เมื่อเศรษฐกิจจีนซบเซา Huawei เลยใช้วิธีกระตุ้นยอดขายโดยการติดฉลากให้ Watch D2 นาฬิกาสมาร์ทวอทช์รุ่นล่าสุดที่มีฟังก์ชันการวัดค่าความดันโลหิตกลายเป็นหนึ่งใน 'อุปกรณ์การแพทย์' ที่คนจีนสามารถใช้สิทธิประกันสุขภาพช่วยซื้อได้ แบบไม่ต้องจ่ายในราคาเต็ม!
ท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันที่ดุเดือดของตลาด ‘สมาร์ทวอทช์’ ในปัจจุบัน ล่าสุดทาง Huawei Technologies Co. ได้ค้นพบวิธีกระตุ้นยอดขายสมาร์ทวอทช์รุ่นล่าสุด หลังจากผู้บริโภคในจีนต่างระมัดระวังการใช้จ่ายอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ซบเซา
วิธีกระตุ้นยอดขายดังกล่าวได้กระแสตอบรับเป็นอย่างดี หลังจากมีการวางขายสมาร์ทวอทช์รุ่นล่าสุดตามร้านขายยาทั่วประเทศจีน โดยหลายร้านสินค้าหมดสต็อกลงอย่างรวดเร็ว และบางร้านต้องให้ลูกค้าจำนวนมากสั่งจองสินค้าล่วงหน้าเป็นเวลาหลายวัน
โดย Huawei ได้ทำการตลาดผ่านตัวสินค้า ผ่านการเคลมว่าสมาร์ทวอทช์รุ่นใหม่ล่าสุดอย่าง Watch D2 Smart Watch ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีราคาจำหน่ายเรือนละ 2,988 หยวน หรือคิดเป็นเงินไทยราว 14,000 บาท ถือเป็นหนึ่งใน ‘อุปกรณ์ทางการแพทย์’ ที่เหล่าผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิประกันสุขภาพช่วยจ่ายได้ โดยที่ไม่ต้องควักเงินจ่ายเองในราคาเต็ม
เหล่าผู้ใช้งาน Xiaohongshu แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของจีน มีการแชร์ข้อมูลผ่านโลกออนไลน์ด้วยว่า นอกเหนือจากฟังก์ชันต่างๆ ด้านสุขภาพมากมาย สมาร์ทวอทช์รุ่นนี้ยังมีฟังก์ชันการติดตามความดันโลหิต ที่ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้สามารถจดทะเบียนเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสามารถใช้เงินที่รัฐบาลจีนฝากเข้าบัญชีประกันสุขภาพส่วนบุคคลของแต่ละคนในการซื้อได้ ไม่ว่าจะจ่ายเต็มจำนวนหรือบางส่วน ซึ่งรายละเอียดในการจ่ายเงินขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ของแต่ละเมือง
ทั้งนี้ จากโครงการประกันสุขภาพของจีน ซึ่งครอบคลุมประชากรราว 95% จาก 1.4 พันล้านคน จะคืนเงินจำนวนหนึ่งเข้าบัญชีส่วนบุคคลของประชาชนทุกเดือน โดยเงินดังกล่าวสามารถนำไปใช้จ่ายสำหรับยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือด เครื่องวัดความดันโลหิต และปรอทวัดไข้ ที่ซื้อจากโรงพยาบาลหรือร้านขายยาได้ ก่อนที่ผู้ป่วยจะใช้สิทธิ์ลดหย่อนประจำปีเพื่อเริ่มการเบิกจ่ายคืน โดยเงินในบัญชี ‘ไม่สามารถถอน’ ออกมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น
ดังนั้นผู้คนจำนวนมากในจีนจึงเลือกใช้เงินในบัญชีประกันสุขภาพส่วนตัว ‘แทนเงินสด’ เพื่อซื้อ Smart Watch มาสวมใส่ นับได้ว่าเป็นหนึ่งในแผนการตลาดที่ช่วยกระตุ้นยอดขายได้เป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้จากข้อมูลการรายงานยังเผยอีกด้วยว่า แบรนด์คู่แข่งจากอเมริกาอย่าง Apple Watch กลับไม่ได้รับการจดทะเบียนเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์จีนแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม แม้สินค้าตัวนี้จะถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน ‘อุปกรณ์ทางการแพทย์’ ที่ผู้คนสนใจเลือกซื้อผ่านร้านขายยาทั่วประเทศได้ แต่ด้วยข้อจำกัดในหลายพื้นที่ทั้งในเรื่องของจำนวนการสั่งซื้อ 1 คนต่อ 1 เรือน และหลังซื้อจะต้องเปิดใช้งานทันที ถือเป็นผลกระทบต่อรายได้โดยรวมของบริษัท Huawei ที่อาจจะขายได้ไม่มากตามแผนที่ตั้งเป้าไว้
ขณะเดียวกันก็ยังเกิดคำถามในสังคมตามมาอีกมากมาย ว่านี่ถือเป็นการฉวยโอกาสจำหน่ายสินค้าจากการติดฉลากทางการแพทย์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีนหรือไม่เพื่อหาทางสร้างยอดขายให้มากขึ้นกว่าเดิม
ภาพ : Huawei
แปลและเรียบเรียงจากบทความ : Huawei Boosts Smartwatch Sales by Registering Them as Medical Devices