TAICCA ดันการ์ตูน Boy's Love ไต้หวันตีตลาดไทย - Forbes Thailand

TAICCA ดันการ์ตูน Boy's Love ไต้หวันตีตลาดไทย

FORBES THAILAND / ADMIN
23 Jul 2023 | 05:00 PM
READ 782

    ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คอนเทนต์แนว BL (Boy,s Love) ได้รับความนิยมอย่างมากในเอเชีย และเพื่อส่งเสริมวงการการ์ตูน BL ของไต้หวัน สถาบันสร้างสรรค์คอนเทนต์ไต้หวัน (Taiwan Creative Content Agency : TAICCA) จึงได้จัดกิจกรรมเสวนา "2Gether with Taiwan Boy,​s Love! - A Selection of Taiwanese BL Comics" ขึ้นที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 28 มิถุนายน 2566 ดึงสำนักพิมพ์ แพลตฟอร์มการ์ตูนออนไลน์ และแพลตฟอร์มอีบุ๊ก ของไทยเข้าร่วมกว่าร้อยคน 

    นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังได้ขนหนังสือการ์ตูน BL จากไต้หวันกว่า 50 เรื่องมาร่วมจัดแสดงในเทศกาลหนังสือการ์ตูนและไลท์โนเวล Comic & Light Novel Book Fest 2023 (CoLiFes) ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน-2 กรกฎาคม 2566 โดยได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก สถาบัน ฯ มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมผลงาน LGBTQ+ ของไต้หวันไปยังตลาดต่างประเทศ ให้คอนเทนต์วัฒนธรรมของไต้หวันเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น รวมถึงขยายโอกาสความร่วมมือระหว่างประเทศ

    สถาบันสร้างสรรค์คอนเทนต์ไต้หวันเผยว่า "ตลาดคอนเทนต์ของไทยมีความต้องการผลงานแนว BL อย่างมาก รวมถึงเทรนด์การอ่านบนแพลตฟอร์มออนไลน์ สถาบัน ฯ ได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการส่งออกการ์ตูนและไลท์โนเวล BL ของไต้หวันสู่ตลาดไทย จึงได้จัดกิจกรรมเสวนา "2Gether with Taiwan BL Comics" ขึ้นเพื่อดึงผู้ประกอบการวงการคอนเทนต์ของไทยเข้าร่วมโดยเฉพาะ พร้อมทั้งได้เชิญ โจ ไช่ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์จาก Sanlih Entertainment Television (SET) ผู้มีประสบการณ์มากมายเกี่ยวกับงาน BLและอรรถ บุนนาค บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์เจลิท (JLIT) ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรม BL มาร่วมพูดคุยเสวนา ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความเข้าใจระหว่างไต้หวันและไทย โดยภายในงานมีผู้ประกอบการวงการคอนเทนต์ไทยเข้าร่วมกว่าร้อยคน"

    "ผลงานของไต้หวันมักแฝงวัฒนธรรมและค่านิยมของไต้หวัน เช่น ชานมไข่มุก สตรีทฟู้ด หรือชีวิตของนักศึกษา ซึ่งโดนใจผู้อ่านชาวไทย ส่วนประเทศไทย ด้วยปัจจัยเรื่องอนุรักษ์นิยม ทำให้ไม่สามารถสร้างสรรค์บางเนื้อหาได้ ก็สามารถนำผลงานจากญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวันมาชดเชยในส่วนนี้" อรรถ บุนนาค กล่าวระหว่างกิจกรรมเสวนา

    ชยุตรา บุญทัพ บรรณาธิการจาก MEB แพลตฟอร์มอีบุ๊กอันดับหนึ่งของไทย กล่าวว่า "ผลงาน BL ของไต้หวันไม่ค่อยเหมือนกับของไทย บางครั้งผลงานของไทยมีความหนักและเข้มข้น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะชื่นชอบผลงานเหล่านั้น ส่วนผลงานของไต้หวันมีความสดใหม่ เนื้อหาไม่หนัก และเข้าถึงได้ง่าย ดังนั้น เชื่อว่าผลงาน BL ของไต้หวันจะสามารถตีตลาดไทยได้ และเนื่องจากเราได้เคยสัมผัสกับงานของไต้หวันมาบ้างแล้ว การร่วมงานในครั้งนี้จึงเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับผลงานและอุตสาหกรรมคอนเทนต์ของไต้หวันครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และหวังว่าจะใช้โอกาสนี้ นำเอาคอนเทนต์ที่หลากหลายมาให้ผู้อ่านชาวไทยได้มากยิ่งขึ้น"

    นอกจากนี้ LINE WEBTOON แพลตฟอร์มการ์ตูนออนไลน์ระดับโลก ยังได้ส่งครีเอเตอร์ บรรณาธิการ และนักเขียน มาเข้าร่วมงานในครั้งนี้ โดยหนึ่งในครีเอเตอร์ เผยว่า "เว็บไซต์อ่านการ์ตูนออนไลน์มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การ์ตูนจึงกลายเป็นข้อความที่ข้ามพรมแดน ข้ามภาษา และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว รวมถึงทัศนคติต่อ LGBTQ+ ที่เปิดกว้างของไต้หวันที่มีความคล้ายคลึงกับของไทย เราหวังว่าจะได้เห็นการแลกเปลี่ยนด้านคอนเทนต์ระหว่างสองฝั่งในอนาคต"

    สมาคมผู้จัดพิมพ์การ์ตูนและแอนิเมชั่นภาษาจีน (Chinese Animation & Comic Publishers Association : CCPA) เผยว่า "หลังจากที่ได้ผลักดันผลงานของไต้หวันไปยังหลายพื้นที่ พบว่าความต้องการคอนเทนต์ BL ของไทยนั้นมีความโดดเด่นกว่าตลาดในประเทศอื่นๆ ไลท์โนเวลและนิยายรักของไต้หวันได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในตลาดไทย ประกอบกับส่วนแบ่งทางการตลาดของแพลตฟอร์มอีบุ๊กและแพลตฟอร์มการ์ตูนออนไลน์ในไทยก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดอุปสงค์ของตลาด ซึ่งเป็นโอกาสอันดีสำหรับสำนักพิมพ์ไต้หวันที่ต้องการตีตลาดไทย ในครั้งนี้สมาคมฯ จึงได้ร่วมมือกับ TAICCA รวบรวมสมาชิกของสมาคมการ์ตูนเพื่อทำการคัดเลือกรายชื่อหนังสือการ์ตูน BL ของไต้หวัน ซึ่งเป็นหัวข้อที่ได้รับความนิยมสูงสุดในไทย โดยหวังว่าไต้หวันและไทยจะประสบความสำเร็จในความร่วมมือครั้งนี้"

    TAICCA มุ่งหวังที่จะเข้าใจลักษณะและความต้องการของทั้งสองตลาด ผ่านการแลกเปลี่ยนโดยตรงของผู้ประกอบการระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันผลงานอันยอดเยี่ยมของไต้หวันสู่ตลาดต่างประเทศ นอกจากการส่งเสริมด้านธุรกิจกับวงการคอนเทนต์ไทยแล้ว สถาบันฯ ยังได้เข้าร่วมเทศกาลหนังสือการ์ตูนและไลท์โนเวล (CoLiFes) ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ (PUBAT) จัดแสดงผลงานผ่านสื่อดิจิทัล และบูธขนาดใหญ่ ดึงดูด "Gen Z" เข้าชมงาน หวังสร้างความนิยมผลงานไต้หวันในกลุ่ม Gen Z ในไทย พร้อมสร้างรากฐานผลักดันสู่ตลาดไทยอย่างต่อเนื่องในอนาคต

    

    อ่านเพิ่มเติม : 

    ​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine