‘เถ้าแก่น้อย’ อาณาจักรสาหร่ายพันล้าน ลุยสร้าง New S-Curve ใหม่ หลังปีก่อนหน้าเจอภาวะต้นทุนสาหร่ายพุ่งสูงสุดในรอบ 30 ปี เปิดตัวแบรนด์ใหม่ Wow Nut ถั่วลายเสือคั่ว ที่ใช้ผลผลิตจาก จ.แม่ฮ่องสอน ตั้งเป้ายอดขายปีแรก 70-100 ล้านบาท
แม้ปี 2567 ที่ผ่านมา บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN จะมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง โดยมีรายได้จากการขาย 5,712.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3% YoY และกำไรสุทธิอยู่ที่ 836.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.5% YoY ทำสถิติใหม่สูงสุดในรอบ 20 ปี
แต่ถึงอย่างนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปีที่ผ่านมา เถ้าแก่น้อยเผชิญกับสถานการณ์ท้าทาย ราคาต้นทุนของวัตถุดิบหลักอย่างสาหร่ายปรับตัวเพิ่มขึ้นจนแตะระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี ซึ่งเถ้าแก่น้อยก็งัดสารพัดกลยุทธ์ ทั้งบริหารจัดการยอดขาย (Revenue Management) บริหารพอร์ตสินค้าและช่องทางการขาย (Product Mix and Channel Mix) ให้มีประสิทธิภาพ ออกสินค้าใหม่ๆ และโปรโมตร่วมกับพันธมิตรมากมาย รวมถึงทำการตลาดร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ จนทำให้ยังสามารถสร้างการเติบโตได้ดังที่กล่าวไปข้างต้น
สถานการณ์ราคาสาหร่ายที่แม้จะมีแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังไม่สามารถวางใจได้ นำมาสู่การสานต่อนโยบายบริษัทอย่าง 3GO (GO FIRM เพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงานและลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น, GO BOARD ขยายฐานธุรกิจผ่านการพัฒนาสินค้านวัตกรรมกลุ่มใหม่ๆ และ GO GLOBAL ลุยตลาดต่างประเทศ ผลักดันแบรนด์สู่ระดับสากล) ที่เถ้าแก่น้อยบอกว่าจะเป็นตัวช่วยสร้างขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดที่จะส่งผลในระยะยาว สะท้อนออกมาเป็นผลการดำเนินงานที่เติบโตและการทำกำไรที่ดีอย่างยั่งยืน

ล่าสุดในส่วนของ GO Broad เถ้าแก่น้อยได้เปิดตัวแบรนด์ใหม่อย่าง WoW Nut ถั่วลายเสือคั่ว โดยใช้วัตถุดิบระดับพรีเมียมจาก 4 อำเภอใน จ.แม่ฮ่องสอน ที่ไม่เพียงแต่จะสร้าง New S-Curve ให้บริษัท ยังตั้งเป้าผลักดันให้เกษตรกรท้องถิ่นมีอาชีพและมีรายได้ด้วย
ต๊อบ - อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังโควิด-19 ผ่านพ้นไป ตลาดขนมขบเคี้ยวเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยขนมขบเคี้ยวประเภทถั่วได้รับความนิยมสูงเป็นอันดับ 3 และยังเป็นขนมที่ดีต่อสุขภาพ (Healthy Snack) ตอบโจทย์เทรนด์ผู้บริโภคที่มองหาขนมขบเคี้ยวที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
สำหรับถั่วลายเสือซึ่งเป็นถั่วที่มีสารอาหารมากมาย อาทิ วิตามิน B1, วิตามิน B2 และแคลเซียม ทว่ายังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก จึงกลายมาเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมในการสร้าง New S-Curve ให้ธุรกิจของเถ้าแก่น้อย
อิทธิพัทธ์เล่าว่า “ตอนแรกผมและทีมงานตั้งใจไปดูงานที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีเป้าความสนใจคือเมล็ดโกโก้ แต่การพบกับถั่วลายเสือเป็นเหมือนโชคชะตามากกว่า หลังจากนั้นทีมงานเถ้าแก่น้อยได้ลงพื้นที่สำรวจ ติดต่อกับเกษตรกรผู้เพาะปลูกถั่วลายเสือและทางการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตลอดจนมีการพัฒนาสูตรรวมถึงกระบวนการผลิตโดยทีม Research & Development ผู้เชี่ยวชาญของบริษัทฯ เป็นระยะเวลากว่า 1 ปี จนท้ายที่สุดขนมขบเคี้ยวถั่วลายเสือคั่วแบรนด์ WoW Nut ก็พร้อมออกสู่ท้องตลาดเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2568 ที่ผ่านมา”

ด้าน อุดมศักดิ์ ขาวหนูนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เผยว่า ถั่วลายเสือยังเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญประจำถิ่นแม่ฮ่องสอน นอกเหนือจากกาแฟ โกโก้ และบุก โดยก่อนหน้านี้มีเกษตรกรที่เพาะปลูกถั่วลายเสือในแม่ฮ่องสอนจาก 4 อำเภอรวมกันเพียง 88 รายเท่านั้น แต่หลังเถ้าแก่น้อยเข้ามาช่วยส่งเสริม ทำให้มีจำนวนเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 207 ราย และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอนาคต
สำหรับกำลังการผลิตถั่วลายเสือในแม่ฮ่องสอน ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 900 ตันต่อปี ซึ่งเถ้าแก่น้อยรับซื้อไป 200 ตัน คิดเป็นอัตราส่วนราว 30% อีกทั้งเถ้าแก่น้อยยังมีส่วนช่วยผลักดันราคาถั่วลายเสือในแม่ฮ่องสอนจากเดิมที่ 25 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นมาเป็น 62 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรมีรายได้และความมั่นคงทางอาชีพ นำไปสู่ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจแม่ฮ่องสอน
ทั้งนี้ ถั่วลายเสือคั่วแบรนด์ WoW Nut เปิดตัวมา 2 รสชาติ ได้แก่ รสออริจินัล และเกลือชมพู จำหน่าย 2 ขนาดด้วยกัน คือ ขนาดเล็ก 25 กรัม และขนาดใหญ่ 59 กรัม ในราคาห่อละ 29 บาท และ 59 บาทตามลำดับ
ความพิเศษของ WoW Nut คือการมีโลโก้ GI บนผลิตภัณฑ์ โดยเครื่องหมาย GI เป็นตรารับรองที่มอบให้สินค้าที่ผลิตขึ้นจากภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือลักษณะเฉพาะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ออกแบบโลโก้ GI พิเศษขึ้นมาใหม่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำวัตถุดิบไปผลิตยังโรงงานที่ได้มาตรฐานนอกพื้นที่ ทำให้ WoW Nut จึงเป็นเจ้าแรก และเจ้าเดียวในไทยที่ใช้โลโก้ GI ใหม่นี้
สำหรับเป้าหมายในปีแรกของ WoW Nut อิทธิพัทธ์คาดหวังยอดขายไว้ที่ 70-100 ล้านบาท เบื้องต้นช่องทางการจำหน่ายถั่วลายเสือคั่ว WoW Nut ได้แก่ 7-Eleven ทุกสาขาทั่วประเทศไทย, TAOKAENOI LAND และร้านค้าของทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน ก่อนจะมีการขยายสู่ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั่วประเทศในเดือนมิถุนายนนี้ หากเสียงตอบรับดีก็จะมีการรุกตีตลาดต่างแดนในอนาคตเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์สาหร่ายซึ่งปัจจุบันมีการส่งออกไปกว่า 40 ประเทศทั่วโลก
ภาพ: เถ้าแก่น้อย
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘ไฮเออร์’ บุกวงการร้านสะดวกซัก! นำเครื่องซักอบอุตสาหกรรมเข้า Otteri ตั้งเป้ากระจายสู่ 230 สาขาในไทย
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine