รู้จัก Swire อาณาจักรธุรกิจ 200 ปี จากอังกฤษสู่ฮ่องกง และกำลังขยายการลงทุนมา ‘ไทย’ - Forbes Thailand

รู้จัก Swire อาณาจักรธุรกิจ 200 ปี จากอังกฤษสู่ฮ่องกง และกำลังขยายการลงทุนมา ‘ไทย’

แม้ชื่ออาจไม่คุ้นหูคนไทย แต่นี่คือหนึ่งในธุรกิจระดับโลกที่มีประวัติยาวนานกว่า 200 ปี และปัจจุบัน Swire ขยายธุรกิจไปกว่า 6 เซกเตอร์ ทั้งการขนส่งโลจิสติกส์, เป็นเจ้าของสายการบิน Cathay Pacific, ถือลิขสิทธิ์ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มของกลุ่มโคคา-โคล่าในหลายประเทศ, พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งอาคารสำนักงาน, ที่อยู่อาศัย และโรงแรมทั้งในฮ่องกงและหลายประเทศ และล่าสุดได้ขยายการลงทุนมาไทยแล้วเช่นกัน


    ก่อนหน้านี้ย้อนกลับไปเมื่อปี 2023 หลายคนอาจเคยได้ยินข่าวในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ถึงการที่บริษัทฮ่องกงอย่าง Swire Properties (สไวร์ พร็อพเพอร์ตี้ส์) เข้าถือหุ้น 40% บนที่ดินทำเลทองของกรุงเทพฯ อย่าง ถ.วิทยุ ภายใต้ความร่วมมือกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทยอย่างบริษัท ซิตี้ เรียลตี้ จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจอสังหาฯ ของกลุ่ม “โสภณพนิช” โดยจะร่วมกันพัฒนาที่อยู่อาศัยสุดลักชัวรีบนที่ดินแปลงนี้

    ไม่เพียงเท่านั้น ในปี 2024 ที่ผ่านมา ในแวดวงข่าวการตลาดยังมีความเคลื่อนไหวสำคัญ คือ เดอะโคคา-โคล่า คัมปะนี ขายหุ้นไทยน้ำทิพย์บางส่วนคืนให้กับผู้ถือหุ้นไทย และบางส่วนให้กับ Swire Coca-Cola (สไวร์ โคคา-โคล่า) ซึ่งมีผลทำให้สไวร์ โคคา-โคล่า เป็นผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจในการควบคุมในธุรกิจของไทยน้ำทิพย์ในประเทศไทยและลาว ในขณะที่ไทยน้ำทิพย์ จะเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยในธุรกิจของสไวร์ โคคา-โคล่า ในเวียดนามและกัมพูชา

    แต่คำถามคือ แล้ว Swire เป็นใคร?


    ก้าวแรกของอาณาจักร Swire เริ่มต้นจาก John Swire คนอังกฤษชาวเมืองลิเวอร์พูล ก่อตั้งธุรกิจนำเข้า-ส่งออกในปี ค.ศ. 1816 โดยช่วงแรกเน้นโปรดักต์ไปที่สิ่งทอ และขนส่งระหว่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา

John Swire


    ด้วยความกระตือรือร้น จินตนาการ และความซื่อสัตย์ John Samuel Swire ลูกชายของเขา ได้ขยายธุรกิจโดยล่องเรือไปยังออสเตรเลียและก่อตั้งบริษัท Swire Bros. ในเมลเบิร์น เพื่อนำเข้าสินค้าหลากหลายประเภท ตั้งแต่ลวดหนามและซีเมนต์ ไปจนถึงน้ำมันมะกอกและเบียร์กินเนสส์ ก่อนจะเดินทางกลับมายังลิเวอร์พูลในปี 1858

    เมื่อสงครามกลางเมืองอเมริกาปะทุขึ้น ส่งผลให้การนำเข้าฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาหยุดชะงัก John Samuel Swire จึงได้ล่องเรือไปยังเซี่ยงไฮ้และก่อตั้งบริษัทใหม่ชื่อ Butterfield & Swire ในปี 1866 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของความมุ่งมั่นอันยาวนานของ Swire ที่มีต่อจีน


จีนเปิดทางสู่น่านน้ำใหม่ ‘ฮ่องกง’

    ในช่วงแรกนั้น บริษัท Butterfield & Swire ทำธุรกิจค้าขายชา ผ้าไหม และนำเข้าสินค้าประเภทผ้าฝ้ายและขนสัตว์จากอังกฤษ นอกจากนี้ บริษัท Butterfield & Swire ยังเป็นตัวแทนในประเทศจีนให้กับธุรกิจต่างๆ ในสหราชอาณาจักรหลายแห่ง รวมถึงบริษัทประกันภัยและการขนส่งชั้นนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Blue Funnel Line ซึ่ง Swire เป็นผู้จัดการฝ่ายตะวันออกไกลมานานกว่า 120 ปี

    และเพื่อให้สอดคล้องกับประเพณีท้องถิ่น John Samuel Swire จึงเลือกชื่อบริษัทในภาษาจีนว่า ไทกู หรือ Taikoo (太古) ซึ่งแปลว่า “ยิ่งใหญ่และยาวนาน”

    เมื่อได้โอกาสจากการค้าขายทางน้ำในแม่น้ำแยงซี Swire จึงได้ตั้งธุรกิจเดินเรือของตนเองขึ้นในปี 1872 โดยก่อตั้งบริษัท The China Navigation Company (CNCo) ซึ่งให้บริการเดินเรือกลไฟขึ้นและลงแม่น้ำแยงซี


    โดยในช่วงแรกนั้นบริษัทได้ให้บริการเรือกลไฟแบบพายสไตล์มิสซิสซิปปี้บนแม่น้ำแยงซีของจีน ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญที่เชื่อมต่อกับแผ่นดินภายในประเทศจีนในช่วงที่ยังมีถนนเพียงไม่กี่สาย และภายในเวลาไม่กี่ปี บริษัทก็ได้ให้บริการเรือบนชายฝั่งของจีน ก่อนที่จะขยายเครือข่ายบริการไปยังพื้นที่อื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย

    ธุรกิจการเดินเรือก่อให้เกิดการร่วมทุนใหม่ๆ ขึ้น ด้วยแรงสนับสนุนจากการเติบโตของการค้าอ้อยดิบจากเกาะชวาและฟิลิปปินส์ของ China Navigation และตลาดสำเร็จรูปในจีนและญี่ปุ่น บริษัท Butterfield & Swire จึงได้ซื้อที่ดินริมน้ำขนาดใหญ่ที่ Quarry Bay บนเกาะฮ่องกง

    ในปี 1881 บริษัท Taikoo Sugar Ltd. ได้ถูกก่อตั้งขึ้น โดยการดำเนินงานในโรงกลั่นน้ำตาล Taikoo เริ่มต้นในปี 1882 และเริ่มดำเนินการผลิตในปี 1884 ในยุคนั้น บริษัทแห่งนี้ดำเนินกิจการโรงงานที่ใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก


    ความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกในการซ่อมบำรุงเรือที่ได้มาตรฐานสำหรับกองทัพเรืออย่าง Blue Funnel และเรือพาณิชย์อย่าง China Navigation Company เป็นแรงผลักดันให้เกิดการสร้างอู่ต่อเรือ Taikoo Dockyard ในฮ่องกง ซึ่งมีการก่อสร้างอย่างยิ่งใหญ่ นำหินแกรนิตกว่า 1,600,000 ลูกบาศก์หลา มาถมที่ใกล้กับท่าเรือที่ Quarry Bay ทำให้เกิดพื้นที่ราบทั้งหมดมากกว่า 52 เอเคอร์ และมีท่าเทียบเรือน้ำลึกที่ยาวกว่าครึ่งไมล์

    พวกเขายังนำความเจริญมาสู่เกาะแห่งนี้ ทั้งการสร้างแหล่งผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในฮ่องกง มีโรงซ่อมเครื่องจักรที่ใหญ่ที่สุด มีการสร้าง Cable Car ขึ้นเขาเป็นรายแรกของฮ่องกง (และน่าจะเป็นรายแรกของโลก) ทั้งยังสร้างอู่ที่สามารถรองรับเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ Swire จึงกลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดและเป็นผู้จ้างงานที่ก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งในฮ่องกง

    ไม่เพียงเท่านั้น ในสมัยนั้น Swire เป็นหนึ่งในนายจ้างรายใหญ่และก้าวหน้าที่สุดในฮ่องกง โดยจัดหาที่พักให้กับพนักงาน โรงพยาบาล สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และโรงเรียนสำหรับบุตรหลานของพนักงาน ซึ่งยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

    ขณะเดียวกัน ธุรกิจการเดินเรือของ Swire ขยายตัวอย่างมากภายใต้การนำของทายาทของ John Samuel Swire และบุตรชายสองคนของเขา พวกเขายังริเริ่มธุรกิจใหม่ๆ ขึ้น ได้แก่ การเปิดบริษัทเรือลากจูงและเรือบรรทุกน้ำมันบนแม่น้ำเฮยโฮที่เทียนจิน และการก่อตั้งบริษัท Orient Paint ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสีชั้นนำของเซี่ยงไฮ้ในปี พ.ศ. 2476


จากโรงงานน้ำตาล ทะยานสู่ฟ้า

    สงครามโลกครั้งที่ 2 นำมาซึ่งความหายนะและเกือบจะทำลาย Swire ลง โดยในปี 1945 อาคาร โรงงาน และเรือส่วนใหญ่ของ Swire พังทลายลงจนไม่เหลือซาก อย่างไรก็ตาม ด้วยแรงผลักดันจากจิตวิญญาณที่เข้มแข็งและความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่มีต่อภูมิภาคนี้ Swire จึงสามารถรับมือกับความท้าทายหลังสงครามและสร้างธุรกิจของตนขึ้นมาใหม่ได้


    John “Jock” Kidston Swire หลานชายของ John Samuel ตระหนักดีว่าการขนส่งทางอากาศคือกุญแจสำคัญสู่อนาคต ด้วยทักษะทางวิศวกรรมที่หล่อหลอมมาจากธุรกิจอู่ต่อเรือ เขาจึงได้ก่อตั้งบริษัทบำรุงรักษาเครื่องบิน ซึ่งปัจจุบันคือ HAECO และเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำระดับโลกในสาขานี้

    ในปี 1948 Swire ได้บินขึ้นสู่ท้องฟ้าด้วยการซื้อหุ้นของสายการบินน้องใหม่ Cathay Pacific Airways ในช่วงเวลานี้ สายการบินได้เติบโตจากเครื่องบิน DC3 (“Dakota”) ของกองทัพสหรัฐลำเดียว “Betsy” มาเป็นฝูงบิน DC3 จำนวน 6 ลำ และเรือบิน Catalina 1 ลำ การเติบโตของสายการบินฮ่องกงได้กลายมาเป็นความภาคภูมิใจพิเศษของ Jock Swire


    ช่วงเวลาเดียวกัน Swire ได้จัดตั้งสำนักงานใหญ่ขึ้นใหม่ในออสเตรเลีย และเริ่มลงทุนในภาคการขนส่งทางถนนและการจัดเก็บสินค้าแบบเย็น โดยเริ่มต้นจากบริษัทขนส่งตู้แช่แข็งอย่าง Frigmobile ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้ประกอบการรถบรรทุกห้องเย็นชั้นนำของประเทศ

    ฟากสายการบิน Cathay Pacific ก็เริ่มขยายกิจการด้วยการเข้าซื้อกิจการสายการบินคู่แข่งอย่างฮ่องกงแอร์เวย์ส และได้สิทธิ์ในการบินขึ้นเหนือไปยังภูมิภาคไต้หวันและญี่ปุ่น นับเป็นปีที่สำคัญยิ่งสำหรับ Cathay Pacific


เข้าสู่ธุรกิจอาหารและอสังหาฯ

    Swire ได้ซื้อกิจการ Hong Kong Bottlers Federal Inc. ซึ่งเป็นธุรกิจของชาวอเมริกันที่ถือสิทธิ์ในการบรรจุขวด Coca-Cola ในฮ่องกง โดยในเวลานั้น Hong Kong Bottlers มีปริมาณการผลิต 104 ล้านขวดต่อปี

    ทั้งนี้ ปัจจุบัน Swire Coca-Cola กลายเป็นหนึ่งในผู้บรรจุขวด Coca-Cola ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีสิทธิ์ในการผลิต ทำการตลาด และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัท Coca-Cola ทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่, เขตบริหารพิเศษฮ่องกง, ไต้หวัน, หลายรัฐในสหรัฐอเมริกา รวมถึงภูมิภาคอาเซียนอย่าง เวียดนาม กัมพูชา ลาว และไทยผ่านไทยน้ำทิพย์ด้วย



    สงครามที่ทำให้โรงกลั่นน้ำตาล Taikoo และ Taikoo Dockyard ต้องพังทลายนั้น ทำให้กิจการทั้งสองอย่างปิดตัวลง เกิดเป็นที่ดินเปล่าจำนวนมากในเขต Quarry Bay หลังจากนั้นรัฐได้ปล่อยสิทธิ์ให้พัฒนาพื้นที่ในบริเวณที่ดินดังกล่าว และนั่นส่งผลให้มีการก่อตั้ง Swire Properties ขึ้นเพื่อสร้างภูมิทัศน์ใหม่ให้กับเมือง

    Swire Properties สืบทอดยุคใหม่ของ Swire ในฐานะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ โดยสร้างการพัฒนาแบบผสมผสานระดับพรีเมียมในฮ่องกง จีน และสหรัฐอเมริกา

    เมืองใหม่ในพื้นที่ Quarry Bay ที่พัฒนาโดย Swire Properties รู้จักกันในชื่อ Taikoo Place & Cityplaza ซึ่งมีทั้ง Taikoo Shing (“Swire City”) ที่เป็นที่พักอาศัยส่วนตัวแห่งแรกของเกาะฮ่องกง, Cityplaza คอมเพล็กซ์ค้าปลีก/สำนักงาน เรียกได้ว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์แบบมิกซ์ยูสแห่งแรกๆ ของฮ่องกงก็ว่าได้ ขณะที่ Taikoo Place ปัจจุบันมีอาคารสำนักงานที่เชื่อมต่อถึงกัน 13 แห่ง และอาคารที่พักอาศัยถึง 61 แห่ง

Taikoo Place


    ไม่เพียงเท่านั้น Swire ยังขยายไปสู่ธุรกิจอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น

    -บริษัทเรือขนส่ง ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อว่า Swire Pacific Offshore (“SPO”)

    -ซื้อหุ้นบริษัท James Finlay หนึ่งในผู้ค้าชาชั้นนำของโลก

    -ซื้อหุ้นใน Steamships Trading Company หนึ่งในบริษัทที่เก่าแก่ที่สุดในปาปัวนิวกินี ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่ง ขนส่ง อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม และการผลิต

    -ซื้อกิจการ United States Cold Storage ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการโลจิสติกส์คลังสินค้าแช่เย็นสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

    -ซื้อกิจการ Marathon Sports ซึ่งปัจจุบันเป็นเครือข่ายร้านค้าปลีกเครื่องแต่งกายกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในฮ่องกง

    -สายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิคเข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ในสายการบินขนส่งสินค้า Air Hong Kong

    -ซื้อกิจการบริษัทขนส่งทางถนน Kalari ของออสเตรเลีย

    -เป็นตัวแทนจำหน่ายพิเศษในภูมิภาคไต้หวันสำหรับ Volkswagen และ Kia

    -ลงทุนอสังหาฯ ในจีน พัฒนาและบริหารจัดการโครงการขนาด 4 ล้านตารางฟุตในเมืองกว่างโจวอย่าง TaiKoo Hui

    -ก่อตั้ง Swire Hotels ขึ้นเพื่อสร้างและบริหารโรงแรมในฮ่องกง จีน และสหรัฐอเมริกา

    และนี่คือเรื่องราวประวัติศาสตร์กว่า 200 ปีของอาณาจักร Swire เชื่อว่าสิ่งที่ทุกคนมองเห็นเหมือนกันคือ การไม่ยอมแพ้ การมองเห็นโอกาส การกระจายความเสี่ยง และการกล้าเข้าไปสู่น่านน้ำใหม่ๆ จนสามารถสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องแม้จะเผชิญวิกฤตหลายครั้ง

    เรื่องราวของ Swire บน Forbes Thailand ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ตอนหน้าชวนติดตามธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่าง Swire Properties หนึ่งในบริษัทที่ขยายการลงทุนในไทยแล้ว



ภาพ: Swire



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ต่างชาติลงทุนไทย 7 เดือนแรกปีนี้แตะ 90,987 ล้านบาท เพิ่ม 54% ‘อันดับ 1 ญี่ปุ่น’ ส่วนจีน-ฮ่องกงเข้าลงทุน 19,251 ล้านบาท

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine