Nano Electric Product ชูกลยุทธ์ปรับตัวเร็ว เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ปิดยอดครึ่งปีแรกโต 16% วางเป้าหมายทั้งปีเติบโต 20% ทะลุ 1,500 ล้านบาท - Forbes Thailand

Nano Electric Product ชูกลยุทธ์ปรับตัวเร็ว เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ปิดยอดครึ่งปีแรกโต 16% วางเป้าหมายทั้งปีเติบโต 20% ทะลุ 1,500 ล้านบาท

แม้ภาพรวมเศรษฐกิจ ภาคก่อสร้างและตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีแรกจะเผชิญกับปัจจัยลบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ธุรกิจของ Nano Electric Product ผู้ผลิตอุปกรณ์พลาสติกและอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับงานก่อสร้างกลับมีการเติบโตสวนกระแส โดยปิดยอดขายได้ 665 ล้านบาทใน 6 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาภัทร บุญญลักษม์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นาโน อิเลคทริค โปรดักส์ จำกัด เปิดเผยว่า การเติบโตของบริษัทในครึ่งปีแรกเกิดจากกลยุทธ์ที่เน้นการปรับตัวเร็วและเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) โดยในครึ่งปีหลัง บริษัทยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ดังกล่าว รวมทั้ง การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อสร้างยอดขายทั้งปีให้เติบโต 20% ทะลุ 1,500 ล้านบาท“ในครึ่งปีแรก ตลาดเผชิญกับปัจจัยลบมากมาย ทั้งโควิด-19 ที่ยังไม่แน่นอน อัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่า 7% ราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งขึ้น ซึ่งกระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบโดยตรง ต่อเนื่องไปยังค่าเงินบาทที่อ่อนลงนับตั้งแต่ปลายปีที่แล้วถึงครึ่งปีแรกของปีนี้ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ทั้งต้นทุนการผลิต ต้นทุนวัตถุดิบ และต้นทุนสินค้า เราจึงต้องปรับอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจ”

ภัทร บุญญลักษม์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นาโน อิเลคทริค โปรดักส์ จำกัด

ภัทร กล่าวว่า กลยุทธ์การตลาดและผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์เป็นหัวใจหลักในการสร้างการเติบโตของยอดขายของบริษัท โดยในด้านกลยุทธ์การตลาด บริษัทมีการจัดกิจกรรมการตลาด การเปิดตัวสินค้า ที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าโครงการและงานภาครัฐ มีทีมหลังบ้าน วิศวกรโครงการ เซลส์โครงการและเซลส์สเปค เพื่อเจาะลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้น ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้เน้นมาตรฐานและเอกสารเข้าเสนองาน โดยภายในสิ้นปีนี้ บริษัทจะขยายทีมเซลส์โครงการเพิ่มขึ้นจากการปรับกลยุทธ์เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าโครงการมากขึ้น ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรก กลุ่มลูกค้าโครงการและงานภาครัฐมีการเติบโตสูง โดยมีการขยายตัวถึง 30-40% อย่างไรก็ตาม สัดส่วนยอดขายจากกลุ่มลูกค้าโครงการยังมีสัดส่วน 15% ขณะที่ยอดขายจากร้านค้ามีสัดส่วน 80% ซึ่งมีการเติบโต 10% ในครึ่งปีแรก ทำให้ยอดเติบโตโดยเฉลี่ยของบริษัทในครึ่งปีแรกเติบโต 16%

“สินค้าของบริษัท 95% เป็นการผลิตเอง และอีก 5% เป็นสินค้านำเข้า ทำให้เป็นจุดแข็งของเราในการเข้าโครงการภาครัฐ ซึ่งมีนโยบายสนับสนุนสินค้าที่ผลิตในประเทศหรือ MIT (Made In Thailand) ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์พลาสติก การเข้าประมูลงานที่ต้องใช้ใบรับรอง MIT ทำให้เราผลักดันงานได้เร็วขึ้น เพราะหลายแบรนด์ที่เป็นคู่แข่ง ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้า”

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่สร้างยอดขายเป็นสัดส่วนสูงที่สุดยังคงเป็นกลุ่มอุปกรณ์พลาสติกสำหรับงานก่อสร้าง เช่น ท่อร้อยสายไฟ รางร้อยสายไฟและตู้กันน้ำ โดยมีสัดส่วนถึง 65% ขณะที่ กลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับงานก่อสร้าง เช่น ตู้คอนซูเมอร์ยูนิต มีสัดส่วน 30% และกลุ่มสินค้านวัตกรรมหรือสมาร์ท เช่น ตู้คอนซูเมอร์ยูนิตระบบสมาร์ทที่สามารถสั่งการผ่าน WiFi มีสัดส่วน 5%ภัทร กล่าวว่า บริษัทมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าโครงการและงานภาครัฐมากขึ้น โดยในไตรมาสที่ 4 บริษัทจะแตกไลน์ไปยังผลิตภัณฑ์กลุ่มโลหะ เช่น ท่อเหล็กร้อยสายไฟ รางเหล็กและตู้ไฟเหล็ก ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าโครงการโดยตรง โดยผลิตภัณฑ์ใหม่กลุ่มนี้จะผลิตจากโรงงานแห่งใหม่ของบริษัทที่บางปะกงสำหรับในครึ่งปีหลัง แม้ราคาน้ำมันลดลง ราคาวัตถุดิบที่เป็นพลาสติก ทองแดงและอลูมิเนียมอยู่ในเทรนด์ขาลง แต่ค่าเงินบาทที่อ่อนลงอย่างต่อเนื่องจาก 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว เป็น 32 บาทในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาและล่าสุดทะลุ 36 บาท ถือเป็นต้นทุนแฝงที่เข้ามา ทำให้สถานการณ์ต้นทุนโดยรวมยังถือว่าไม่ได้ดีมากนัก ภัทร กล่าว“สิ่งที่น่ากังวล คือ อัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นในครึ่งปีหลังจะส่งผลกระทบโดยตรงกับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเผชิญกับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น และยังกระทบต่อกำลังซื้อของลูกค้าที่อยู่อาศัยและการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ อาจมีการทิ้งใบจองซื้อที่อยู่อาศัย เนื่องจากการกู้ไม่ผ่านจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น เราจึงต้องจับตามองสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจของเรา”

ในครึ่งปีหลังนี้ บริษัทยังคงเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เน้นการบริการและการผลิตที่ยึดความต้องการของลูกค้าเป็นหลักและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้า โปรโมชั่น มูลค่าขั้นต่ำในการขนส่ง หรือการพ่วงสินค้าต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องปรับตัวกับสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ ทีมการตลาดจะเข้าไปสำรวจตลาดมากขึ้น เพื่อเข้าใจปัญหาและเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง“ในช่วงที่ปัจจัยภายนอกเข้ามากระทบ มักจะเกิดปัญหาใหม่ๆ เป็นปัญหาที่เรายังไม่เคยเจอมาก่อน แต่เป็นปัญหาที่ลูกค้าเจอ การที่เรารู้ข้อมูลเหล่านั้น เราจะสามารถปรับตัวยืดหยุ่นได้ เพื่อตอบสนองลูกค้าได้ แม้ความต้องการรวมในตลาดลดลง เราก็จะยังสามารถเติบโตได้ดี” ภัทร กล่าว