ตลาดความงามไทยโต 12% ปี 2023 สูงสุดในรอบ 20 ปี แซงค่าเฉลี่ยความงามโลก “ลอรีอัล” ยอดขายโตสองหลักเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน เดินหน้าประกาศกลยุทธ์ One L'Oréal เพื่อเติบโตเหนือตลาดความงามไทยที่คาดว่าจะอยู่ที่ 8% ปีนี้
ตลาดความงามเมืองไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2018-2023 โดยการเติบโตเฉลี่ยในปี 2018 และ 2019 อยู่ที่ 7% และ 6% ตามลำดับ และมีการติดลบอยู่ 3% ในปี 2020 เพียงปีเดียว หลังจากนั้นตลาดความงามในประเทศไทยได้กลับมาเติบโตตามปกติอีกครั้ง ในปี 2021 และปี 2022 ค่อยๆ เติบโตที่ 2% และ 9% ตามลำดับ
“ปี 2023 เป็นอีกหนึ่งปีทองของตลาดความงามที่คึกคักและเต็มไปด้วยการแข่งขันสูง และมีการโตสูงสุดถึง 12% และลอรีอัล กรุ๊ป ในประเทศไทยยังคงขีดความสามารถในการแข่งขันและเป็นผู้นำในตลาดความงามในหลายเซกเมนต์ได้อย่างประสบความสำเร็จ ยอดขายเราเติบโตสองหลักเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ท่ามกลางความท้าทายจากคู่แข่งที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคที่มีความสนใจในความงามที่แตกต่างและหลายหลายรูปแบบ” แพทริค จีโร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย เมียนมา ลาว และกัมพูชา กล่าว
ในไทยกลุ่มสินค้าเติบโตสูงสุด ได้แก่ กลุ่มสินค้าเวชสำอาง เพราะหลังโควิดคนมาใส่ใจดูแลเกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้น และกลุ่มผลิตภัณฑ์เมคอัพ ซึ่งอั้นมาตั้งแต่ช่วงโควิด
โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา ตลาดความงามและผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัวเมืองไทยมีมูลค่าสูงถึง 2.85 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ตลาดความงาม 1.85 แสนล้านบาท และที่เหลือเป็นผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว อาทิ สบู่เหลว ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นเหงื่อ และโกนหนวด เป็นต้น
ข้อมูลจากยูโรมอนิเตอร์ บริษัทวิจัย ระบุว่าตลาดความงามเมืองไทยมูลค่า 1.85 แสนล้านบาทนั้น ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวเป็นตลาดใหญ่ที่สุดมีสัดส่วนถึง 61% ของตลาดความงามทั้งหมด หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 1.13 แสนล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมด้วยสัดส่วน 21% มีมูลค่า 3.9 หมื่นล้านบาท ขณะที่ผลิตภัณฑ์กลุ่มเมคอัพมีสัดส่วน 12% มีมูลค่าตลาดที่ 2.27 หมื่นล้านบาท และกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำหอมคิดเป็นสัดส่วน 6% มีมูลค่าสูงถึง 1.02 หมื่นล้านบาท
“ลอรีอัล กรุ๊ป ประเทศไทย นับเป็นหนึ่งในตลาดหลักของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใต้ ตะวันออกกลาง และ แอฟริกาเหนือ ธุรกิจของเรายังสามารถคงอัตราการเติบโตสองหลักเหนือตลาดในเมืองไทยได้อย่างต่อเนื่อง ตลาดความงามเมืองไทยโดยรวมในปีนี้น่าจะโตได้ถึง 2 หลัก แม้จะถูกคาดการณ์จากบริษัทวิจัยว่าจะเติบโตเพียง 8% ก็ตาม” แพทริคกล่าว
เขาบอกอีกว่า เหตุผลหลายประการ คือ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีขนาดตลาดเครื่องสำอางใหญ่ ตลาดมีความ dynamic และ sophisticate เครื่องสำอางเป็นสินค้าที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าสินค้าลักชัวรี่อื่นๆ อาทิ กระเป๋า เสื้อผ้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการขยายตัวของชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่าจำนวนชนชั้นกลางในเมืองไทยจะมีถึง 50 ล้านคนภายในปี 2030 กำลังซื้อจึงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ปีนี้เราจะเน้นขยายตลาดสกินแคร์ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ และเมคอัพซึ่งเป็นตลาดที่กำลังโตและเรามีโนฮาวที่แข็งแรง นอกจากนี้ ทั้งสองกลุ่มผลิตภัณฑ์มีการเติบโตสูงถึง 13% ในปีที่ผ่านมา” แพทริค กล่าว
เพื่อผลักดันตลาดความงามในประเทศไทยที่ลอรีอัล กรุ๊ป มีแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอ 15 แบรนด์ ทั้งยังครอบคลุม เมียนมา ลาว และกัมพูชา บริษัทฯ จึงได้ประกาศใช้กลยุทธ์ One L'Oréal ที่มุ่งเน้นการพัฒนาองค์กรทั้งด้านบุคลากร ด้านธุรกิจ และด้านความยั่งยืน ให้ทุกกลุ่มธุรกิจและแผนกส่วนกลางได้มุ่งพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน ผ่านการกำหนดความสำคัญใน 4 เรื่อง คือ
“People 1st” เป็นการให้ความสำคัญกับบุคลากรเป็นอันดับแรก สร้างความเข้มแข็งและคุณภาพ พัฒนาความเป็นผู้นำทีมและการทำงานร่วมกันให้กับบุคลากรในทุกระดับ สร้างเส้นทางการเติบโตตามความสนใจ รวมถึงสร้างสิ่งแวดล้อมและวิถีการทำงานที่ส่งเสริมให้พนักงานได้ทำงานอย่างมีความสุขพร้อม
“#1 Beauty Company” มุ่งการสร้างแบรนด์ให้ครองใจผู้บริโภค ชูความเชี่ยวชาญในด้านงานวิจัย และดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มใหม่ด้วยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และการมอบประสบการณ์สอดรับกับความต้องการที่หลากหลาย สร้างโอกาสในการเติบโตเชิงกลยุทธ์ด้วยพอร์ตโฟลิโอแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ทำการตลาดอย่างมีกลยุทธ์ที่ครอบคลุม
“One Loved Company” ขับเคลื่อนองค์กรในการทำงานสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างมีเป้าหมายทั้งในระดับแบรนด์และองค์กรควบคู่กับด้านธุรกิจ ตามพันธกิจความยั่งยืนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำหรับปี 2030 เน้นย้ำภาพลักษณ์องค์กรในบิวตี้เทค และดำเนินงานอย่างมีวิสัยทัศน์และ Sense of Purpose ในการสร้างความงามที่ขับเคลื่อนโลก
“F1t for the Future” ผลักดันให้องค์กรและพนักงานมีความพร้อมและพัฒนาทักษะเพื่อรับอนาคต มุ่งใช้ data และ AI ในกระบวนการทำงานเพื่อประสิทธิภาพเพื่อการวิเคราะห์และความฉับไว รวมถึงสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทผู้นำด้านเทคโนโลยีความงาม
ภายใต้กลยุทธ์ One L'Oréal ลอรีอัลจะคงการผลักดันทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว กลุ่มผลิตภัณฑ์เมคอัพ ให้ผ่านการจุดกระแสนิยมอย่างต่อเนื่องทั้งในตลาดออนไลน์และออฟไลน์ในทุกเซกเมนต์
เพื่อให้ธุรกิจของลอรีอัลเติบอย่างมั่นคง บริษัทจะนำแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาสู่ตลาดภายใน 12-18 เดือนข้างหน้า ขณะเดียวกันจะเน้นสร้างการเข้าถึงลูกค้า Gen Z และกลุ่มลูกค้าสูงวัย โดยจะศึกษาจากตลาดยุโรปที่มีผู้สูงวัยถึงการจัดจำหน่าย การสื่อสาร ช่องทางโซเซียลที่เหมาะกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม เพื่อให้แบรนด์เข้าถึงได้ง่าย
ขณะเดียวกัน ในปี 2024 ลอรีอัล กรุ๊ป ในประเทศไทย ยังมีเป้าหมายลดการทำลายสินค้า ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ และดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การเพิ่มรีฟิลในแบรนด์ใหม่ๆ มากขึ้น เช่น Laroche Posay จากที่เริ่มไปแล้วในกลุ่มผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูง อาทิ YSL Lancome และ Kiehl’s เป็นต้น
ลอรีอัล กรุ๊ป ในประเทศไทย ยังได้เปิด “Baan Beauté” (บ้านโบเต้) สำนักงานใหญ่แห่งใหม่และศูนย์กลางของลอรีอัล กรุ๊ป ในประเทศไทย เมียนมา ลาว และกัมพูชา โดยสำนักงานแห่งนี้ได้รับการออกแบบภายใต้คอนเซ็ปต์ Beauty Meets Technology & Sustainability โดยผสมผสานความงามของเส้นสายโค้งมนเข้ากับสีสันสดใสซึ่งได้แรงบันดาลใจจากเมคอัพ เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและพื้นที่ทำงานร่วมกันของพนักงานเพื่อยกระดับสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงาน
อีกทั้งยังมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีสุดล้ำที่นอกจากจะช่วยให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแล้ว ยังออกแบบมาโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นให้ประหยัดพลังงานและทรัพยากรตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนของลอรีอัลอีกด้วย
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : BEAUTRIUM เปิดอาณาจักรน้ำหอม ในงาน HOUSE OF PERFUME ขนทัพน้ำหอมระดับโลกอวดโฉมกลางเซ็นทรัลเวิลด์
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine