คณะแพทย์ศิริราช ทุ่มกว่า 1,000 ล้าน สร้างตึกศูนย์วิจัยใหม่ พร้อมเพิ่มเตียง ‘ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์’ - Forbes Thailand

คณะแพทย์ศิริราช ทุ่มกว่า 1,000 ล้าน สร้างตึกศูนย์วิจัยใหม่ พร้อมเพิ่มเตียง ‘ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์’

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ทุ่มงบกว่า 1,000 ล้าน ผุด 2 ตึกศูนย์วิจัยใหม่ หลังซื้อที่ดินเลียบทางรถไฟตลิ่งชัน 9 ไร่ พร้อมเพิ่มเตียงอีก 100 เตียงที่ รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ รองรับผู้ป่วย 3 ปีข้างหน้า ส่วนปลายปีนี้เตรียมขยายพื้นที่ ICU เพิ่มอีก 17 เตียง และเปิดโซนใหม่รองรับผู้ป่วยวิกฤตเฉพาะทางครั้งแรก


    เมื่อเร็วๆ นี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ใช้เงินประมาณ 200 ล้านบาท ซื้อที่ดิน 9 ไร่ ในบริเวณตลาดไชยทิศ ตั้งอยู่บริเวณเลียบทางรถไฟตลิ่งชัน เขตบางกอกน้อย เพื่อจะสร้างศูนย์วิจัยแห่งใหม่ รักษาโรคด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือตลอดจนวิธีการรักษาทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าไปอีกขึ้น

    ศาสตราจารย์ นายแพทย์กฤตย์วิกรม ดุรงค์พิศิษฏ์กุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เปิดเผยว่า ทางคณะแพทย์ศิริราชฯ จะใช้เงินประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อสร้างตึกขนาดความสูง 10 ชั้น จำนวน 2 ตึก ในพื้นที่บริเวณเลียบทางรถไฟเขตบางกอกน้อยในปี พ.ศ. 2569 และจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2571

    “แผนการดังกล่าวเพื่อรองรับการขยายพื้นที่รักษาผู้ป่วยในของโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เพิ่มขึ้นเป็น 500 เตียงภายใน 3 ปี จากปัจจุบันที่มีจำนวนเตียงให้บริการทั้งหมด 400 เตียง โดยจำนวนเตียงที่จะเพิ่มอีก 100 เตียง จะทำในพื้นที่ปัจจุบันของโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และในพื้นที่ปัจจุบันของศูนย์วิจัยของคณะแพทย์ฯ ที่ตั้งอยู่ด้านข้างของโรงพยาบาลฯ และย้ายศูนย์วิจัยในปัจจุบันและพื้นที่ของส่วนสำนักงานไปตึกใหม่ที่จะก่อสร้างใกล้กับตลาดไชยทิศ บางกอกน้อย"


ศาสตราจารย์ นายแพทย์กฤตย์วิกรม ดุรงค์พิศิษฏ์กุล


    และในโอกาสเข้าสู่การดำเนินการในปีที่ 14 ของโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ในปีนี้ ทางโรงพยาบาลกำลังอยู่ระหว่างการขยายพื้นที่เพื่อเพิ่มเตียงผู้ป่วยวิกฤต ICU ขึ้นอีกจำนวน 17 เตียงในช่วงปลายปี พ.ศ. 2568 จากปัจจุบันที่มีจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยวิกฤตอยู่แล้วทั้งสิ้น 89 เตียง ปัจจุบันสัดส่วนจำนวนเตียงไอซียูมีประมาณ 22% ของจำนวนเตียงทั้งหมด และทางโรงพยาบาลคาดว่าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็น 25% ใน 3 ปี

    นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลยังมีแผนการเปิด High Dependency Unit (HDU) เพื่อดูแลผู้ป่วยที่ต้องได้รับการเฝ้าระวังใกล้ชิดเป็นพิเศษ สำหรับดูแลผู้ป่วยที่อาการรุนแรง ‘ระดับกลาง’ คือ อาการที่ยังไม่ถึงขั้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือยังไม่รุนแรงที่จะต้องเข้า ICU ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มีอายุมาก ปัจจุบันผู้ป่วยที่ รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ที่มีอายุระหว่าง 80-90 ปีนั้นคิดเป็นสัดส่วนถึง 20-25% ของคนไข้ทั้งหมด จึงต้องการการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด รวมถึงมีภาวะเปราะบางและต้องการการบริบาลแบบใส่ใจใกล้ชิด


    “ในช่วงปีแรกของก่อตั้งโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ อายุเฉลี่ยของคนไข้ที่เข้ามารับการรักษาอยู่ที่ 60-70 ปี และเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึง 80-90 ปีในปัจจุบัน ประกอบกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ทางโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ จึงเตรียมเปิดหอผู้ป่วยใหม่รองรับผู้ป่วยวิกฤตเฉพาะทาง กึ่งไอซียู ครั้งแรกในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า” ศาสตราจารย์ นายแพทย์กฤตย์วิกรมกล่าว

    นอกจากการขยายหอผู้ป่วย ทางโรงพยาบาลได้ยกระดับการดูแลรักษาผ่านการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์สมัยใหม่ เทคโนโลยี AI ปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาช่วยและสนับสนุนเพื่อวิเคราะห์และสร้างความแม่นยำในการวินิจฉัยและรักษามากยิ่งขึ้น และใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic-assisted da Vinci Surgery) ครอบคลุมการผ่าตัดระบบทางเดินปัสสาวะ การผ่าตัดในช่องท้อง การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและสะโพกเทียม เป็นต้น โดยทำหน้าที่ควบคู่กับศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญการผ่าตัด ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี ทั้งความปลอดภัย เพิ่มโอกาสการกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติให้กับผู้ป่วย


    โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ หรือ “SiPH” ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 มีวัตถุประสงค์เพื่อนำรายได้จากการบริการทางการแพทย์คืนสู่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ศิริราช

    ปัจจุบันเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลภายใต้การดูแลและกำกับโดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พร้อมกับเครือข่ายอื่นๆ อาทิ ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราชจังหวัดสมุทรสาคร และ SIRIRAJ H Solutions ศูนย์ดูแลสุขภาพครบวงจรแห่งแรกนอกพื้นที่โรงพยาบาล ที่ ICS และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก จากเริ่มแรกที่ทำการรักษา 2 โรคเฉพาะทางคือโรคหัวใจและโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติทางกระดูกและข้อ รวมไปถึงเส้นประสาทต่างๆ ปัจจุบันโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เปิดให้การรักษาถึง 20 โรคเฉพาะทาง


    ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา โรงพยาบาลศิริราชมีผู้ป่วยมาใช้บริการที่เป็นผู้ป่วยนอกมากกว่าสามล้านราย และผู้ป่วยในมากกว่าหนึ่งแสนราย และมีจำนวนผู้ป่วยนอกมารับการรักษาภายใต้เครือข่ายของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลทั้ง 5 แห่ง สูงถึง 4.8 ล้านครั้ง ถือว่าสูงที่สุดตั้งแต่เปิดบริการมา 137 ปี

    ในแต่ละปีจะมีจำนวนผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการในระบบเพิ่มขึ้นปีละ 10% เฉลี่ยใช้บริการ 4 วันต่อครั้งและทำหัตถการมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับอัตราค่ารักษาพยาบาลของทางโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ จะอยู่ที่ 80% ของค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำของประเทศ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล


    นอกจากโครงการที่กล่าวมาแล้ว ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ยังอยู่ระหว่างเตรียมแผนลงทุนอีกประมาณ 17,000 ล้านบาท สร้างโรงพยาบาล “ศิริราชนานาชาติ” บางโพ บนที่ดิน 13 ไร่ มีความสูง 19 ชั้น ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้เคียงกับสถานที่สำคัญหลายแห่ง อาทิ อาคารรัฐสภา สถานีรถไฟฟ้าบางโพ เป็นต้น

    ทั้งนี้ “ศิริราชนานาชาติ” บางโพ มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 149,714 ตารางเมตร ประกอบไปด้วยหอผู้ป่วย 422 เตียง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2569 และแล้วเสร็จใน 2574



ภาพ: คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : อ่านสาเหตุธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยปี 68 จะโตต่ำที่ 3% หลังจากช่วงสิบปีก่อนหน้าโตถึง 11.6% ต่อปี

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine