ท็อปส์ เห็นโอกาสโกยเงินจากสินค้า Own Brand หลังตลาดธุรกิจในไทยมีมูลค่าสูงถึง 38,000 ล้านบาท เตรียมแตกไลน์สินค้าใหม่กว่า 500 รายการ เล็งส่งออกไปตลาดต่างประเทศเพิ่มอีก 5 ประเทศ พร้อมตั้งเป้าปี 68 รายได้จากการขยายพอร์ตสินค้า Own Brand โตขึ้น 20%
ท็อปส์ ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ได้แสดงข้อมูลของตลาดสินค้า Own Brand ในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ที่มีมูลค่ากว่า 38,000 ล้านบาท เติบโตถึง 11.3% ในปี 2567 ที่ผ่านมา ถือเป็นการเติบโตที่มากกว่าตลาด FMCG (สินค้าอุปโภค-[บริโภค) ซึ่งอยู่ที่ 5.2% อ้างอิงจาก Nielsen
แต่ทั้งนี้ หากดูจากสัดส่วนของตลาด Own Brand ในประเทศไทยแล้ว มีการเติบโตอยู่ที่ 4% และเอเชียเพียง 7% เท่านั้น ขณะที่ตลาด Own Brand ทั่วโลกมีสัดส่วนสูง 22% และยุโรปมีสัดส่วนสูงถึง 39% นี่จึงสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสการเติบโตของธุรกิจดังกล่าวได้อีกมหาศาล
ธนวัตร จิรจริยาเวช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการพาณิชย์ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล เผยว่า เป็นเวลากว่า 23 ปี ที่ท็อปส์ได้มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มสินค้า Own Brand เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง
โดยปัจจุบันมีแบรนด์สินค้ากว่า 80 แบรนด์ ครอบคลุม 110 ประเภทสินค้า รวมกว่า 5,000 รายการ ทั้งในกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค ซึ่งวางจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ จีน สิงคโปร์ (จำหน่ายผ่านเครือข่ายของแฟร์ไพรซ์ กรุ๊ป) เวียดนาม กัมพูชา และสวิตเซอร์แลนด์
“ปีนี้เรามีแผนแตกไลน์สินค้าใหม่เพิ่มกว่า 500 รายการ เล็งส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศเพิ่มอีก 5 ประเทศ โดยจะเน้นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตสูงในภูมิภาคอาเซียน เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย รวมถึงการขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียและยุโรป หลังประสบความสำเร็จในการจำหน่ายและส่งออกสินค้า Own Brand ซึ่งเป็นแบรนด์ต่างๆ ที่ผลิตขึ้นเอง อาทิ แบรนด์ My Choice, TOPS และ SmarteR เป็นต้น พร้อมตั้งเป้าปี 2568 หลังการขยายพอร์ตธุรกิจรายได้จะเติบโตเพิ่มขึ้น 20%” ธนวัตร กล่าว

ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าสินค้า Own Brand ที่ผลิตออกมาเลียนแบบแบรนด์อื่นที่ผู้บริโภคนิยมเลือกซื้อจะไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก เนื่องจากการผลิตและคุณภาพของสินค้าที่ทำออกมาไม่ได้มาตรฐาน แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน ที่ผู้บริโภคหันมาระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น จึงเลือกมองหาแบรนด์ที่มีราคาเหมาะสม และคุณภาพดีเป็นหลัก ทางท็อปส์จึงเลือกพัฒนาผลิตสินค้าต่างๆ ออกมาตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
ยกตัวอย่างสินค้า ‘ข้าวหอมมะลิ’ ที่เป็น Own Brand ของท็อปส์ได้สร้างยอดขายเป็นอันดับ 1 แซงหน้าแบรนด์อื่นทั่วไป ต่อเนื่องไปถึง น้ำดื่ม กระดาษชำระ น้ำยาล้างจาน และผงซักฟอก ที่ผลิตออกมาด้วยคุณภาพดี ราคาไม่แพง ผู้บริโภคยุคใหม่โดยเฉพาะกลุ่มคน Gen Y และ Gen Z ที่ไม่ยึดตึดแบรนด์ แต่เน้นความคุ้มค่าเป็นหลัก จึงนิยมเลือกซื้อใช้
นอกจากนี้ สินค้ารังนกจากแบรนด์ My Choice ยังเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ที่ส่งไปจีน, ขนมไทย เช่น ทองม้วน และผลไม้อบแห้ง นิยมส่งออกไปสิงคโปร์, ถั่วอบแห้งประเภทต่างๆ อย่าง แมคคาเดเมีย ก็นิยมส่งออกไปเวียดนาม เป็นต้น

สำหรับแผนการขับเคลื่อนกลุ่มสินค้า Own Brand ของท็อปส์มี 4 กลยุทธ์ ได้แก่ ’T-O-P-S’
T - Trusted Quality : การเป็นแบรนด์สินค้าที่มีคุณภาพน่าเชื่อถือ ด้วยมาตรฐานสินค้าในระดับประเทศและระดับสากล อาทิ มาตรฐานรับรองคุณภาพออร์แกนิก (USDA Organic, EU Organic, CERES), มาตรฐานคุณภาพส่งออก เช่น เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย ตราสัญลักษณ์รวงข้าว โดยกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ทั้งหมดได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตและคุณภาพตามเกณฑ์ของหน่วยงานภาครัฐ
พร้อมทั้งเตรียมยกระดับคุณภาพของสินค้า Own Brand ของท็อปส์ให้ได้รับการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
O - Offer Variety : นำเสนอทางเลือกของสินค้าทั้งอุปโภคและบริโภคภายใต้แบรนด์ที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองต่อผู้บริโภคในทุกๆ เซกเมนต์ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักได้แก่
1. Specialized brands จำนวน 69 แบรนด์ ครอบคลุมสินค้า 707 รายการ เน้นที่หมวดหมู่ผลิตภัณฑ์เฉพาะที่นำเสนอสินค้าคุณภาพสูงในราคาที่เข้าถึงได้
2. Core brand จำนวน13 แบรนด์ ครอบคลุมสินค้า 2,166 รายการ เน้นกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้แบรนด์ TOPS และ
3. Premium brands จำนวน 3 แบรนด์ ครอบคลุมสินค้า 2,130 รายการ เน้นหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ที่มีความพรีเมียม คุณภาพสูง คัดสรรจากแหล่งผลิตต้นกำเนิดทั้งไทยและต่างประเทศ ภายใต้แบรนด์ My Choice พร้อมตั้งเป้าขยายไลน์สินค้าเพิ่มกว่า 500 รายการในปี 2568 นี้
P - Preferred Choice : ปักหมุดเป็นแบรนด์สินค้าอุปโภคและบริโภคอันดับหนึ่งที่ลูกค้าไว้วางใจ ผ่านการพัฒนาและยกระดับแบรนด์หลักอย่าง My Choice (มาย ช้อยส์) TOPS (ท็อปส์) และ SmarteR (สมาร์ตเตอร์) ให้แข็งแกร่ง เพื่อให้กลายเป็นแบรนด์ที่ลูกค้าให้การยอมรับ บอกต่อ และเชื่อมั่นในคุณภาพ
S - Sustainability by design : ตอกย้ำ Green & Sustainable Food Retail ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนตั้งแต่กระบวนการผลิตสินค้า เพื่อสร้างความมั่นใจว่าทั้งผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์สินค้าOwn Brand ของท็อปส์ นั้นมีส่วนช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

โดยปัจจุบันท็อปส์ได้พัฒนาแบรนด์ SmarteR ให้เป็นสินค้าแบรนด์หลักด้านความยั่งยืน อาทิ SmarteR ถุงขยะรักษ์โลก และ SmarteR จานกระดาษรักษ์โลก ซึ่งผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ในปี 2567 ท็อปส์ได้ดำเนินการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์สินค้า My Choice เชอรี่ ที่สามารถย่อยสลายได้และไม่เคลือบพลาสติก 100%สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 30 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
อย่างไรก็ตาม ท็อปส์ ยังมุ่งขับเคลื่อนและยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย ด้วยการสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจอย่างหลากหลาย โดยหนึ่งในตัวอย่างชุมชนที่ประสบความสำเร็จคือ กลุ่มเมล่อนหมู่ใหญ่ร่วมใจพัฒนาต.คู้สลอด อ.ลาดบัวหลวง จ.อยุธยา กลุ่มผู้ผลิตเมล่อน แบรนด์ ‘Smile Melon’

นำโดย คุณสวาท สุขนุ่ม โดยท็อปส์เข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่การพัฒนาโรงบรรจุและโรงเรือน ไปจนถึงการสร้างศูนย์ปลูกเมล่อนที่ได้มาตรฐาน ทั้งด้านคุณภาพผลผลิต ขนาดและรสชาติ จนได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP
นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านตลาด 'จริงใจ FARMERS' MARKET' และยกระดับการจำหน่ายภายใต้แบรนด์ ‘My Choice’ ที่ร้านท็อปส์ ทั่วประเทศ
โดยล่าสุด ‘Smile Melon’ สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศเป็นครั้งแรกภายใต้แบรนด์ ‘My Choice Japanese Melon’ วางจำหน่ายผ่านเครือข่ายของแฟร์ไพรซ์ กรุ๊ป (FairPrice Group) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของประเทศสิงคโปร์ ความสำเร็จเหล่านี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของท็อปส์ในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจร่วมกันแบบ Inclusive Growth อย่างยั่งยืน
ภาพ : ท็อปส์
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘เซ็นกรุ๊ป’ ขอเสิร์ฟ ชุดส้มตำใส่กล่อง วางขายที่แม็คโคร-โลตัส เม.ย.นี้
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine