‘ทรัพย์สินทางดนตรี’ คีย์สำคัญขับเคลื่อนมูลค่าอุตฯ ดนตรี และกลยุทธ์ที่ GMM Music ใช้สร้างรายได้ต่อเนื่อง - Forbes Thailand

‘ทรัพย์สินทางดนตรี’ คีย์สำคัญขับเคลื่อนมูลค่าอุตฯ ดนตรี และกลยุทธ์ที่ GMM Music ใช้สร้างรายได้ต่อเนื่อง

FORBES THAILAND / ADMIN
07 Oct 2024 | 10:39 AM
READ 805

ท่ามกลางความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบและถดถอย แต่ยังมีอีกหนึ่งอุตสาหกรรมเป็น hidden gem ที่กำลังเติบโต นั้นก็คือ อุตสาหกรรมเพลง


    หากมองในภาพรวมของตลาดจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ปี 2021 มีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 18% สืบเนื่องมาจากการเติบโตของดิจิทัลสตรีมมิ่ง (Digital Streaming) จากเดิมธุรกิจเพลงพึ่งพารายได้แบบ Physical คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 80% ของตลาด ในขณะที่ Digital Music มีสัดส่วนเพียง 20%

    แต่หลังจากการเข้าสู่ยุคดิจิทัล ส่งผลให้ธุรกิจเพลงมีรายได้จากช่องทาง Digital Music กลับขยับขึ้นมากลายเป็น 80% และเมื่อกลับมาดูการเติบโตของ Music Steaming Platform จะเห็นว่า ปี 2023 อุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกเติบโตขึ้น 10.2% ทำให้ตลาดมีมูลค่าถึง 28.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 9


ที่มา : Global Music Report 2024 จาก สมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศ หรือ IFPI


    จากภาพรวมสะท้อนให้เห็นว่ารายได้ในส่วนดิจิทัลสตรีมมิ่ง (Digital Streaming) เป็นรายได้ส่วนใหญ่ของตลาด มีสัดส่วนถึง 67.3% คิดเป็นรายได้ 680,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 10.4% โดยมีบัญชีผู้ใช้งานดิจิทัลสตรีมมิ่งที่ยอมจ่ายเงิน Subscript บนแพลตฟอร์ม (Paid Subscription) 667 ล้านคนทั่วโลก เติบโตขึ้น 11.2% ซึ่งคิดเป็น 48.9% ของตลาดโลก

    และหากรวมรายได้ของฝั่งผู้ผลิตที่เป็นค่ายเพลงต่างๆ มูลค่าจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 1.7 ล้านล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้น ทาง Goldman Sachs ได้มีการคาดการณ์ว่า ตลาดเพลงในปี 2030 จะสามารถเติบโตขึ้นได้อีก 3 เท่า ซึ่งมีโอกาสที่ตลาดจะมีมูลค่ามากถึง 4.6 ล้านล้านบาท


ที่มา : การวิจัย Music in the Air จาก Goldman Sachs


    จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ดิจิทัลสตรีมมิ่งเป็นแพลตฟอร์มที่คนทั่วโลกนิยมใช้ฟังเพลงมากที่สุด ซึ่งในปัจจุบัน Streaming Platform ต่างๆ มียอดจำนวนผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก อาทิ Spotify มีจำนวนผู้ใช้งานสูงถึง 615 ล้านบัญชี ในขณะที่ YouTube นั้นมีผู้ใช้งาน 868 ล้านบัญชี ส่วน Apple Music มีผู้ใช้งาน 93 ล้านบัญชี รวมถึงฝั่ง TME เจ้าของ Platform ชื่อดังอย่าง QQ Music และ JOOX ก็มีผู้ใช้งานกว่า 900 ล้านบัญชี

    นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่า ยอด Subscription ของ Platform ต่างๆ นั้นจะสามารถเติบโตได้อีกถึง 3 เท่าตัว โดยเฉพาะประเทศไทยที่มียอดการเติบโตของ Subscription ของ YouTube เร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชีย

ที่มา : Global Music Report 2024 จาก สมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศ หรือ IFPI


    จากตัวเลขการเติบโตเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงโอกาสสำคัญที่ค่ายเพลงและแพลตฟอร์ม มีโอกาสที่จะเติบโตไปกับกระแสดิจิทัลสตรีมมิ่ง ถือเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าอุตสาหกรรมเพลงกำลังเข้าสู่ยุค Music Second Wave Boom เพราะว่ายอดรายได้รวมของอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกได้ทะลุถึงจุดสูงสุดที่เคยทำได้มาแล้ว

    และจะเห็นได้ว่าธุรกิจค่ายเพลงและธุรกิจแพลตฟอร์มนั้น เป็นส่วนประกอบสำคัญที่เป็นหัวใจหลักที่ทำให้อุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกนั้นสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

    สังเกตได้จากผลประกอบการของค่ายเพลงระดับโลกที่ผ่านมา อย่าง Universal Music Group ค่ายเพลงใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา มีรายได้ 429,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อน 7% YG Entertainment ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของเกาหลี มีรายได้ 14,700 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 45%

    และ GMM Music ค่ายเพลงส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในไทย มีรายได้ 3,913 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อน 27% จากตัวเลขดังกล่าวได้แสดงถึงธุรกิจค่ายเพลงมีการเติบโต โดยค่ายเพลงในฝั่งเอเชียมีอัตราการเติบโตขึ้นประมาณ 2-3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับปี 2015 ที่ธุรกิจดิจิทัลสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม (Digital Streaming)เริ่มเข้ามามีบทบาท

    ปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ค่ายเพลงเติบโตในยุคดิจิทัลมิวสิค (Digital Music) คือ ทรัพย์สินทางดนตรี (Music IP : Music Intellectual Property) คือ สิทธิ์ หรือ ลิขสิทธิ์ในคอนเทนต์เพลง โดยบริษัทที่จะมี Music IP คือ บริษัทที่โฟกัสในธุรกิจเพลงและมี Music IP จำนวนมาก หรือที่เรียกว่า Music Pure Play Business ซึ่ง Music IP เหล่านี้จะเกิดขึ้นจากการมีศิลปินและก็มีค่ายเพลงต่างๆ ในมือ

    ยกตัวอย่าง GMM Music ในฐานะบริษัทฯ ที่มีความแข็งแรงด้านคลังทรัพย์สินทางดนตรีของไทยที่ได้สั่งสมและมีการพัฒนาต่อยอดมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี ผนวกกับการมี Music Infrastructure ครบวงจรที่สุดในไทย ซึ่งการวางจุดยืนของ GMM Music นั้น ไม่ใช่เพียงแค่การดูแลค่ายย่อย ผลิตเพลงป้อนงานให้กับศิลปิน แต่ยังนำเนื้อหาต่างๆ ที่ได้จากตัวศิลปินหรือทรัพย์สินทางดนตรี (Music IP : Music Intellectual Property) ต่างๆ มาบริหารจัดการหารายได้ผ่าน Video และ Audio Music Streaming

    ซึ่งนี่เป็นจุดแข็งเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญที่ทำให้ค่ายเพลงมีรายได้เข้ามาแบบต่อเนื่อง (Recurring Income) และเป็นรายได้ที่สามารถเกิดขึ้นต่อเนื่องได้ยาวนานเป็นหลายสิบปีจากทรัพย์สินทางดนตรี (Music IP : Music Intellectual Property) โดยไม่ต้องลงทุนผลิตคอนเทนต์ใหม่

    สำหรับข้อมูลการเติบโตของอุตสาหกรรมเพลงดังกล่าว ทำให้บริษัท เทนเซ็นต์ โฮลดิ้ง ลิมิเตท ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มจากประเทศจีน มีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 15 ล้านล้านบาท (15,000,000 ล้านบาท) ได้เล็งเห็นโอกาสโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย ที่ถือว่าเป็น Emerging Market ประกอบกับในประเทศไทยมีอุตสาหกรรมเพลงที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    ซึ่งเทนเซ็นต์ในปัจจุบันเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่มีธุรกิจในเครือมากมาย รวมไปถึงแพลตฟอร์มฟังเพลงต่างๆ ที่มีผู้ใช้งานขนาดใหญ่มากกว่า 900 ล้านยูสเซอร์ อย่าง MAU (Monthly Active Users) และยังมีผู้ใช้งานที่ยอมจ่ายเงิน Subscript บนแพลตฟอร์ม (Paid Subscription) ราว 100 ล้านยูสเซอร์ โดยมีบริษัท เทนเซ็นต์ มิวสิค เอ็นเตอร์เทนเมนต์ กรุ๊ป หรือ TME ผู้นำธุรกิจดนตรีและความบันเทิงในเครือของเทนเซ็นต์ มีมูลค่าบริษัทปัจจุบันอยู่ที่ 780,000 ล้านบาท เป็นผู้บริหารจัดการแพลตฟอร์มดังกล่าว

    ด้วยจุดเด่นทางธุรกิจและการเติบโตของอุตสาหกรรมเพลงทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทางเทนเซ็นต์ มิวสิค หรือ TME ได้เข้าไปลงทุนในบริษัทเพลงต่างๆ ที่มีศักยภาพทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น Universal Music Group ที่ เทนเซ็นต์เข้าไปซื้อหุ้นครั้งแรกในปี 2019 และล่าสุดในปี 2023 ได้มีการลงทุนเพิ่ม ปัจจุบัน เทนเซ็นต์ เข้าไปถือหุ้น Universal Music Group มากถึง 20%

    และที่น่าสนใจก็คือ “เทนเซ็นต์ มิวสิค เอ็นเตอร์เทนเมนต์ กรุ๊ป” และ “เทนเซ็นต์ โฮลดิ้ง ลิมิเตท” เข้าร่วมลงทุนเชิงกลยุทธ์ในบริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ในสัดส่วนหุ้น 10% คิดเป็นมูลค่าบริษัทรวม 25,700 ล้านบาท ถือเป็นการส่งเสริมการเติบโตของ New Music Economy ไทย ผ่านการขยายธุรกิจ การกระตุ้นการเติบโต การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับพันธมิตรระดับโลก และการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเพลงในรูปแบบใหม่ ตอบรับอนาคตของอุตสาหกรรมเพลงที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว

    เนื่องจากธุรกิจเพลงได้เข้าสู่ ยุคใหม่แล้วเพราะสามารถฟังเพลงได้ทุกแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคตข้างหน้าถ้ามีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่สามารถเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลถึงกันได้ด้วยอินเทอร์เน็ต (IoT : Internet of things) เกิดขึ้นจะส่งผลให้มีการฟังเพลงมากขึ้น

    นั่นหมายความว่า อุตสาหกรรมเพลงนั้นสามารถเติบโตไปกับทั้งอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมดิจิทัลได้พร้อมๆ กัน จากปัจจัยสนับสนุนทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ประกอบกับการที่ตลาดมีศักยภาพและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : RS ปิดดีลรับทรัพย์ 605 ล้านบาท หลังขายหุ้นให้ ‘ยูนิเวอร์แซล มิวสิค’ เตรียมต่อยอดธุรกิจเพลงและธุรกิจใหม่

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine