Priceza เผย 5 เทรนด์ รุกตลาด E-Commerce ปี 2024 - Forbes Thailand

Priceza เผย 5 เทรนด์ รุกตลาด E-Commerce ปี 2024

Priceza เผย 5 เทรนด์ รุกตลาด E-Commerce ปี 2024 หลังธุรกิจในตลาดนี้มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงมากขึ้นและยังแข่งขันกันอย่างดุเดือด


    ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา CEO & Co-Founder of Priceza, ที่ปรึกษา และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (THECA) เผย 5 เทรนด์อีคอมเมิร์ซประเทศไทยปี 2024 พร้อมชี้ให้เห็นทิศทางการเติบโตและโอกาสของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยดังนี้

    ภาพรวมมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายในปี 2021 

    โดย ปี 2023 มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซก็ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราที่ลดลง มีมูลค่าอยู่ที่ 172,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคนี้จะยังเติบโตต่อไปโดยเฉลี่ยปีละ 16% อยู่ที่ 199,000 ล้านเหรียญ ในปี 2024 และ 231,000 ล้านเหรียญ ในปี 2025 ตามลำดับ



    ขณะที่ประเทศไทยในปี 2023 มีมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซใหญ่มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยมูลค่า 2.8 หมื่นล้านเหรียญ คิดเป็นเงินไทยราว 980,000 ล้านบาทรองลงมาจากประเทศอินโดนีเซียโดยมีมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซใหญ่กว่าประเทศไทยถึง 3 เท่า จะเห็นได้ว่าประเทศไทยก็เป็นตลาดที่สำคัญของหลายๆแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่น่าจับตาของภูมิภาคนี้


จับ 5 เทรนด์เปิดเกมรุกตลาดอีคอมเมิร์ซปี 2024

Trends 1 : แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซกลับมาแข่งขันดุเดือด อยู่รอดได้ต้องหาจุดยืนในตลาดให้เจอ

    ช่องทางการขายอีคอมเมิร์ซ E-Marketplace ยังคงเป็นช่องทางสำคัญที่มีส่วนแบ่งมูลค่าตลาดสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 55% ของมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซใน SEA (เติบโตขึ้นจากเดิมกินสัดส่วนที่ 51% ในปี 2022) รองลงมาเป็น Social Commerce 28% จากเดิมอยู่ที่ 22% ในปี 2022 ตามมาด้วย Quick Commerce 11% และ e-Tailers หรือ Vertical Platform 6% ตามลำดับ

    ช่องทางการขายอีคอมเมิร์ซมีอยู่หลากหลายรูปแบบ และมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดของผู้เล่นในตลาด เมื่อลงมาเจาะดูแพลตฟอร์มผู้เล่นใน E-Marketplace จะเห็นว่า Shopee เป็นผู้นำตลาดที่เป็นเบอร์ 1 ในภูมิภาคนี้ อยู่ที่ 29% แต่ยังไม่ได้เป็นผู้นำตลาดแบบเบ็ดเสร็จ จะเห็นได้ว่ายังมีผู้เล่นอื่น ๆ ร่วมแชร์ส่วนแบ่งตลาดที่รองลงมาอย่าง Lazada 11%, Tokopedia 9% และ bukalapak, Central, Nocnoc, Pomelo, Konvy 6% ร่วมแชร์ส่วนแบ่งตลาดในกลุ่ม E-Marketplace ด้วย 



   ส่วนช่องทางที่มีมูลค่าส่วนแบ่งตลาดรองลงมาเป็นอันดับ 2 อย่าง Social Commerce ที่ 19% การปิดการขายอยู่บน Social Media แต่ที่น่าจับตาคือ TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่ก้าวเข้าสู่อีคอมเมิร์ซอย่างเต็มรูปแบบและเติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะเวลาเพียง 2-3 ปีที่ผ่านมา 

    TikTok Shop เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะประเทศไทยกลายเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 ของภูมิภาคนี้ โดยสินค้าที่ขายดีบนช่องทางนี้ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้ากลุ่ม Beauty และ Personal care 

    อย่างไรก็ตามแพลตฟอร์มควรหา “จุดยืน” หรือ “Key Value Proposition” ของตัวเองในภาพจำของผู้บริโภคอย่างชัดเจนในการตอบโจทย์การช้อปปิ้งของผู้บริโภค ยกตัวอย่าง Shopee ที่เป็นผู้นำตลาด ตอบโจทย์ในเรื่องความหลากหลายของสินค้า เป็นหนึ่งในใจของผู้บริโภคในเรื่องของความหลากหลาย ส่วน LAZADA นั้นถูกยกให้เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นสินค้าคุณภาพ เป็น Brand Shop หรือ Official Shop นั่นก็คือ LazMall ส่วน TikTok Shop ก็ตอบโจทย์เรื่อง Shoppertainment นั่นเอง

 

Trends 2 : Content และ Commerce รวมกันโดยสมบูรณ์แบบ ธุรกิจตามล่าหานายหน้าขาย Affiliate 

    ในยุคแรกของ Digital Platforms การที่เจ้าของแบรนด์จะขายสินค้าได้จะต้องผ่าน แพลตฟอร์มทั้งหมด 4 แพลตฟอร์มได้แก่ Content - Commerce - Payment และ Delivery ซึ่งเจ้าของแพลตฟอร์มจะทำเน้นสร้างสิ่งที่ตัวเองถนัด แต่ปัจจุบันแพลตฟอร์มได้ขยายบริการครอบคลุมเรียกว่ากินรวบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือแต่ละแพลตฟอร์มนั้นต่างมาทำ Commerce กันแทบทุกแพลตฟอร์ม 

    ซึ่งตอนนี้ Youtube เองกำลังจะเปิดตัว  “Youtube Shop” ขึ้นมาในหลายๆ ประเทศ เมื่อเรากำลังรับชมวีดีโออยู่ก็จะปรากฎสินค้าที่เกี่ยวข้องกับช่องนั้นๆ ขึ้นมาให้เราเลือกช้อปปิ้ง มีการคาดการณ์ว่าในปี 2024 YouTube จะเน้นวิดีโอแนวตั้ง และแข่งในตลาดอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ทางฝั่ง Amazon เองก็เช่นกัน ได้มีการจับมือกับ Meta เพื่อเชื่อมต่อการใช้งานเข้ากับแพลตฟอร์ม Social Media 

    ขณะที่แพลตฟอร์ม Commerce อี-มาร์เก็ตเพลสอย่าง Shopee และ LAZADA กำลังขยายทิศทางการหลอมรวมระหว่าง Commerce และ Content เพื่อเพิ่ม Conversion Rate บนแพลตฟอร์ม จะเห็นได้ว่าในปีนี้แพลตฟอร์มต่างๆจะขยายทิศทางและถูกหลอมรวมเข้าด้วยกันเป็นแพลตฟอร์มเดียวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Content ขยายรวมกับ Commerce  หรือที่มีอยู่แล้วเพื่อเพิ่มประสบการณ์การใช้แพลตฟอร์มที่ไร้รอยต่อมากขึ้น


 

   81% ของผู้บริโภคคนไทยมีการซื้อสินค้าตามที่ผู้บริโภคแนะนำ ซึ่งสินค้าในกลุ่ม Beauty และ Fashion เป็นกลุ่มที่ผู้บริโภคซื้อตามมากที่สุด ซึ่งประมาณ 16-20% ของมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซได้รับอิทธิพลมาจาก Influencer ในปี 2023 และในปี 2028 มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซคาดว่าจะได้รับอิทธิพลจาก Influencer สูงถึง 18-22% เลยทีเดียว 


Trends 3 : เส้นทางสายไหมยุคใหม่ (Silk Road) เชื่อม E-Commerce ไทยและจีนเข้าด้วยกัน

 

    ประเทศจีนพยายามลดการส่งออกไปที่สหรัฐฯ โดยเริ่มมองหาการเติบโตเพิ่มขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง “ประเทศไทย” คือหนึ่งในเป้าหมายการทำตลาดของสินค้าจีน โดยรัฐบาลไทยได้มีการทำข้อตกลงเซ็น MOU อีคอมเมิร์ซกับรัฐบาลประเทศจีนนั่นส่งผลให้สินค้าจีนมาขายในตลาดไทยมากขึ้น โดยรูปแบบการขายสินค้าจีนเข้ามาขายสินค้าในตลาดไทยจะมี2รูปแบบด้วยกันคือ

1. CBEC Direct Mailing

การนำเข้าสินค้าผ่านทางเครื่องบินที่ไม่ต้องขอใบอนุญาตนำเข้า ไม่ต้องขอใบรับรองมาตรฐานความปลอดภัยสินค้า ไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับสินค้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ห้ามขายออฟไลน์ ให้ขายเฉพาะออนไลน์

2. CBEC Bonded  Warehouse

เอาสินค้าจีนมาตั้งรอไว้ในคลังสินค้าในไทย โดยไม่ต้องขอใบรับรองมาตรฐานความปลอดภัยสินค้า ไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับสินค้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ห้ามขายออฟไลน์ ให้ขายเฉพาะออนไลน์


    ซึ่งข้อตกลงนี้ เป็นข้อตกลงแบบไปและกลับ ผู้ขายจีนมาขายในตลาดไทยได้ ผู้ประกอบการไทยก็ไปขายที่จีนด้วยนโยบายสนับสนุนจากรัฐบาลจีนได้ ซึ่งเป็นโอกาสของสินค้าไทยไปบุกตลาดจีนได้ด้วยเช่นกัน ปัจจุบันสินค้าที่ประเทศไทยผลักดันเข้าสู่ตลาดจีนจะเป็นสินค้าประเภทผลไม้อย่างเช่น ทุเรียน เป็นต้น


Trends 4 : New Retail ค้าปลีกยุคใหม่เติบโต การขายที่ผสานช่องทาง Online & Offline สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า

    ปัจจุบันผู้บริโภคมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าแบบกระโดดไป กระโดดมาระหว่าง Offline และ Online พวกเขาจะใช้วิธีดูสินค้าจริงที่หน้าร้าน Offline จากนั้นรอโปรโมชั่น หรือรอเก็บโค้ด แล้วซื้อจากช่องทาง Online ขณะเดียวกันผู้บริโภคส่วนหนึ่งก็หาข้อมูลสินค้าบน Online และไปซื้อที่หน้าร้าน Offline เราจะเห็นเทรนด์ New Retail ในยุคนี้ที่เน้นให้ผู้บริโภคไปรับประสบการณ์ที่หน้าร้าน Offline กันมากขึ้นด้วย



    เมื่อเราดูจากสถิติจะเห็นว่า 59% ของคนไทยหาข้อมูลบนออนไลน์ แล้วไปซื้อออฟไลน์ และ 53% ของคนไทยดูสินค้าหน้าร้าน แล้วซื้อบนออนไลน์ ซึ่งไม่ได้ต่างกันมากนัก ซึ่งผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจควรปรับตัวเองโดยใช้กลยุทธ์ Omni-Channel เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้


5 : ค่าโฆษณาออนไลน์สูงต่อเนื่อง งบโฆษณาถูกย้ายไปลงกับ Retail Media E-Commerce มากขึ้น

    ยุคนี้คือยุคของ “Trends User Privacy” และแพลตฟอร์มต่าง ๆ พยายามให้ความสำคัญกับชุดข้อมูลของลูกค้า จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2021-2023 ค่าโฆษณาบน Facebook แพงขึ้นอย่างชัดเจน ในส่วนของ Google chrome เอง ที่เป็น Web Browser หลักของคนไทยประกาศปิดการส่งข้อมูล Third-Party Cookies นั่นเท่ากับการยิง Ads โฆษณาจะมีความแม่นยำลดลง ขายสินค้าได้ยากขึ้น 

    ในขณะเดียวกันธุรกิจส่วนใหญ่พยายามวิ่งหาข้อมูล Second-Party Data หรือ First-Party Data และพยายามเก็บข้อมูลของตัวเองให้ได้มากที่สุดเพราะต่อไปการทำ Ads โฆษณานั้นเราพึ่งข้อมูลจากแพลตฟอร์มแทบไม่ได้แล้ว 


    ทำให้เราเห็นเทรนด์ในปีนี้ คือ แพลตฟอร์ม Retail และ แพลตฟอร์ม E-Commerce ที่ใช้ขายสินค้านั้น จะถูกพัฒนากลายเป็นแพลตฟอร์มโฆษณาหรือ “Retail Media E-Commerce” เพราะแพลตฟอร์มเหล่านี้เก็บข้อมูลธุรกรรมต่าง ๆ ของ User อยู่อย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็น Robinhood, Grab, Shopee, Lazada ที่รู้พฤติกรรมและ Transaction ของ User 

    และเราจะเห็นว่าในปีนี้ธุรกิจจะมีการโยกงบโฆษณามาที่ Retail Media มากขึ้น ทำให้ Retail Media ในบ้านเราจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าแพลตฟอร์มที่มี User Data อยู่กับตัวจะเป็น แพลตฟอร์มที่สำคัญที่จะทำให้ธุรกิจวิ่งเข้าหาในการทำโฆษณามากขึ้น



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ :นาทีของตัวแม่! "ฮันโซฮี" ขึ้นแท่นพรีเซ็นเตอร์ ลอรีอัล ปารีส ประเทศไทย

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine