NSC เผย ไทยนำเข้า 'แซลมอนจากนอร์เวย์' อันดับ 1 ใน SEA มั่นใจปี 67 รายได้แตะ 10,000 ล้าน - Forbes Thailand

NSC เผย ไทยนำเข้า 'แซลมอนจากนอร์เวย์' อันดับ 1 ใน SEA มั่นใจปี 67 รายได้แตะ 10,000 ล้าน

สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ เผย ผู้บริโภคไทยนิยมรับประทานอาหารญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก จึงมียอดการนำเข้าปลาแซลมอนจากนอร์เวย์ปีละหลายหมื่นตันครองอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมคาดการณ์ตลอดปี 2567 จะมีมูลค่านำเข้าอาหารทะเลจากนอร์เวย์มาไทย โดยเฉพาะปลาแซลมอน, ซาบะ และปลาเทราต์ ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท


    โอซฮิลด์ นัคเค่น ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา เผยว่า จากความสำเร็จของแคมเปญ ‘The Story from the North’ ในปี 2565 ล่าสุด Seafood from Norway ได้เปิดตัวแคมเปญใหม่ ‘Norwegian Thai Taste วัตถุดิบอันล้ำค่า...สู่อาหารไทย 4 ภาค’ เพื่อขยายตลาดและความร่วมมือกับร้านอาหารท้องถิ่น และร้านค้าพาร์ทเนอร์ทั่วประเทศ 

    โดยแคมเปญดังกล่าวได้เปิดตัวในกรุงเทพฯ และจะทำการเดินสาย Road Show ไปพร้อมกับนักแสดงดัง ญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์ ที่กลับมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับ Seafood from Norway ประเทศไทยอีกครั้ง เพื่อทำการประชาสัมพันธ์ไปยังจังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต และขอนแก่นอย่างต่อเนื่องตลอดเดือนสิงหาคม


    “เรารู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมากที่จะได้ลิ้มรสความหลากหลายของอาหารไทยอันยอดเยี่ยมจาก 4 ภูมิภาค ซึ่งแคมเปญนี้ได้มีการร่วมมือกับร้านอาหารท้องถิ่นและร้านค้าพาร์ทเนอร์ เพื่อส่งเสริมการรับรู้เกี่ยวกับอาหารทะเลจากนอร์เวย์ในกลุ่มผู้บริโภคชาวไทย พร้อมทั้งดึงดูดพันธมิตรรายใหม่ที่มีศักยภาพทั่วประเทศ” โอซฮิลด์ กล่าว 

    ทั้งนี้ ในปี 2566 ที่ผ่านมา ข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) ยังมีรายงานด้วยว่า การนำเข้าอาหารทะเลนอร์เวย์มายังประเทศไทยมีมูลค่า 9,500 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 103% เมื่อเทียบกับปี 2563) และในช่วงเดือน 6 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่าการนำเข้าอาหารทะเลนอร์เวย์มายังไทยอยู่ที่ 4,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 



    โดยผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ ยังมั่นใจด้วยว่า การนำเข้าอาหารทะเลมาไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะยังเติบโตต่อเนื่องตามเป้าหมายและคาดว่าตัวเลขนำเข้าตลอดทั้งปีนี้จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาทได้อย่างแน่นอนซึ่งเรื่องของอัตราเงินบาทที่แข็งค่าก็ไม่กระทบต่อธุรกิจแต่อย่างใด

    "ในแต่ละปีนอร์เวย์มีการส่งออกอาหารทะเลมายังประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจำนวนมาก ซึ่งไทยถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ที่นิยมนำเข้าปลาแซลมอน, ปลานอร์วีเจียนซาบะ และปลาฟยอร์ดเทราต์ มากที่สุด เห็นได้จากตัวเลของปีก่อนที่มีการนำเข้าปลาทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวราวๆ 30,000 ตัน รองลงมาคือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ทั้งนี้ 74% ของผู้บริโภคชาวไทยที่นิยมรับประทานอาหารญี่ปุ่นอย่างซูชิหรือซาซิมิยังรู้ด้วยว่าปลาแซลมอนส่วนใหญ่ที่ใช้เป็นวัตุดิบในร้านอาหารญี่ปุ่นเป็นปลาที่มาจากประเทศนอร์เวย์เป็นหลัก และ 44% ของปลาซาบะที่ใช้ในร้านอาหารญี่ปุ่นก็มาจากนอร์เวย์ด้วยเช่นกัน" ผู้บริหารของ NSC กล่าวเสริม


    สำหรับแคมเปญ ‘Norwegian Thai Taste วัตถุดิบอันล้ำค่า...สู่อาหารไทย 4 ภาค’ ในครั้งนี้ จะมีการโปรโมทผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ผ่านคลิปวิดีโอออนไลน์บน ยูทูป เฟสบุ๊ค อินสตาแกรม ติ๊กต๊อก สื่อโฆษณานอกบ้าน กิจกรรมประชาสัมพันธ์ รวมถึงการรังสรรค์เมนูพิเศษกับร้านค้าท้องถิ่นสามร้านหลัก ได้แก่ ร้านหวานละมุน จังหวัดเชียงใหม่ ร้านตู้กับข้าว จังหวัดภูเก็ต และร้านเฮือนคำนาง จังหวัดขอนแก่น 

    นอกจากนี้ ยังมีโปรโมชันในร้านค้าพาร์ทเนอร์ ทั้งในแม็คโคร ท็อปส์ บิ๊กซี โลตัส ฟู้ดแลนด์ และธรรมชาติซีฟู้ด ทั่วประเทศ ตลอดช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2567 ซึ่งการเปิดตัวแคมเปญในครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก นางอัสตริด เอมีเลีย เฮลเล เอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทยและกัมพูชา และ เชฟจิ๊บ-ชภรภัช ดาภาชุติสรรค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันรายการ Hell’s Kitchen ประเทศไทย ที่มาโชว์ทำอาหารจากทั้ง 4 ภาคให้เหล่าบรรดาแขกผู้มีเกียรติภายในงานได้ชิมกัน ได้แก่ เมนูจี่นอร์วีเจียนซาบะกับยำมะเฟืองและสาหร่ายญี่ปุ่น ตัวแทนภาคกลาง, ข้าวซอยแซลมอน ภาคเหนือ, แกงเหลืองนอร์วีเจียนซาบะ และก้านคูณ ภาคใต้ และหมกแซลมอนกับสมุนไพรไทยสไตล์อีสาน ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

    “อาหารทะเลนอร์เวย์ เช่น แซลมอน นอร์วีเจียนซาบะ และฟยอร์ดเทราต์ มีรสชาติและเนื้อสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์ นำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย และยังมีจุดยืนที่แข็งแกร่งในตลาด เนื่องจากได้รับการเพาะเลี้ยง และจับจากน้ำทะเลที่เย็นและใสสะอาดของประเทศนอร์เวย์ ทำให้ปลามีสภาพความเป็นอยู่ที่สมบูรณ์ สามารถเจริญเติบโตได้ดี นอกจากนี้ การทำการประมงในนอร์เวย์ยังให้ความสำคัญต่อความยั่งยืนเป็นอย่างมาก ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการท้องถิ่นชาวไทยในธุรกิจอาหารที่จะได้รับประโยชน์จากการผสมผสานอาหารทะเลนอร์เวย์เข้ากับเมนูอาหารไทย” นางสาวโอซฮิลด์ กล่าวทิ้งท้าย



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : OR พา ‘คาเฟ่ อเมซอน’ บุกบังกลาเทศ ตั้งเป้าเปิดสาขาแรกไตรมาส 4 ปีนี้

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine