ปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทหลักทรัพย์ ซี เเอล เอสเอ (ประเทศไทย) จำกัด เเละกรรมการตลาดหลักทรัพย์เเห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา "SMEs : Speed Up to the New Game" ว่า ช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีการเปลี่ยนเเปลงทางโครงสร้างครั้งใหญ่ในเรื่องของเทคโนโลยี เเต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทยยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะการเข้าถึงเเหล่งเงินทุนของ SME ขณะเดียวกันต้องเผชิญกับปัญหาการขาดการลุงทุนในด้านทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาทักษะขั้นสูง รวมถึงการต่อสู้กับมลภาวะอากาศเป็นพิษ
นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังต้องปรับตัวเพื่อสู้กับคู่เเข่งจากต่างชาติ ทุกวันนี้เทคโนโลยีได้ทำลายธุรกิจซื้อมาขายไป ทำให้คนที่เป็นพ่อค้าคนกลางขาดรายได้ เพราะลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิตโดยตรงเเละมีราคาถูกกว่า ดังนั้นควรมองวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสว่าอี-คอมเมิร์ซ ที่ขายตรงจากจีน ก็จะเป็นช่องทางการขยายสินค้าของเราไปสู่ตลาดโลกเช่นกัน ปรับสินค้าให้มีความพิเศษ หาจุดเด่นความเป็นไทยออกมาให้เจอ เเละไม่ต้องพึ่งพาธุรกิจเเบบเดิมอีกต่อไป
“คนรุ่นใหม่ที่จะมาเป็นลูกค้าหลักของธุรกิจ SME พวกเขามีวิธีการมองความสำเร็จเเบบใหม่ เราก็ต้องปรับสินค้าให้ก้าวทันความคิดของพวกเขาด้วย”
โดยเเนะนำให้มุ่งเน้นไปที่การนำความคิดสร้างสรรค์มาสร้างเรื่องราวของเเบรนด์ สร้างสินค้าคุณภาพเเละเข้าไปอยู่ในทุกไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่
Branding กับธุรกิจ SME
โอลิเวอร์ กิตติพงษ์ วีระเดชะ ประธานอำนวยการบริหาร เเละที่ปรึกษาเเบรนด์อาวุโส บริษัทยังก์ เเอนด์ รูบิเเคม จำกัด กล่าวถึงการสร้างนวัตกรรมการสื่อสารทางการตลาด เพื่อเพิ่มพลังของ SME ว่า การสร้าง Branding คือการเอาความชอบมาทำให้เป็นอาชีพ เอาความหลงใหลมาทำให้เป็น Branding ที่คนอื่นอยากได้ โดยเเบรนด์ไทยมีความได้เปรียบด้วยพื้นฐานที่มีคนรู้จักทั่วโลกเเละโดดเด่นด้านครีเอทีฟ
“ต้องมีความกล้าในการวางเเผนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เเทนที่จะรอให้ปัญหาเกิดเเล้วค่อยคิดเเผนมาเเก้ ดังนั้นคุณจะทำ Branding อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมี Business Plan ที่ดีด้วย”
สำหรับหัวใจหลักของการสร้าง Branding คือทำอย่างไรให้ “รู้จัก-ชอบ-รัก-ใช้-ภักดี” เอาความศรัทธาในสิ่งที่เราทำมาทำให้มีมูลค่า เมื่อผู้บริโภครับรู้ ชื่นชอบเเละจะนำไปสู่การซื้อ ใช้ช้ำเเละภักดีต่อเเบรนด์ต่อไป
“อย่ามองว่าเราเหมือนใคร จงหาจุดต่าง มองภาพให้ใหญ่ขึ้นเเล้วมุ่งพัฒนาโปรดักส์”
ด้าน อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า อุปสรรคของ SME ไทยบางส่วนคือยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับ Vision ระยะยาว เเต่เลือกขายของให้ได้มากกว่าหรือทำอย่างไรให้ได้ยอดขายในทันที ซึ่งอาจทำให้ไม่ได้มองถึงการสร้าง Branding เเละการลงทุนในเทคโนโลยีมากนัก
โดยคำเเนะนำสำหรับผู้ที่อยากจะเริ่มต้นใช้เทคโนโลยีมาผลักดันธุรกิจ คือทุกวันนี้มีหลักสูตรเปิดสอนเกี่ยวกับ social media marketing มากมาย รวมถึงการให้บริการ LINE@ เเละเเพลตฟอร์มค้าขายออนไลน์ต่างๆ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถศึกษาหาความรู้เเละทดลองใช้ได้
“ให้ไปดูเเบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ เขามีการจัดการอย่างไร ออกโปรโมชั่นเเบบไหน หรือถามตอบกับลูกค้าช่องทางใด จากนั้นเริ่มนำมาปรับใช้ให้เข้ากับเเบรนด์ตัวเอง”
ถึงเวลา Speed Up to the New Game
สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางเเละขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า SME รุ่นใหม่ต้องดูจากหัวใจ ไม่เกี่ยวกับอายุ คิดนอกรอบและออกไปขายในระดับโลกได้ โดยควรเลือกตลาดเฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงเอาทักษะและเทคโนโลยีไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ธุรกิจของ SME ในปีนี้ต้อง Born Digital มีแอปพลิเคชั่นที่เชื่อมต่อหลายส่วนทั้งลูกค้า โมเดิร์นเทรดและผู้ขายออนไลน์ ซึ่งทางสสว.จะให้การสนับสนุนและให้โอกาสผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รวมไปถึงผู้ประกอบการที่คิดจะทำธุรกิจในวัยเกษียณด้วย เป็นการรองรับสังคมสูงอายุที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้”
โดย SME ไทยนั้นมีความหลากหลาย ปีที่ผ่านมาสสว. จึงได้มีการแบ่งโดยฐานรายได้ของ SME มาเป็นนิยามด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้จะดูแค่สินทรัพย์ถาวร คาดว่าหลังจากเปลี่ยนวิธีการมาดูจากรายได้และจำนวนคน จะมีตอบสนองความต้องการของตลาด SME ได้มากขึ้น
สำหรับนโยบายที่จะพัฒนา SME ไทยซึ่งแต่ละกลุ่มมีการเติบโตไม่เหมือนกัน จึงจำเป็นที่ต้องผลักดันกลุ่มใหม่ ควบคู่กับกลุ่มเดิม โดยสสว.ออกแบบมา 3 เรื่อง คือ 1) Transformation ปรับ Business Model อย่างไรให้กล้าเติบโต 2) internationalization ก้าวสู่ระดับโลกให้ได้ ยกระดับผลิตภัณฑ์สู่การค้าระหว่างประเทศ ทดสอบตลาดและพาไปขายในตลาดจริง เเละ 3) Comparative networking ต้องการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงของ SME ที่เป็นกลุ่มภาคอุตสาหกรรมกับสร้างเครือข่ายนักวิชาการ ที่ปรึกษาต่าง ๆ ที่จะช่วยเหลือ SME ได้มากขึ้น
ทั้งนี้ กลุ่ม SME ที่เติบโตมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา คือ กลุ่มธุรกิจอาหาร กลุ่มไลฟ์สไตล์ เช่น ของตกแต่งบ้าน และกลุ่มผลิตภัณฑ์สปา โดยเป็นตัวอย่างของ SME ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ประกอบกับจุดเด่นของประเทศไทย มีเสน่ห์ด้วยตัวเองและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ในปี 2019 นี้ สสว.จึงจะขยายผลเชื่อมโยงมิติภาคการค้าและบริการ โดยจัดเป็นกิจกรรมในพื้นที่ การแข่งขันประกวด SME หยิบของดีจาก 77 จังหวัดออกมาพัฒนาต่อ นอกจากนี้ยังจะมุ่งไปพัฒนาในระดับคลัสเตอร์ ทั้งอาหารและการเกษตร โดยปีที่ผ่านมามีการทดลองพัฒนาในกลุ่ม “มวยไทย” ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างมาก เเละได้ขยายไปเป็นคลัสเตอร์ sport economy ที่มีทั้งกีฬา สุขภาพและอาหารเสริม สถานประกอบการฟิตเนส เป็นต้น
เเละอีกคลัสเตอร์ที่ได้รับผลตอบรับดีมากอีกอย่างคือ “Animation” ที่ SME รุ่นใหม่เอาความรู้ด้านเทคโนโลยีมาพัฒนาให้เข้ากับยุคสมัย ใช้คนน้อยแต่รายได้สูง
"ส่วนคลัสเตอร์ที่เพิ่งเริ่มต้นและเชื่อว่าจะเป็นเทรนด์ในปีนี้คือ creative entertainment ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ประกอบเป็นสื่อต่าง ๆ เป็นคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง ที่ปลุกให้คนลุกขึ้นมาเอาศิลปะในตัวเองมาขยายผลเป็นธุรกิจ"
เมื่อถามว่า อะไรคืออุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดของ SME ไทย ผู้อำนวยการสสว. เปิดเผยว่า หลังจากทำผลสำรวจมาหลายแบบ ช่วงแรกมองว่ากับดักแรกคือเรื่อง การเงิน แต่เมื่อศึกษาอย่างเต็มที่ พบว่าสิ่งที่ SME อยากให้ช่วยเหลือมากที่สุดคือ การตลาด จึงมีการจัดกิจกรรมที่ต้องไปออกพื้นที่ ทดสอบตลาดใหม่ๆ หรือทำตลาดเชิงลึกที่เหมาะกับกลุ่มลูกค้านั้น
อุปสรรคอย่างที่ 2 คือ ความสามารถในการผลิต ในอดีตเรามีความเป็นผู้ผลิตสูง แต่ในปัจจุบัน SME รุ่นใหม่หันมาลงทุนในภาคบริการมากขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้มีความต้องการที่จะยกระดับคุณภาพการผลิตและการบริหารจัดการ
ส่วนอุปสรรคอย่างที่ 3 คือ การจัดการองค์กร และ 4 คือเรื่อง เทคโนโลยี โดยสสว.ได้ประกาศให้ปีนี้เป็นการ Born Digital ซึ่งเทคโนโลยีทุกอย่างจะต้องมาอยู่ใกล้ตัว พร้อมที่จะเปลี่ยนตัวเองและนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ สมัยก่อนแข่งกับร้านค้าใกล้เรือนเคียง แต่สมัยนี้แข่งกับคนอื่น ๆ ที่อยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล จึงสมควรที่จะเร่งตัวเอง ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งของการปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดและการแข่งขัน
“การเลือกตั้งที่จะมาถึง เชื่อว่าเป็นสิ่งที่หลายคนรอ และหลังจากนั้นคาดว่าเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น เเต่ก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่าย เพราะทุกคนล้วนแล้วแต่มีหมวกของผู้ซื้อ ถ้าเราช่วยกันอุดหนุนสินค้า SME ด้วย เงินก็จะสะพัด รายได้ก็จะเติบโต องค์ความรู้ที่เราจะนำมาให้ผู้ประกอบการจึงไม่ใช่รูปแบบกว้างๆ เพื่อทุกคนอีกต่อไป เเต่เราจะหันมาเฉพาะเจาะจง ให้องค์ความรู้ที่เหมาะกับกลุ่มนั้น ๆ แล้ว SME ได้เอาไปใช้ได้จริง ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวของโครงสร้างเศรษฐกิจ”
สำหรับการดำเนินงานของ "คลังข้อมูลองค์ความรู้สำหรับผู้ประกอบการ" หรือ SME Knowledge Center ที่สสว.จะดำเนินการในปีนี้ จะเป็นรูปแบบองค์รวมทั้งแบบออนไลน์ ที่กลุ่มผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงได้ง่าย ควบคู่ไปกับการลงพื้นที่ดำเนินการอบรมความรู้แก่ผู้ประกอบทั่วประเทศ อย่างน้อย 4 พันราย จำนวน 21 ครั้ง แบ่งเป็น 6 เขตทั่วประเทศ คือภาคเหนือ อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย อุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น หนองคาย นครราชสีมา อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ภาคตะวันตก ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี ภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และภาคกลาง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร อยุธยา สุพรรณบุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก โดยสสว.คาดหวังว่า SME Knowledge Center นี้ จะเป็นศูนย์รวมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือให้คำปรึกษาธุรกิจด้านเศรษฐกิจดิจิทัล หรือด้านอื่น ๆ ที่มีความต้องการ โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมอย่างน้อย 4 พันราย และความรู้เพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 75% ซึ่งคาดว่าในปีนี้ จำนวนผู้เข้าใช้บริการคลังข้อมูลองค์ความรู้ ไม่น้อยกว่า 2 เเสนครั้ง“สิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตเราคือการได้ทดลอง ความกล้าตอบได้ด้วยการลองดู ถ้าคิดแล้วได้แต่ดู สิ่งนั้นก็ไม่มีวันรู้ว่ามันจะสำเร็จหรือไม่ สิ่งสำคัญของคนรุ่นใหม่ ด้วยวัยที่กำลังมีความโดดเดี่ยวและกล้าหาญ จงใช้มันให้เป็นประโยชน์ ทำอย่างเต็มที่ แพ้ชนะไม่ใช่เรื่องสำคัญ ธุรกิจเริ่มแล้วล้มไม่ใช่เรื่องแปลก ยิ่งอายุน้อยยิ่งทำยิ่งเร็ว เรากำลังทำในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้าทำ ขอแค่ก่อนจะเริ่มวางแผนให้ดี หาความพิเศษของสิ่งที่เราทำและมีกลุ่มลูกค้าชัดเจน ถ้ามีก็กล้าโดดลงไปเลย”