เพราะเรื่องกินคือเรื่องใหญ่! ไทยนำเข้าปลาจากนอร์เวย์กว่า 2 หมื่นตัน มูลค่าตลาด 7.5 พันล้านบาท - Forbes Thailand

เพราะเรื่องกินคือเรื่องใหญ่! ไทยนำเข้าปลาจากนอร์เวย์กว่า 2 หมื่นตัน มูลค่าตลาด 7.5 พันล้านบาท

FORBES THAILAND / ADMIN
11 Apr 2024 | 05:33 PM
READ 1135

ผู้ที่โปรดปรานเนื้อปลาแซลมอนคงทราบกันดีว่า แซลมอนจากนอร์เวย์คือแซลมอนคุณภาพสูง สะอาด และสามารถรับประทานสดได้อย่างปลอดภัย แต่นอร์เวย์ไม่ได้ขึ้นชื่อแค่แซลมอนเท่านั้น ประเทศแห่งนี้ยังเป็นผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลคุณภาพสูงและมีความยั่งยืนให้กับทั่วโลก โดยมีไทยเป็นตลาดสำคัญที่มีมูลค่าถึง 7.5 พันล้านบาทในปี 2566 ที่ผ่านมา


    ลองสังเกตดูเวลาไปเลือกซื้ออาหารทะเลที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความอร่อยและดีต่อสุขภาพตามเคาน์เตอร์ในซูเปอร์มาร์เก็ต หลายคนอาจจะเคยเห็นตราสัญลักษณ์ Seafood from Norway ซึ่งบ่งบอกถึงอาหารทะเลคุณภาพสูง ที่เพาะเลี้ยงและจับได้ในน้ำทะเลนอร์เวย์


ประเทศแห่งอาหารทะเล

    นอร์เวย์เป็นประเทศที่ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยเป็นประเทศแรกและยังคงเป็นประเทศที่ทำการประมงที่ใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรแอตแลนติก สามารถผลิตแซลมอนจากการเลี้ยงภายในฟาร์มตามแนวชายฝั่งที่ยาวกว่า 100,000 กิโลเมตร ได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดในโลก



    นอร์เวย์แวดล้อมไปด้วยน้ำทะเลที่เย็นและใสสะอาด เป็นแหล่งกำเนิดของแซลมอนที่สมบูรณ์แบบ ทั้งยังมีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมายาวนานนับศตวรรษ โดยตั้งอยู่บนรากฐานของผู้คน ธรรมชาติ และความยั่งยืน อาหารทะเลถือเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งและเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งที่สุดของนอร์เวย์

    ในปี 2566 ประเทศนอร์เวย์ได้ส่งออกอาหารทะเลคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5.86 แสนล้านบาท นับเป็นสัดส่วน 3.33% ของสินค้าและบริการส่งออกโดยรวมของประเทศ


เพราะทุกมื้ออาหารมีความสำคัญ

    อาหารทะเลถือเป็นแหล่งโปรตีนที่จำเป็นและยังเป็นทางเลือกอาหารที่ยั่งยืนสำหรับคนรุ่นใหม่ซึ่งล้วนให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของอาหารและการผลิตที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม

    ในแต่ละปี นอร์เวย์ผลิตอาหารทะเล เช่น แซลมอน นอร์วีเจียนซาบะ และฟยอร์ดเทราต์ เทียบเท่า 40 ล้านมื้อต่อวัน ปริมาณรวมกว่า 2.9 ล้านตัน เป็นมูลค่ากว่า 510 ล้านบาท เพื่อส่งออกไปยัง 150 ประเทศทั่วโลก

    หากมีการดำเนินการที่ยั่งยืน เมื่อเทียบกับโปรตีนชนิดอื่นๆ เช่น เนื้อหมูหรือเนื้อวัว อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าถึง 10 เท่า อาหารทะเลจากนอร์เวย์จึงไม่เพียงแต่อร่อยและดีต่อสุขภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นมิตรต่อโลกอีกด้วย



สร้างการจดจำให้ทั่วโลกรู้จัก

    คนไทยส่วนใหญ่รู้จักแซลมอนผ่านอาหารญี่ปุ่น เพราะพบได้บ่อยในเมนูอย่างซูชิและซาชิมิตามร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีมากกว่า 5,300 แห่งทั่วประเทศ คนไทยมีความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นอย่างดี แต่มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เคยสัมผัสกับวัฒนธรรมนอร์เวย์

    สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) ซึ่งเป็นสภาเดียวในโลกที่เป็นตัวแทนอุตสาหกรรมอาหารทะเลของประเทศจึงได้สร้างแคมเปญทางการตลาดมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มการรับรู้ถึงประเทศต้นกำเนิดอย่างนอร์เวย์ ในฐานะประเทศที่ผลิตอาหารทะเลคุณภาพสูง โดยในปี 2560 ได้เปิดตัวสัญลักษณ์ใหม่ที่มีความเรียบง่ายและเข้าถึงผู้คนได้ในระดับนานาชาติ การเดินทางของสัญลักษณ์ Seafood from Norway จึงได้เริ่มขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


เดินหน้าสร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่อง

    สัญลักษณ์ Seafood from Norway ทำให้แบรนด์อาหารทะเลจากนอร์เวย์มีความแข็งแกร่งมากขึ้นในตลาดโลก ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารทะเลกำลังเติบโตเป็นอย่างมาก

    ในปี 2566 ประเทศไทยนำเข้าแซลมอนและฟยอร์ดเทราต์เป็นปริมาณกว่า 23,526 ตัน โดยเป็นแซลมอนและฟยอร์ดเทราต์สดรวมกว่า 21,808 ตัน ประเทศไทยกลายเป็นตลาดที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับผู้ส่งออกอาหารทะเลจากนอร์เวย์ ซึ่งมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 7.5 พันล้านบาท



    การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมาอย่างยาวนานนับศตวรรษของประเทศแห่งอาหารทะเลอย่างนอร์เวย์ยังคงเติบโตต่อไป ด้วยการผลิตที่มีความยั่งยืน ความชำนาญด้านอาหารทะเล และธรรมชาติอันบริสุทธิ์ ทำให้นอร์เวย์สามารถผลิตโปรตีนคุณภาพสูงจากท้องทะเลที่เหมาะกับทุกจานอาหาร

    ในขณะเดียวกันแซลมอนจากนอร์เวย์ก็ได้เดินทางจากการเป็นวัตถุดิบสำหรับซูชิและซาชิมิ มาสู่อาหารไทยอันแสนอร่อยและครองใจคนไทยได้ไม่น้อย เรียกได้ว่าอาหารทะเลจากนอร์เวย์เป็นมื้ออาหารที่เหมาะสำหรับทุกคน


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : พาสปอร์ตเล่มเดียวไม่พอ! เมื่อความไม่แน่นอนทางการเงิน พาชาวอเมริกันผู้มั่งคั่งแห่ขอสัญชาติใหม่

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine