‘จอลลี่แบร์’ ขนมสัญชาติไทย ยอดขาย 300 ล้านบาท - Forbes Thailand

‘จอลลี่แบร์’ ขนมสัญชาติไทย ยอดขาย 300 ล้านบาท

รู้หรือไม่ว่าขนมขบเคี้ยวหนุบหนับรูปหมีที่หลายคนคุ้นเคยอย่าง ‘จอลลี่แบร์’ เป็นแบรนด์สัญชาติไทย มีเจ้าของเป็นคนไทย อยู่ในตลาดมากว่า 50 ปี และมียอดขายปี 2566 ที่ผ่านมากว่า 300 ล้านบาท


    ในงานสัมมนาออนทัวร์ ครั้งที่ 2 ที่จังหวัดขอนแก่นซึ่งจัดขึ้นโดย ซีพี ออลล์ เพื่อให้ SME New Gen ได้มีโอกาสมาเข้าร่วมฟังและอัปเดตเทรนด์ใหม่ๆ นำไปต่อยอดสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับธุรกิจ ซึ่งหนึ่งใน SME ที่ได้รับเชิญมาให้ความรู้คือ นิค-พลากร เชาวน์ประดิษฐ์ เจ้าของแบรนด์ “จอลลี่แบร์” (Jolly Bears) ขนมเยลลี่หมีที่เชื่อว่าคนไทยทุกคนต้องเคยทาน

    นิค-พลากร เล่าให้ฟังว่า “จอลลี่แบร์” ถือเป็นแบรนด์ขนมขบเคี้ยวสัญชาติไทย ที่ถือหุ้นและบริหารโดยคนไทย 100% มีชื่อเสียงโลดแล่นในตลาดมานานกว่า 50 ปี ผลิตโดย บริษัท พงษ์จิตต์ จำกัด ที่มีจุดเริ่มต้นจากการผลิตลูกอมแบบแข็ง แต่ด้วยสภาพตลาดที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ทำให้ทายาทรุ่นที่ 2 ที่มารับช่วงต่อต้องมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการเติบโต โดยหันมาผลิตเยลลี่รูปหมีแทน

    นิค-พลากร เชาวน์ประดิษฐ์ เจ้าของแบรนด์ “จอลลี่แบร์” ทายาทรุ่นที่ 3 เล่าเรื่องขยายความต่อให้ฟังว่า ต้องยอมรับว่า ในยุคนั้นคนไทยยังไม่ค่อยรู้จักเยลลี่ จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนตัดสินใจซื้อ เลยตัดสินใจทำการตลาดผ่านสื่อโฆษณาในช่องทางหลักอย่าง ทีวี หนังสือ ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง สินค้าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แม้ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาบริษัทจะไม่ได้สร้างแบรนด์อย่างจริงจังเหมือนเดิม แต่แบรนด์ก็ยังคงสามารถขายสินค้าได้ด้วยตัวของแบรนด์เอง

    กระทั่งเมื่อช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา มีผู้เล่นรายอื่นเข้ามาในตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากต่างประเทศ บริษัทจึงต้องมุ่งสร้างแบรนด์อย่างจริงจังอีกครั้ง เนื่องจากแบรนด์ “จอลลี่แบร์” อยู่ในตลาดมาอย่างยาวนาน ผู้บริโภคที่เป็น Gen ใหม่ๆ อาจไม่สามารถเข้าถึงตัวตนที่แท้จริงของแบรนด์ได้ อีกทั้งรูปแบบการทำการตลาดแบบเดิมๆ ผ่านช่องทางหลักอาจไม่ตอบโจทย์พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคที่ใช้เวลาในโลกโซเชียลมากขึ้น


    สำหรับรูปแบบการสร้างแบรนด์และทำการตลาดที่ทางบริษัทใช้ในปัจจุบันคือ การทำผ่าน Offline ควบคู่กับ Online แต่จะเน้นที่ Online เป็นหลัก โดยการใช้ Influencer ทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้ง YouTube Facebook TikTok Instagram ในการรีวิวสินค้าช่วยสร้างกระแสก่อให้เกิดการบอกต่อ ทำให้เกิดการมองหาสินค้า ตัวสินค้าเองก็ต้องได้มาตรฐาน เดินหน้าพัฒนาสินค้าให้มีความสดใหม่อยู่เสมอ ทั้งรสชาติใหม่ แพ็กเก็จจิ้งใหม่ หรือหาพันธมิตรในการออกสินค้าใหม่ร่วมกันก็ได้

    “การยืนหยัดในตลาดที่มีผู้เล่นจำนวนมาก สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง เพราะแบรนด์ที่ดีจะช่วยสร้างความความเชื่อมั่น เชื่อใจ และน่าเชื่อถือให้กับองค์กรและสินค้า ซึ่งการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งได้นั้นจะต้องอาศัย 3 ข้อหลักๆ คือ

    1.ต้องหาจุดแข็งของสินค้าให้เจอ สำหรับจอลลี่แบร์ก็คือ ความคุ้มค่า มีประโยชน์ มุ่งเน้นความปลอดภัย

    2.สร้างมาตรฐานให้กับสินค้า สินค้าต้องได้มาตรฐานสากลในทุกด้าน

    3.เดินหน้าหาพันธมิตรเพื่อสร้างการเติบโตร่วมกัน อย่างในช่วงหนึ่ง จอลลี่แบร์ได้จับมือแบรนด์รองเท้ากีโต้ เพื่อทำรองเท้าของจอลลี่แบร์ออกมาช่วงหนึ่ง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี

    โดยทั้ง 3 สิ่งนี้ทำให้จอลลี่แบร์ยังคงอยู่ในตลาดได้ พร้อมอัตราการเติบโตด้านยอดขายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในปี 2566 บริษัทมียอดขายสูงถึง 300 ล้านบาท


    ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานตัวเลขของบริษัท พงษ์จิตต์ จำกัด ไว้ดังนี้

    -ปี 2563 รายได้ 215 ล้านบาท กำไร 38 ล้านบาท

    -ปี 2564 รายได้ 265 ล้านบาท กำไร 49 ล้านบาท

    -ปี 2565 รายได้ 332 ล้านบาท กำไร 75.7 ล้านบาท

    “อยากให้ SME จำไว้ว่า เมื่อไหร่ที่หยุดสร้างแบรนด์ก็จะมีปัญหาเมื่อนั้น เพราะคู่แข่งพร้อมที่จะมาแซงเราอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น แบรนด์ จึงเป็นหัวใจหลักที่เราต้องรักษาและทำให้ดี” นิค-พลากร กล่างทิ้งท้าย



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : แม็คซ์ฟู๊ด กรุ๊ป ลงทุน 120 ล้านบาท เพิ่มกำลังผลิตไอศกรีมผลไม้ส่งออก มั่นใจรายได้ปีนี้แตะ 400 ล้านบาท

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine