตุนี้ ผู้เล่นในอุตสาหกรรมต้องร่วมมือกันทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) นอกจากนี้ เทรนด์ระบบไฟฟ้าในไทยสร้างโอกาสให้ผู้เล่นท้องถิ่นและสตาร์ตอัปสามารถก่อตั้งแบรนด์ EV ของตนเอง ซึ่งอาจเป็นการพลิกเกมในวงการยานยนต์ไทยในอนาคต ซึ่งจวบจนปัจจุบัน ยังต้องพึ่งพาแบรนด์และผู้เล่นจากต่างประเทศอยู่
กลุ่มปตท. คิกออฟโรงงานผลิตอีวี
เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท ฮอริษอน พลัส จํากัด (HORIZON PLUS) เกิดจากการผสานความร่วมมือระหว่าง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) ผู้ดำเนินธุรกิจด้านระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร หนึ่งในกลุ่มธุรกิจใหม่ของ ปตท. กับ Hon Hai Precision Industry Co., Ltd. (FOXCONN) ผู้นำเทคโนโลยีนวัตกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก
ได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์ โรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าบนพื้นที่ 313 ไร่ ณ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ อําเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี มูลค่าลงทุนกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 30,000 ล้านบาท
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ทศพร สิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภารกิจสำคัญของ ปตท. คือการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดในอนาคต การลงทุนและพัฒนาระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้าที่ยั่งยืนถือเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจของ ปตท.
พิธีวางศิลาฤกษ์ของ HORIZON PLUS ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ด้วยโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรที่ลงทุนร่วมกับ FOXCONN จะเป็นรากฐานที่ต่อยอดไปยังการพัฒนาส่วนอื่นๆ ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ เช่น การผลิตชิ้นส่วนที่สำคัญ การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของผู้ประกอบการไทยในห่วงโซ่อุปทานจากเครื่องยนต์สันดาปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า
ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ HORIZON PLUS กล่าวว่า บริษัท HORIZON PLUS ถูกออกแบบ ภายใต้แนวคิด BOL (Build-Operate-Localize) ซึ่งนำเทคโนโลยีระดับโลกมาดำเนินการออกแบบก่อสร้างและทั้งการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและ Supply Chain ในท้องถิ่น
โดยบริษัทใช้เงินลงทุนกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กำลังการผลิตเริ่มต้น 50,000 คันต่อปี และจะขยายเป็น 150,000 คันต่อปี ในปี 2573
ทั้งนี้ การก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จสามารถเริ่มการผลิตและส่งมอบรถอีวี ได้ในปี 2567 ทำให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้และการจ้างงานที่ต้องใช้ทักษะสูงจำนวนกว่า 2,000 อัตรา โดยปัจจุบันบริษัทมีความพร้อมที่จะให้บริการค่ายรถอีวีที่สนใจด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ลดระยะเวลาในการพัฒนาและลดต้นทุนการผลิต ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคตามมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV3)
ประเทศไทย จะบรรลุเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ตั้งไว้ 1.123 ล้านคันภายในปี 2573 ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการสร้างอุปสงค์และการพัฒนาอุปทานในประเทศ ซึ่งเบื้องต้น ADL คาดว่ายอดขาย EV ในไทยคาดว่าจะเพิ่มจาก 1,572 คันในปี 2563 เป็นราว 831,161 คันในปี 2573
อ่านเพิ่มเติม: ThaiBev เปิดตัว Chang Unpasteurized เสริมแกร่งพอร์ตเบียร์และเติมสีสันให้ตลาด
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine