The 1 Insight เปิดอินไซต์ล่าสุด “4 พฤติกรรมช้อปส่งท้ายปี” พร้อมข้อมูลสำรวจล่าสุดโดย CRC VoiceShare ซึ่งเผยว่าผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่ตั้งงบซื้อของขวัญปีใหม่ไว้ระหว่าง 500-1,500 บาท ภาพรวมยอดใช้จ่ายปลายปีสูงกว่าปกติถึง 30% โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Z ที่เติบโตสูงสุด 45%
เดือนธันวาคมถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองที่ผู้บริโภคมีความพร้อมที่จะใช้จ่ายมากกว่าช่วงเดือนอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ ในปี 2565 ยอดขายของเดือนธันวาคมนั้นสูงกว่ายอดขายโดยเฉลี่ยของเดือนอื่นๆ กว่า 30%
The 1 Insight ได้สรุปเจาะลึก 4 กลุ่มพฤติกรรมการช้อปส่งท้ายปี ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นซ้ำในทุกปี ดังนี้
1. ผู้บริโภค “เตรียมเที่ยวปลายปี” ส่งผลให้ยอดขายสินค้าที่ใช้ระหว่างการท่องเที่ยวเติบโตขึ้น โดดเด่นในกลุ่มเสื้อผ้าฤดูหนาว อาทิ กระเป๋าเดินทาง +85%, รองเท้าบู๊ต +150%, โค้ตและแจ๊กเก็ต +95% ส่วนผ้าพันคอโตถึง +270%
2. นิยม “จัดบ้านรับปีใหม่” เป็นธรรมเนียมของคนทั่วโลกซึ่งส่งผลให้ของแต่งบ้านทุกประเภทยอดขายเติบโตครอบคลุมหลากกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น เครื่องครัวและเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัว +60%, เฟอร์นิเจอร์ห้องนอนและห้องน้ำ +40% และโฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ +20%
3. เตรียม “ฉลองปาร์ตี้สิ้นปี” ดันยอดขายสินค้าที่เกี่ยวข้องเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยของตกแต่งปีใหม่และคริสต์มาสโต +1,000% ส่วนหมวดอาหาร ขนมหวาน ช็อกโกแล็ต คุกกี้ ลูกกวาด +120% ด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วิสกี้ บรั่นดี ไวน์ เบียร์ +120%
4. พร้อมส่งความสุข “ช้อปไอเท็มของขวัญ” ทั้งแก่ตนเองและคนใกล้ชิด โดยครอบคลุมกลุ่มสินค้าหลากไลฟ์สไตล์และความชื่นชอบของแต่ละบุคคล อาทิ ของเล่น +120%, หูฟัง +70%, น้ำหอม +70%, สกินแคร์ +50%, กระเป๋า +80% และเครื่องประดับแฟชั่น +85%
โอกาสเอาใจผู้บริโภคเพิ่มยอดขาย
ผลสำรวจโดย CRC VoiceShare เกี่ยวกับการซื้อของขวัญปีใหม่ในปี 2566 ชี้ว่าผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่วางแผนซื้อของขวัญปีใหม่ในงบ 500-1,500 บาท โดยเกณฑ์การเลือกสินค้าแปรฝันตามความสัมพันธ์ที่มีกับผู้รับ
สำหรับ 3 อันดับบุคคลที่ผู้บริโภคมักซื้อของขวัญปีใหม่ให้ ได้แก่
1. พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ เน้นกระเช้าของขวัญเป็นหลักที่ 48% ตามด้วยของกินของใช้ในบ้าน 35% และเซ็ตของขวัญ 34%
2. เพื่อนและเพื่อนร่วมงาน นิยมให้เซ็ตของขวัญ 33% รองลงมาเป็นของกินของใช้ภายในบ้าน 30% อีกหนึ่งหมวดหมู่ยอดฮิตคือสินค้าแฟชั่นและเครื่องสำอาง 20%
3. ลูกหลาน มักเลือกสินค้าแฟชั่นและเครื่องสำอาง 46% รองลงมาคือเครื่องเขียน หนังสือ และอุปกรณ์การเรียนรู้รวม 35% และเซ็ตของขวัฐราว 22%
เห็นได้ชัดว่ากระเช้าปีใหม่และเซ็ตของขวัญพิเศษที่จัดขึ้นเพื่อเทศกาล ยังคงเป็นที่นิยมอันดับต้นๆ ดังนั้นนอกจากโปรโมชั่น แบรนด์อาจพิจารณาจัดเซ็ตของขวัญขึ้นเป็นพิเศษในช่วงเดือนสุดท้ายของปี
นอกจากนี้ The 1 Insight ยังพบว่า Gen Z (อายุ 18-26 ปี) คือกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับการช้อปในช่วงเทศกาลมากที่สุดในทุกช่วงวัย โดยถือเป็นกลุ่มที่ยอดใช้จ่ายเติบโตสูงสุดที่ 45% รองลงมาคือ Gen Y (อายุ 27-42 ปี) มียอดใช้จ่ายเติบโตที่ 27% ตามมาด้วย Gen X และ Baby Boomer เติบโตเท่ากันที่ 25%
อีกทั้ง ช่วงปลายปียังมีสัดส่วนยอดการใช้จ่ายจากช่องทางหน้าร้าน (ออฟไลน์) มากกว่าช่องทางอื่นๆ อาทิ ช่องทางออนไลน์, Chat&Shop, Call&Shop และ Personal Shopper เนื่องจากในช่วงปลายปี ผู้บริโภคไม่เพียงต้องการจับจ่าย แต่ยังต้องการที่จะร่วมเพลิดเพลินไปกับบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองไปด้วยนั่นเอง
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : CPN ทุ่ม 6.2 พันล้าน เปิด "เซ็นทรัล เวสต์วิลล์" ปักธงย่านราชพฤกษ์ล้อมทุกทิศรอบเมืองนนทบุรี
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine