ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สตาร์ทอัพในวงการอาหารที่หลายคนพูดถึงคือ Beyond Meat และ Impossible Foods สองบริษัทผู้ผลิต “เนื้อจากพืช” ที่ทั้งคู่ต่างยืนยันว่าสินค้าของพวกเขามีรสชาติเหมือนเนื้อสัตว์ไม่มีผิดเพี้ยน ช่วยกระตุ้นความอยากรู้อยากลองของผู้บริโภค พร้อมๆ กับความต้องการเมนูทางเลือกที่เพิ่มขึ้นด้วย
ความต้องการนี้ไม่เพียงทำให้ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดอย่าง Carl’s Jr. และ Burger King ต้องเกาะเทรนด์ด้วยการเปิดตัวเบอร์เกอร์มังสวิรัติที่ใช้วัตถุดิบจาก 2 สตาร์ทอัพดังกล่าวเท่านั้น แต่ร้านอาหารทั่วไป (independent restaurant) อื่นๆ เช่น ร้าน Harlem Public ในมหานคร New York ก็ยังเพิ่มเติมเมนู "เนื้อจากพืช" หรือเนื้อทางเลือก เข้ามาในร้านด้วย
“การมีทางเลือกเป็นเนื้อจากพืชนั้นมีความหมายกับผู้บริโภคมาก” Christina Donahue ประธาน Dining Alliance ซึ่งเป็นองค์กรที่รวมกลุ่มร้านอาหารเพื่อจัดซื้อวัตถุดิบในราคาถูกกว่าท้องตลาด กล่าว และว่า Dining Alliance เป็นกลุ่มผู้ซื้อเนื้อทางเลือกรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ และนำไปใช้ในร้านอาหารจำนวนมาก โดยเป็นการซื้อในนามร้านอาหารทั่วไปกว่า 18,000 ร้าน ซึ่งเป็นร้านที่มีสาขามากกว่า 10 สาขา
“เนื้อจากพืช เป็นสิ่งที่ช่วยให้ร้านอาหารดูพรีเมี่ยมมากขึ้น ทั้งยังช่วยเพิ่มจำนวนลูกค้ากลุ่มใหม่ได้อีกด้วย” Donahue กล่าว
ไม่เพียงแต่ภัตตาคารทั่วไปที่ใช้เนื้อจากพืชเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ในบริการด้านอาหารอื่นๆ ซึ่งรวมถึงในอุทยานแห่งชาติ Yellow Stone และมหาวิทยาลัยมิชิแกนก็ใช้เนื้อชนิดนี้เพิ่มขึ้นด้วย โดยสัดส่วนการใช้เนื้อจากพืชในปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเกือบ 4 เท่า ขณะที่ปี 2018 มีการใช้เนื้อจากพืชเพิ่มขึ้นจากปี 2017 ถึง 22%
Donahue กล่าวอีกว่า ดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นของ Beyond Meat และ Impossible Food นำไปสู่การเติบโตของทั้ง 2 บริษัท โดย Beyond Meat นั้นเพิ่งเข้าตลาดหุ้นไปไม่นาน และคู่แข่งอย่าง Impossible Food ที่เพิ่งระดมทุนได้ 300 ล้านเหรียญ ก็กำลังถูกจับตามองในการเปิดขายหุ้นสามัญแก่ประชาชน (IPO) เป็นครั้งแรก โดยทั้ง 2 บริษัทต่างมีนักลงทุนรายใหญ่ให้ความสนใจ รวมถึง Bill Gates ก็ถือหุ้นในสองบริษัทนี้ด้วย
นอกจากนี้ ทั้งสองแบรนด์ยังพยายามดันสินค้าของตัวเองเข้าสู่ซูเปอร์มาร์เก็ตหลักด้วยเช่นกัน
“หลายปีก่อนหน้านี้ หากร้านของคุณมีทางเลือกเป็นเมนูมังสวิรัติ คุณก็แค่ต้องดูแลลูกค้าบางรายเพิ่มเป็นพิเศษ แต่ตอนนี้เทรนด์ที่เห็นได้ชัดคือ คนที่ไม่ได้กินมังสวิรัติก็อยากลองกินเนื้อจากพืชด้วย ขณะที่ผู้กินมังสวิรัติก็มีทางเลือกอื่นเพิ่มเติม และผู้บริโภคก็พร้อมจ่ายมากขึ้น” Donahue กล่าว
จากรายงานของบริษัทวิจัยตลาด NPD Group พบว่า หลังจากยอดขายเมนูเบอร์เกอร์และแซนด์วิชมังสวิรัติของร้านอาหารในสหรัฐอเมริกาลดลง 10% ในปี 2015 ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี และเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 7.8% ในช่วงมีนาคม 2018-มีนาคม 2019
ขณะเดียวกัน บริษัทวิจัยตลาดอย่าง Euromotor รายงานว่า ยอดขายเนื้อทดแทนในอุตสาหกรรมอาหารบรรจุห่อ (packaged food industry) ซึ่งรวมถึงเนื้อจากพืชแช่แข็งและเนื้อจากพืชแบบสด ในปี 2013-2018 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 15.4% แซงหน้ายอดขายเนื้อแปรรูปที่เฉลี่ยโตปีละ 1.2% ในช่วงเวลาเดียวกัน
ด้านรายงานของ Dining Alliance ยังระบุอีกว่า ความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้นยังทำให้ราคาเนื้อทางเลือกเพิ่มขึ้นเร็วกว่าอาหารประเภทอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยราคาเนื้อจากพืชเฉลี่ยที่ร้านอาหารซื้อเพิ่มขึ้น 29% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การเติบโตอย่างรวดเร็วของเนื้อทดแทนจะทำให้มองเห็นแนวโน้มที่สดใสของธุรกิจนี้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าบริษัทผู้ผลิตอย่าง Beyond Meat และ Impossible Foods จะทำให้ราคาเนื้อจากพืชถูกลงกว่าเนื้อสัตว์ได้ในความเป็นจริง อย่างน้อยก็ในอนาคตอันใกล้นี้ โดยรายงานของ Dining Alliance ระบุว่า ถึงแม้ดีมานด์เนื้อทดแทนจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่ก็ยังมีสัดส่วนเพียง 0.1% ของเนื้อทั้งหมดที่ใช้ในร้านอาหารเท่านั้น
ข้อมูลจาก Euromotor ยังระบุอีกว่า ยอดขายเนื้อทดแทนบรรจุห่อยังมีสัดส่วนไม่ถึง 5% ของยอดขายเนื้อแปรรูป (processed meat) ทั้งหมด
“คนกินเนื้อจะกินเนื้อจากพืชมากกว่าครั้งเดียว แต่เนื้อจากพืชคงมาแทนเนื้อสัตว์ไม่ได้” Donahue กล่าว และว่า “ผู้คนต้องการทางเลือกมากขึ้น และเนื้อจากพืชก็เป็นทางเลือกที่ยอดเยี่ยมสำหรับผู้กินเนื้อสัตว์ แต่ฉันไม่คิดว่าจะมาแทนเบอร์เกอร์แบบเดิม และในที่สุดการเติบโตก็จะช้าลง”
กระนั้น หากมองเฉพาะในปัจจุบัน ความเป็นจริงคือเนื้อจากพืชมีโอกาสเติบโตในตลาด
โดยยักษ์ใหญ่ในวงการอาหารอย่าง Congara ซึ่งเป็นเจ้าของสินค้าหลายแบรนด์ด้วยกัน อาทิ Healthy Choice และเนื้อแช่แข็งอย่าง Marie Callender กล่าวว่า ยอดขายเนื้อทดแทนที่ทำจากพืชของบริษัทอย่างแบรนด์ Gardien นั้นเพิ่มขึ้นสองเท่า และเป็นเบอร์ 2 ของตลาด รองจากแบรนด์ Morningstar ของ Kellogg ที่ได้เปิดตัวสินค้าใหม่และทำกลยุทธ์การตลาดเพิ่มรับการแข่งขันที่สูงขึ้น
“โอกาสการของตลาดเนื้อทดแทนไม่ควรถูกมองเป็นแค่เปอร์เซ็นต์จากตลาดเนื้อสด แต่ควรคิดเปอร์เซ็นต์จากอาหารทั้งหมดที่มีเนื้อเป็นส่วนประกอบ” Sean Connolly ประธานบริหารและซีอีโอ Congara กล่าว และว่า “เนื้อทดแทนที่ทำจากพืชสามารถกินส่วนแบ่ง 15% ของตลาด 2 เซกเมนต์นี้ได้ ซึ่งแค่ในสหรัฐอเมริกาก็มีมูลค่า 3 หมื่นล้านเหรียญเลยทีเดียว”
Connoly ระบุอีกว่า สำหรับยอดขายของ Gardien นั้นเพิ่มขึ้น 4 เท่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดมียอดขายรวมกว่า 170 ล้านเหรียญ โดยมองว่าโอกาสของเนื้อจากพืชยังขยายไปได้มากกว่าการเป็นเบอร์เกอร์มังสวิรัติ แต่ยังสามารถเป็นทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับเมนูเนื้อไก่, หมู, ฮอตด็อก และปลาได้ในอนาคต
ที่มา แปลและเรียบเรียงโดย กนกวรรณ มากเมฆ / Online Content Creatorไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine