ประเทศไทยขึ้นชื่อว่ามีภูมิประเทศเอื้อต่อการทำธุรกิจ เพราะในเชิงพื้นที่เชื่อมโยงกับหลายประเทศ ในทางการค้ายังมีข้อตกลงทางการค้าที่ทำให้ ภาคธุรกิจที่ตั้งอยู่ในไทยสามารถผลิต และส่งออกได้สิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ
จากจุดเด่นเหล่านี้ ทำให้ บริษัท นำเชา (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขนมข้าวอบกรอบ เข้ามาตั้งหลักสร้างโรงงานที่บ้านโป่ง ราชบุรี กว่า 33 ปีมาแล้ว
เส้นทางข้าวอีสานสู่ สินค้าส่งออกกว่า 70 ประเทศทั่วโลก
Henry Chia ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นำเชา (ประเทศไทย) จำกัด เล่าว่า ย้อนไปตอนปี 1991 ที่นำเชาที่มีต้นกำเนิดในไต้หวัน เลือกจะขยายธุรกิจนอกประเทศที่แรกคือมาเปิดโรงงานในไทย ตอนแรกเริ่มต้นจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หมี่จัง ต่อมาจึงขยายมาทำขนมข้าวอบกรอบ (แครกเกอร์จากข้าว) ในแบรนด์ ‘ชินมัย’ และแตกไลน์ผลิตภัณฑ์อีกหลากหลายแบรนด์ เช่น แครกเกอร์ข้าวแบรนด์ Bin Bin, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แบรนด์ Little Cook, ข้าวพร้อมทาน แบรนด์ นำเชา, ขนมขบเคี้ยวสำหรับเด็กที่ทำจากข้าว Happy Bites ฯลฯ
ที่ผ่านมานำเชา ประเทศไทย ผลิตสินค้าทั้งแบรนด์ของตนเอง และรับผลิตแบรนด์ต่างๆ จำหน่ายทั้งในประเทศ และส่งออกไปทั่วโลก โดยกจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ต่อมาได้ขยายพื้นที่โรงงานจากเดิมที่ 36 ไร่ จนปัจจุบันพื้นที่รวมกว่า 81 ไร่
โรงงานนำเชา ประเทศไทย มีกำลังการผลิตรวมกว่า 36,000 ตันต่อปี กว่าครึ่งหนึ่งหรือราว 18,000 ตันต่อปี มาจากขนมขบเคี้ยวที่ทำจากข้าว ซึ่งใช้ข้าวจากอีสานที่มีจุดเด่นในความหอม อร่อยมาผลิตและส่งออกขายกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ถัดมาเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีหว่า 9,000 ตันต่อปี ขณะที่ข้าวพร้อมทาน ผลิตราว 7,200 ตันต่อปี และอื่น ๆ อีกราว 1,800 ตันต่อปี
ปักหลักฐานการผลิตในไทย ลงทุนเพิ่มทั้งโรงงานและการดูแลพนักงานท้องถิ่น
ในปี 2020 ที่ผ่านมา นำเชาฯ ยังใช้เงินลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อขยายโรงงานและคลังสินค้า แต่การผลิตยังต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ดังนั้นจึงมีนโยบายการดูแลบุคลากรอย่างต่อเนื่อง และมุ่งเน้นพนักงานจากในท้องถื่นเป็นหลัก จากจำนวนพนักงานกว่า 17,000 คน มีแรงข้ามข้ามขาติเพียง 70 คนเท่านั้น โดยใช้กลยุทธ์ดูแลรับ-ส่งถึงบ้าน
“เรามีรถรับส่งพนักงาน 26 คัน ที่รับจากหน้าบ้านมาถึงที่โรงงาน โดยรับส่งจากหลายจังหวัดใกล้เคียง เช่น กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม ฯลฯ เพื่ออำนวยความสะดวก และดูแลความปลอดภัยไม่ว่าจะทำงานในกะไหน” Henry กล่าว
ในด้านพนักงานเราต้องดูแลอย่างเต็มที่ และมีมาตรฐานสากล ส่วนหนึ่งเพราะเมื่อเป็นโรงงานผลิตเพื่อส่งออก ลูกค้าที่จ้างเราผลิตจะเข้ามาตรวจสอบในทุกด้านทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน ค่าแรง ไปจนถึง Social compliance
ในส่วนของค่าแรงขั้นตำ่ที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 400 บาท มองว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่กระทบต่อบริษัทฯมากนัก ที่ผ่านมามีการปรับรายได้พนักงานขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำตามกฎหมายของไทย ในด้านต้นทุนเป็นเทรนด์ที่จะเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้นทุกองค์กรต้องวางแผนและหาทางลดค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ อยู่แล้ว
เตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่จับเทรนด์สุขภาพ ดันยอดขายปี 67 แตะ 4,000 ล้านบาท
ในปี 2024 นี้ทางบริษัทยังตั้งเป้าหมายว่ายอดขายรวมจะเติบโต 7-10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) หรือไปสู่เป้าหมายที่ 4,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่ายอดขายส่วนใหญ่ยังมาจากการส่งออกกว่า 88% (แบ่งเป็นอเมริกาเหนือและแคนาดาราว 30% ยุโรป 20% และออสเตรเลียราว 15%) โดยมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศอีก 12-15%
กลยุทธ์หลักในไตรมาส 3 ปี 2024 นี้จะเปิดตัว Super Bites Smart Snack ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะตอบสนองเทรนด์รักสุขภาพ เป็นขนมข้าวหอมมะลิกรุบกรอบผลิตจาก อิดามาเมะ (ถั่วแระญี่ปุ่น)ละสตรอเบอร์รี่ ซึ่งใช้การอบแทนการทอด โดยกลุ่มเป้าหมายคือคนรุ่นใหม่ที่ชอบลองสิ่งใหม่ ๆ
ผลิตภัณฑ์นี้ยังเป็นการทดลองตลาดในไทย และในต่างประเทศ โดยวางแผนจะขยายสู่ช่องทางต่างๆ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าในต่างจังหวัด และร้านขายของชำ และวางกลยุทธ์ในการกระจายสินค้าใหม่เข้าสู่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยใช้ฐานลูกค้าขนาดใหญ่ที่มีอยู่ครอบคลุมทุกทวีปเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และออสเตรเลีย
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 'AQUA' ผนึกกำลัง 2 พันธมิตร ตั้ง ‘FAB’ Food Holding ควบ 8 แบรนด์ดังลุยธุรกิจร้านอาหาร
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine