ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน (TCM Corporation Plc.) หรือ TCMC เผยผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ยังคงทำรายได้กว่า 2.14 พันล้านบาท กำไรสุทธิ 27.3 ล้านบาท ชี้สามกลุ่มธุรกิจพร้อมเติบโตตามสถานการณ์ตลาดที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ ที่มีการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์สู่กลุ่ม Geo-Textile และ non-carpet เพิ่มความหลากหลายให้สินค้า ขณะที่ธุรกิจวัสดุตกแต่งพื้นผิวฟื้นตัวชัดเจนตามธุรกิจท่องเที่ยว ด้านกลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์รายได้ปรับตัวกลับสู่ภาวะปกติ
ปิยพร พรรณเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TCMC) เปิดเผยว่า บริษัท ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย (เรียกรวมกันว่า “กลุ่มบริษัท”) มีรายได้จากการขายและบริการในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 จำนวน 2,140.61 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 2,384.53 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.23 และมี EBITDA จำนวน 176.55 ล้านบาท สูงขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 48.98 และมีผลประกอบการเป็นกำไรสุทธิ 27.30 ล้านบาท สูงขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีผลกำไรสุทธิ 6.38 ล้านบาท โดยคิดเป็นกำไรสุทธิส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ 9.27 ล้านบาท จากสถานการณ์ตลาดที่เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ และผลของการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของทุกกลุ่มธุรกิจ
“ผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาสที่สองสะท้อนถึงสถานการณ์ของตลาดที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติชัดเจนขึ้น จากการที่ทีซีเอ็มซีได้เร่งปรับตัวต่อเนื่องตามแผนงานด้วยการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต เปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด พัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการมูลค่าเพิ่มสูง และสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประกอบกับเศรษฐกิจในหลายตลาดเริ่มฟื้นตัว ด้วยอานิสงส์จากการท่องเที่ยว ตลาดกลุ่มธุรกิจวัสดุตกแต่งพื้นผิวดีขึ้น ด้านกลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์มีออเดอร์เข้ามาเยอะขึ้นจากแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยและต่างประเทศมีทิศทางดีขึ้น ส่งผลให้ผลประกอบการในไตรมาสที่สองเติบโตต่อเนื่อง ในขณะที่กลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์มีรายได้บรรลุตามเป้าหมายที่ฝ่ายบริหารได้วางไว้” ปิยพรกล่าว
ธุรกิจท่องเที่ยวโรงแรมฟื้นตัวส่งผลดีกลุ่มธุรกิจวัสดุตกแต่งพื้นผิว (TCM Surface)
จากการฟื้นตัวของตลาดท่องเที่ยวและโรงแรม ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของธุรกิจ นโยบายเพิ่มประสิทธิภาพและทำ lean ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการจำนวน 580.45 ล้านบาท สูงกว่างวดเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 17.95 ถึงแม้ว่ากลุ่มธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากค่าขนส่ง ค่าแรง และราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นจากสภาพตลาด แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน มีการลงทุนในเครื่องจักรที่ช่วยประหยัดพลังงาน ลดการใช้น้ำ ลดการใช้วัตถุดิบ
รวมถึงการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงาน และการปรับราคาสินค้าให้สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้กลุ่มธุรกิจสามารถทำอัตรากำไรขั้นต้นได้ร้อยละ 37.34 กลุ่มธุรกิจมีค่าใช้จ่ายในการขายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการแนะนำสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาด เนื่องจากสินค้าที่พัฒนาขึ้นใหม่เริ่มเข้าสู่ตลาด เช่น พรมใช้ภายนอกอาคาร แผ่นซับเสียง ซึ่งหากไม่รวมค่าใช้จ่ายส่วนกลางและต้นทุนทางการเงิน กลุ่มธุรกิจสามารถทำกำไรได้ 10.66 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนถึงร้อยละ 208.7 ถือว่าทำผลประกอบการได้ดี อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ต้นทุนทางการเงินและภาษีเงินได้ ทำให้กลุ่มธุรกิจวัสดุตกแต่งพื้นผิวมีผลขาดทุนสุทธิ 16.62 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 17.67 ล้านบาท สาเหตุหลักจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยธนาคารที่สูงขึ้นอย่างมาก
ทางด้านกลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ (TCM Automotive) ฟื้นตัวตามสถานการณ์ตลาด ส่งผลให้สามารถทำยอดขายสูงขึ้นกว่าปีก่อนได้ถึงร้อยละ 8.79 และสามารถทำอัตรากำไรขั้นต้นได้ร้อยละ 29.42 เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแผงวงจรในอุตสาหกรรมรถยนต์กลับสู่ภาวะปกติ แต่กลุ่มธุรกิจมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารโดยรวมเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อยอดขายสูงขึ้นกว่างวดเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย จากการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์สู่กลุ่ม Geo-Textile และ non-carpet เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้สินค้า
ซึ่งหากรวมกับค่าใช้จ่ายจากส่วนกลาง ต้นทุนทางการเงินและภาษีเงินได้ จะทำให้กลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์มีผลกำไรสุทธิ 24.66 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.55 ของยอดขาย ซึ่งหากรวมต้นทุนสินค้าที่ถูกจัดไปไว้ที่ TCM Surface จำนวน 6.88 ล้านบาท จะทำให้มีกำไรสุทธิ 17.78 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.05 ของยอดขาย ซึ่งเป็นอัตราส่วนใกล้เคียงกับมาตรฐานที่ทำได้ในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด
ในขณะที่กลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ (TCM Living) รายได้กลับสู่สภาวะปกติทั้งจากสภาพตลาดและสภาวะเศรษฐกิจของประเทศอังกฤษ ส่งผลให้รายได้ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่มีรายได้สูงกว่าปกติ แต่ทั้งนี้รายได้นับว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่บริษัทวางไว้ จากการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารต้นทุน ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้นจากร้อยละ 14.12 ในปีก่อน เป็นร้อยละ 20.15 ในปีนี้
ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 กลุ่มบริษัทมีสินทรัพย์รวม สูงขึ้นจากวันสิ้นปี 2565 จำนวน 175.89 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.11 มีหนี้สินรวมสูงขึ้น จำนวน 163.81 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.89 กลุ่มบริษัทมีความสามารถในการชำระหนี้ การจ่ายเงินแก่ซัพพลายเออร์ และการควบคุมสต๊อกที่สามารถจัดการได้ดี อัตราตอบแทนจากสินทรัพย์ และอัตราตอบแทนผู้ถือหุ้น ลดลงเล็กน้อย เนื่องจากรายได้รวมใน Q2/2566 ลดลงร้อยละ 10.23 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ในครึ่งปีหลังของปี 2566 กลุ่มบริษัทจะยังคงรับรู้ผลการดำเนินงานที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องตามสภาวะตลาดที่ฟื้นตัวในแต่ละกลุ่มธุรกิจ และจากการบริหารจัดการเรื่องต้นทุนและการปรับปรุงประสิทธิภาพตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามยังคงมีหลายปัจจัยที่ต้องจับตามองทั้งในประเทศ และนอกประเทศ และผลจากการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้และการลงทุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของทีซีเอ็มซีกล่าวทิ้งท้าย
อ่านเพิ่มเติม : “คราฟเวิร์ค” ส่ง “ละไม หทัยราษฎร์ 39” รุกทำเลฮอตโซนกรุงเทพฯ ตะวันตก
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine