สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยแนวโน้มค้าปลีกครึ่งปีหลัง 2568 เผชิญปัจจัยรอบด้านทั้งในและนอกประเทศ แนะรัฐกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่าน 2 มาตรการสำคัญ ได้แก่ นโยบายคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ทันที ณ ร้านค้า ให้นักท่องเที่ยวที่มียอดซื้อสินค้าขั้นต่ำ 3,000 บาทขึ้นไป และตั้งแซนด์บ็อกเขตปลอดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าไลฟ์สไตล์ (Free Tax Zone) ในจังหวัดภูเก็ต หนุนไทยเป็น Shopping Paradise ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
ณัฐ วงศ์พานิช ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกที่ลดลงต่อเนื่อง สะท้อนภาพการบริโภคที่ชะลอตัว ภาคท่องเที่ยวเติบโตลดลง และภาคส่งออกที่กำลังเผชิญกับกำแพงภาษี ผู้ประกอบการค้าปลีกไทยไม่เพียงแค่ ‘อยู่รอด’ แต่ต้อง ‘ยืนหยัด’ และ ‘ก้าวนำ’ ท่ามกลางพายุเศรษฐกิจ การตั้งรับ รุกกลับ และปรับตัวให้ทันอนาคต คือกุญแจสู่การฝ่าวิกฤติ ขณะเดียวกันภาครัฐต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เหมาะสม”

สถานการณ์ค้าปลีกครึ่งปีหลัง 2568 :
จากข้อมูลปี 2567 ที่ผ่านมา ภาคค้าปลีกของไทยมีมูลค่าราว 4 ล้านล้านบาท โดยมี สัดส่วนมูลค่าใน GDP สูงเป็นอันดับ 2 หรือคิดเป็น 16% ของขนาดเศรษฐกิจทั้งประเทศ (ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
โดยยอดขายภาคค้าปลีกมีแนวโน้มเติบโตแบบชะลอลง โดยในช่วงปี 2567-2568 โตเฉลี่ย 3.4% (1.36 แสนล้านบาท) เทียบกับในช่วงปี 2565-2566 ที่โต 5.9% ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กำแพงภาษีสหรัฐฯ กำลังซื้อผู้บริโภคที่ฟื้นตัวช้า รวมถึงการแข่งขันรุนแรงกับแพลตฟอร์มค้าปลีกต่างชาติอย่าง E-Commerce (ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs มากกว่า 3.3 ล้านราย ต้องเผชิญความเสี่ยงจากการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะ สินค้านำเข้าราคาถูกและด้อยคุณภาพจากต่างประเทศ ที่เข้ามาผ่านทางอีคอมเมิร์ซและผู้ประกอบการรายย่อยข้ามแดน
- ต้นทุนการดำเนินธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น จากการปรับขึ้นค่าแรง ต้นทุนโลจิสติกส์ ค่าพลังงานและสาธารณูปโภค
- ค้าปลีกยังคงเป็น เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยในการขับเคลื่อนภาคผลิต ภาคการบริโภค และภาคแรงงาน
- นักท่องเที่ยวจีนมีจำนวนลดลง ในครึ่งปีหลังจึงจำเป็นต้องหา ตลาดทดแทน เช่น นักท่องเที่ยวระยะไกล (Long Haul) หรือยุโรปมากขึ้น เช่น รัสเซีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี และตะวันออกกลางเป็นต้น

เทรนด์ค้าปลีก 2568 : ปรับตัวสู่ดิจิทัลและความยั่งยืน
- Convergence Commerce as the New Standard เน้นสร้างประสบการณ์ที่เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อระหว่างช่องทาง Offline และ Online รวมถึงการผสานร้านค้ารายใหญ่และรายย่อยให้เป็นระบบนิเวศ (Ecosystem) เดียวกัน เพื่อส่งมอบสินค้าและบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
- AI Personalization Engine นำเสนอสินค้า โปรโมชั่น และประสบการณ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละรายอย่างเฉพาะบุคคล (Personalization) ด้วยการใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อบริหารจัดการสต็อกสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มยอดขาย ลดปริมาณสินค้าคงคลังที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า
- Sustainable Retail ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสนใจแบรนด์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม, ใช้บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน

กลยุทธ์ 3S (Shield Strike Shape) "ตั้งรับ รุกกลับ ปรับตัว"
1. ตั้งรับ (Shield)
1.1 ป้องกันสินค้าราคาถูกและด้อยคุณภาพจากต่างประเทศ
- การตรวจสอบสินค้านำเข้า 100% แทนการสุ่มตรวจ ด้วยระบบเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำ
- ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าที่วางจำหน่ายในประเทศอย่างเข้มงวด เช่น การมีมาตรฐาน มอก. และฉลากต้องเป็นภาษาไทย
1.2 ปราบปรามธุรกิจนอมินี
- จำเป็นต้องเร่งหามาตรการเชิงรุกในการจัดการธุรกิจนอมินี (Nominee) ที่สวมสิทธิ์คนไทยในทุกระดับ ตั้งแต่รายย่อยถึงรายใหญ่ ครอบคลุมธุรกิจในหลายรูปแบบ เช่น ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต และโรงแรมศูนย์เหรียญ เพื่อยับยั้งการรั่วไหลของเม็ดเงิน และผลักดันให้รายได้จากภาคค้าปลีกหมุนเวียนกลับสู่ระบบเศรษฐกิจและผู้ประกอบการไทย
- ป้องกันการสวมสิทธิ์ผลิตสินค้าที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตส่งออกไปสหรัฐ (Re-Export) ส่งผลให้ไทยเกินดุลสหรัฐ
2. รุกกลับ (Strike)
2.1 ค้าเสรีและเป็นธรรม
- จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT 7% กับสินค้าออนไลน์นำเข้าที่มีมูลค่าตั้งแต่บาทแรก (จากเดิมสินค้าไม่เกิน 1,500 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี) โดยออกเป็นกฏหมายบังคับใช้เป็นการถาวร
- ปรับปรุงกฏหมายที่มีข้อจำกัดและไม่ครอบคลุมของ “พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” หรือการซื้อขายสินค้าออนไลน์โดยเฉพาะสินค้าไม่ได้มาตรฐานราคาถูกที่จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มข้ามชาติ เพื่อปกป้องผู้บริโภคคนไทย เช่น จัดให้มีระบบเชื่อมต่อข้อมูลอัตโนมัติ (API) กับหน่วยงานรัฐ เช่น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
- ออกมาตรการรับมือกับสถานการณ์สินค้าจากจีนที่ทะลักเข้าสู่ตลาดไทย อันเนื่องมาจากปัญหาการผลิตสินค้าเกินความต้องการภายในประเทศจีน (Oversupply) ซึ่งจีนจำเป็นต้องระบายสินค้าสู่ต่างประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยจนถึงขั้นต้องปิดกิจการหรือมีการเลิกจ้างแรงงาน
2.2 ช้อปปิ้งยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (Instant Tax Refund)
- เสนอการนำร่องมาตรการ Instant Tax Refundคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ให้กับนักท่องเที่ยวที่มียอดซื้อสินค้าขั้นต่ำ 3,000 บาทขึ้นไป ต่อ 1 วันในร้านค้าเดียวกัน เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้นสอดคล้องกับประเทศจีนที่ได้ประกาศใช้นโยบาย Instant Tax Refund 500 หยวน (ประมาณ 2,500บาท) นำร่องที่เมืองท่องเที่ยวอย่างเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง กวางโจว
2.3 เขตปลอดภาษีสำหรับสินค้าไลฟ์สไตล์ (Shopping Paradise Sandbox)
- พิจารณาการลดภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะในกลุ่มแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนัง น้ำหอมโดยอาจเริ่มที่สินค้าอเมริกาก่อน โดยนำร่องทำแซนด์บ็อกซ์เป็นเขตปลอดภาษี (Free Trade Zone) ในจังหวัดท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวและเพิ่มศักยภาพให้ไทยเป็น Shopping Paradise ของภูมิภาค
- การลดภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์จากสหรัฐฯ เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าไทย-สหรัฐฯ และสร้างความหลากหลายให้แก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าไลฟ์สไตล์คุณภาพจากต่างประเทศ
3. ปรับตัว (Shape)
3.1 การลดทอนกฏระเบียบที่ล้าสมัยและซับซ้อน (Regulatory Guillotine)
- ผลักดันมาตรการ Regulatory Guillotine เพื่อลดกฎระเบียบที่ล้าสมัยและซับซ้อน เช่น การปรับลดจำนวนและขั้นตอนการขอใบอนุญาตหลายใบให้อยู่ในใบเดียว (Super License) และผ่านระบบกลาง (Biz Portal) ครอบคลุมทั่วประเทศ เช่น ใบอนุญาตเปิดศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร และใบอนุญาตก่อสร้าง
3.2 การสนับสนุนเอสเอ็มอีไทย (Championing Thai SME)
- รัฐสนับสนุนเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายกำแพงภาษี โดยจัดสรรงบประมาณเพื่อฟื้นฟูและพัฒนานวัตกรรมสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ พร้อมผลักดันให้ได้รับการรับรอง ‘Made in Thailand’ จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและขยายโอกาสในการส่งออก
- ส่งเสริมการมอบสัญลักษณ์ Thai SELECT จากกระทรวงพาณิชย์ เพื่อการันตีคุณภาพอาหารไทยซึ่งเป็นหนึ่งในซอฟต์เพาเวอร์ทั้งในและต่างประเทศ
3.3 การมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษี
- มอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีผ่าน BOI เพื่อจูงใจนักลงทุนไทยให้ลงทุนในเมืองน่าเที่ยวศักยภาพสูง เพื่อกระจายความเจริญลดความเหลื่อมล้ำ
ภาพ : สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และ image by freepik
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เพียง 2 แบรนด์ไทย! ‘กสิกรไทย’ และ ‘มาม่า’ ติด Top20 การจัดอันดับแบรนด์ชั้นนำของไทยประจำปี 68 นอกนั้นเป็นแบรนด์ต่างชาติ
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine