LINE MAN เปิดเทรนด์ “ชาไทย Specialty” มาแรงในรอบ 3 ปีหลัง มีร้านเปิดใหม่เพิ่มขึ้น 205% ฝั่งผู้บริโภคแห่ดื่มชาไทยคุณภาพที่สามารถเลือก กลิ่น-รส แหล่งที่ปลูกได้ ยอดสั่งเติบโต 81% ทะลุ 4 แสนแก้วในปี 2024
แนวโน้มการเติบโตของชาไทย Specialty มีจุดเริ่มต้นในปี 2022 ที่อุตสาหกรรมชาขยายตัวในเชิงโครงสร้าง ทั้งด้านคุณภาพของใบชา ความหลากหลายของแหล่งปลูก และกำลังการผลิต ทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นตลาดค้าชาใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก*
ชาไทยเป็นที่ต้องการสูงจากทั้งในไทยและทั่วโลก พันธุ์ชาที่นิยมปลูกในไทยได้แก่ ชาจีน (Chinese Tea) และชาอัสสัม (Assam Tea) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของชาไทยสีส้มที่พวกเราคุ้นเคย แล้วถูกพัฒนามาเป็นเมนู “ชาไทย Specialty” ที่สามารถเลือกรสชาติและกลิ่นหอมได้ เหมือนกับเมนูกาแฟ Specialty
แพร-มิญชยา บูรณะเศรษฐกุล เจ้าของร้าน KHIRI Thai Tea หนึ่งในร้านชาไทย Specialty ที่มียอดออร์เดอร์สูงสุดบน LINE MAN เล่าว่า ชาไทยอยู่คู่คนไทยมานาน แต่ด้วยเทรนด์ผู้บริโภคชาวไทยในช่วงหลังที่หันมาบริโภคเครื่องดื่ม Specialty จากตลาดกาแฟ Specialty ทำให้เกิดตลาดชาไทย “Specialty” ขึ้นตามมา

รูปแบบของชาไทย Specialty เชื่อมโยงทุกกระบวนการพัฒนาชาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ใช้ใบชาจากเกษตรกรไทย พัฒนาโดยคนไทย และถ่ายทอดเป็นเมนูที่สะท้อนรสชาติแท้ของชาไทย ปัจจุบัน ร้านชาไทยทั่วประเทศเริ่มคัดสรรใบชาคุณภาพจากแหล่งปลูกหลากหลายทั่วไทย ซึ่งมี Taste Notes เป็นเอกลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ เช่น ชาเชียงรายให้กลิ่นอายดอกไม้และเบอร์รี่ ชาแม่ฮ่องสอนมีโน้ตของส้มและเนยสด ชาปัตตานีมีกลิ่นหอมของเนยถั่วและลูกสน
นอกจากนี้ กระแส “ชาไทยลิซ่า” เมนู Thai up the World by Lisa ที่สร้างสรรค์โดย "ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล" ร่วมกับ Erewhon ซูเปอร์มาร์เก็ตหรูในอเมริกา ผู้บริโภคกระแสหลักจึงสนใจเมนูชาไทยพรีเมียมมากขึ้น ส่งผลให้ร้านดังอย่าง KHIRI Thai Tea, Unicorn Signature, C PROM และร้านเครื่องดื่มทั่วประเทศเพิ่มเมนู “ชาไทยลิซ่า” ตามมา

เดลิเวอรี่หนุนตลาดชาไทย Specialty โตแรงทั่วประเทศ
จากฐานข้อมูลของ LINE MAN พบแนวโน้มการเติบโตที่สำคัญของเมนูชาไทย Specialty อย่างชัดเจน ในระหว่างปี 2022-2024 ดังนี้
-ร้านเครื่องดื่มที่ขายชาไทย Specialty เพิ่มขึ้นกว่า 205% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา** สอดรับกับพฤติกรรมคนไทยที่หันมาดื่มชาไทยคุณภาพสูงมากขึ้น โดยปี 2024 มียอดสั่งเดลิเวอรีรวมแตะ 4 แสนแก้ว โต 81% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
-กรุงเทพฯ ยังคงเป็นศูนย์กลางของเทรนด์ชาไทย Specialty มีจำนวนร้านมากที่สุด คิดเป็น 46% ของทั้งประเทศ ตามมาด้วยนนทบุรี และชลบุรี

แพร-มิญชยา กล่าวเสริมว่า ถ้าเราสามารถถ่ายทอดเรื่องราวของชาไทยได้ดี และมีปัจจัยสนับสนุน เช่น การพัฒนาเมนูใหม่ การขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้ากว้างขึ้น หรือการผลักดันจากแบรนด์ใหญ่ โอกาสที่ชาไทย Specialty จะแมสใกล้เคียงกับกาแฟ Specialty อาจเกิดได้เร็วขึ้นทั้งในไทยและระดับโลก
ในภาพใหญ่ของตลาดเครื่องดื่ม Specialty ทั้งหมด กาแฟ Specialty ยังเป็นผู้นำตลาดในแง่จำนวน ส่วนตลาดชาไทย Specialty กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว หากเทียบอัตราการเติบโตในช่วง 3 ปีล่าสุด (2022-2024) จากฐานข้อมูล LINE MAN พบว่า ยอดสั่งชาไทย Specialty โตขึ้นกว่า 3.3 เท่า เทียบกับกาแฟ Specialty ที่เติบโต 2.7 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน

*อ้างอิงข้อมูลจากสถิติการประเมินยอดขายชาโดยสถาบันชาและกาแฟแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 7 ก.ค. 2023
**ข้อมูลเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม ของปี 2022 และ ปี 2024
ภาพ: LINE MAN
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สายรักสุขภาพมีเฮ! ท็อปส์ เดลี่เปิดตัว Smoothie Daily เครื่องทำสมูทตี้อัตโนมัติครั้งแรกในไทย ราคาแก้วละ 65 บาท
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine