จารุวรรณ โชติเทวัญ รุ่น 2 สหฟาร์มนำทีมแกร่ง สู่แชมป์ส่งออกไก่อันดับ 1 - Forbes Thailand

จารุวรรณ โชติเทวัญ รุ่น 2 สหฟาร์มนำทีมแกร่ง สู่แชมป์ส่งออกไก่อันดับ 1

FORBES THAILAND / ADMIN
03 May 2024 | 09:00 AM
READ 2789

“สหฟาร์ม” อาณาจักรธุรกิจไก่ครบวงจรของ ดร.ปัญญา โชติเทวัญ ในวัย 93 เขายังไม่วางมือจากธุรกิจ หลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้เข้ามาปรับโครงสร้างองค์กร นำทัพทีมผู้บริหารรุ่น 2 เดินหน้าธุรกิจเต็มกำลังอีกครั้ง


    สหฟาร์มอยู่ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการนานกว่า 7 ปี หลังจากเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลายกลางเมื่อปี 2557 ด้วยมูลหนี้รวมกว่า 20,788 ล้านบาท โดยเป็นหนี้ของสหฟาร์ม 10,353 ล้านบาท และ บริษัท โกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส จำกัด อีกกว่า 10,435 ล้านบาท มีธนาคารกรุงไทยเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ ซึ่งศาลได้เห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ปี 2558

    “สหฟาร์มออกจากแผนฟื้นฟูวันที่ 18 สิงหาคม ปี 2565 จากนั้นคุณพ่อกลับมาบริหารในวันที่ 9 เดือน 9 ปีเดียวกัน เข้ามาปรับโครงสร้างหลายอย่างและเดินหน้าธุรกิจ” ดร.จารุวรรณ โชติเทวัญ ประธานสายการตลาดต่างประเทศ บัญชี การเงิน และเลขานุการประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหฟาร์ม จำกัด บอกเล่าอย่างรวบรัดถึงการกลับมาฟื้นธุรกิจของทีมผู้บริหารเดิม หลังจากสหฟาร์มต้องอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการหลายปีภายใต้การบริหารของทีมบริหารแผนฯ จากภายนอก


ทำนิวไฮรายได้ 3 หมื่นล้าน

    การกลับมาของครอบครัวโชติเทวัญทำให้เห็นความแข็งแกร่งของสหฟาร์มในฐานะผู้ส่งออกไก่ที่เคยรุ่งเรืองกลับมาคืนบัลลังก์อันดับ 1 ผู้ส่งออกได้เป็นผลสำเร็จในปี 2566 ด้วยยอดส่งออกไก่ที่ทำได้เกือบ 2 หมื่นล้านบาท และยอดขายในประเทศทำได้ราว 1 หมื่นล้านบาท แต่ในแง่จำนวนการขายในประเทศมีสัดส่วน 70% และส่งออก 30% ส่วนมูลค่าตลาดส่งออกมีสัดส่วนกว่า 60% ที่เหลือเป็นในประเทศ

    เวลาเพียงปีเศษในการกลับมาของทีมบริหารเดิม แม้จะมีการปรับโครงสร้างจากรุ่นบุกเบิกคือปัญญา มาสู่ทายาทรุ่นลูกนับสิบคน โดยจารุวรรณเป็นทายาทคนสำคัญที่ได้รับหน้าที่หลักดูแลตลาดต่างประเทศ และเป็นเลขานุการประธานกรรมการบริหาร ทำให้เธอได้เรียนรู้ภารกิจการเป็นผู้บริหารหลักอย่างเต็มตัว

    “น้ำผึ้งเข้ามาดูตลาดต่างประเทศและเป็นเลขานุการท่านประธานซึ่งก็คือคุณพ่อ ต้องบอกว่างานเยอะและยุ่งมากจริงๆ อยากเข้าไปดูด้านบัญชียังไม่มีเวลาเลย” จารุวรรณเล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเอง เธอยังอธิบายด้วยว่า ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ครอบครัวโชติเทวัญกลับเข้ามาบริหารเองมีปัจจัยอุปสรรคมากมายที่ต้องแก้ไขไปพร้อมๆ กับการขยายธุรกิจค่อนข้างเหนื่อยและหนัก

    “ค่า freight การส่งออกสินค้าไปจำหน่ายที่ยุโรปเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จาก 1,000 กว่าเหรียญสหรัฐฯ ต่อตู้ ขึ้นมาเป็น 6,000 เหรียญต่อตู้ เพราะต้องเดินเรืออ้อมทำให้ใช้เวลาเพิ่มขึ้นจาก 3 สัปดาห์เป็น 40 วัน ต้นทุนพุ่งมาก” เธอเล่าหนึ่งในปัจจัยปัญหาที่พบของการส่งออกไก่ไปจำหน่ายที่ยุโรปซึ่งไม่ได้ราบรื่นเหมือนก่อน เพราะปัจจุบันหลายพื้นที่ในโลกมีปัญหาทั้งก่อการร้าย สงคราม และความไม่สงบ ส่งผลกระทบต่อเส้นทางเดินเรือสินค้า ซึ่งกรณีนี้สหฟาร์มต้องเจรจากับลูกค้าให้ช่วยแบ่งเบาภาระค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น

    “โชคดีที่ลูกค้าเข้าใจและยอมรับช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น” แม่ทัพเจน 2 ของสหฟาร์มเล่าพร้อมย้ำว่า ทุกอย่างไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่าย ต้องมีการเจรจาทำความเข้าใจกันในรายละเอียด

    “ราคาไก่สวิงขึ้น-ลงตามตลาดโลกต้องคุยกับลูกค้า นอกจากเรื่องราคายังมีค่า freight ที่ขึ้นผิดปกติ ต้องคุยกับลูกค้าขอให้เขาช่วย ลูกค้าก็เข้าใจ ส่วนเราจะผลักภาระให้เขาทุกอย่างก็ไม่ได้เพราะทุกประเทศก็มีวิกฤต” จารุวรรณอธิบายและว่า ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องต้นทุน แต่สหฟาร์มก็สามารถกลับมาเติบโตเป็นอันดับ 1 ของผู้ส่งออกไก่จากประเทศไทย

    โดยสิ้นปี 2565 สหฟาร์มมียอดส่งออกไก่รวม 110,000 ตัน และในปี 2566 ยอดส่งออกไก่รวมเพิ่มมาเป็น 170,000 ตัน เป็นการทำนิวไฮของบริษัท และเป็นผู้ส่งออกไก่อันดับ 1 ของประเทศ โดยเป็นผู้ส่งออกไก่รายเดียวที่เติบโตท่ามกลางปัจจัยปัญหาหลายอย่าง


    ผลประกอบการล่าสุดนับเป็นความสำเร็จที่ทำให้นักธุรกิจสาวทายาทรุ่น 2 ของบ้านโชติเทวัญบอกว่า ภูมิใจมาก “ดูกราฟการเติบโตที่ทำมา 2 ปีต้องบอกว่าภูมิใจแล้วภูมิใจอีก เพราะเห็นได้ชัดว่าการเติบโตเกิดขึ้นชัดเจนหลังออกจากแผนฟื้นฟู”

    อย่างไรก็ตาม มากกว่าความเติบโตที่สร้างความภูมิใจให้ทีมสหฟาร์มยังมาจากปัจจัยที่พบว่า ตลาดไก่ในปีที่ผ่านมาค่อนข้างมีปัญหา “ตั้งแต่ทำไก่มาไม่เคยวิกฤตขนาดนี้ ปี 2566 วิกฤตมาก ทั้งค่าเงิน ต้นทุนอาหารสัตว์ ราคาไก่ตกต่ำ” เธอย้ำและว่า วัตถุดิบอาหารสัตว์ก็แพง หากดูจากบราซิลผู้นำการส่งออกไก่ของโลกมีต้นทุนเลี้ยงไก่ต่ำกว่าไทยเป็นเท่าตัว ข้าวโพดบ้านเขา 5-8 บาท ของเรา 12 บาท


งานฝีมือตัดแต่งไก่ราคาดี

    นอกจากนี้ การผลิตไก่โรงงานต่างประเทศก็ต่างจากของไทย เขาเป็นโรงงานสมัยใหม่ใช้เครื่องจักรเป็นหลัก แต่ของสหฟาร์มเป็นแรงงานฝีมือ “เราเป็น labor intensive จ้างแรงงานเยอะ เน้นสร้างรายได้ให้ชุมชน เราใช้แรงงานฝีมือทำให้การตัดแต่งประณีต สินค้าเราจึงสวยสู้คู่แข่งได้และทำให้ได้ราคาดีกว่า” จารุวรรณยืนยันว่านี่เป็นอีกจุดแข็งของสหฟาร์ม เพราะทำให้สินค้าได้ราคาแพงขึ้น เธอยกตัวอย่างการตัดแต่งเนื้อไก่ เช่น เนื้อน่องไก่นำมาตัดเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าของสหฟาร์มได้ขนาดไซซ์และน้ำหนักใกล้เคียงกันสม่ำเสมอ ความประณีตของฝีมือแรงงานทำให้ไก่ของสหฟาร์มได้ราคาดีกว่าคู่แข่งในต่างประเทศ


    อย่างไรก็ตาม สำหรับปี 2567 ผ่านมา 3 เดือนยอดส่งออกไก่ของสหฟาร์มยังคงเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งเธอมองว่าไม่น่าจะแย่เท่าปีที่แล้วในเรื่องของราคาและค่าขนส่ง ซึ่งทุกคนรู้ดีว่าปีที่แล้วราคาไก่ตกต่ำมาก ปีนี้ไม่น่าแย่กว่านั้น แต่ราคาก็ขึ้นกับสถานการณ์

    เช่น ในช่วงที่มีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปี 2565 ราคาไก่พุ่งขึ้น 20-30% เพราะคนตกใจสงครามจึงตุนอาหาร แต่สุดท้ายกลายเป็นสต็อกยาวนานคนไม่ซื้อของทำให้ราคาไก่ตกฮวบไป 30% ส่วนปีนี้มองว่าเหตุการณ์ไม่น่ารุนแรง แม้ยังมีเรื่องก่อการร้ายและปัจจัยภายนอก แต่ยังไม่มีสัญญาณเรื่องการกักตุนอาหาร

    นอกจากการขยายตลาดจารุวรรณบอกว่า ปีนี้สหฟาร์มจะหันมาทำเรื่องรีแบรนดิ้ง เนื่องจากไม่ได้ทำมานานแล้ว รวมไปถึงเรื่องแพ็กเกจจิ้งที่ไม่เปลี่ยนนานแล้วเช่นกัน และแต่ก่อนสหฟาร์มแข็งแรงมากในเรื่องฮาลาล (Halal Food) มาตรฐานอาหารอิสลาม ลูกค้ามุสลิมให้การยอมรับเพราะสหฟาร์มทำไก่อย่างเดียวไม่มีสัตว์อื่นปน แต่ตอนหลังไม่ค่อยได้เน้นส่วนนี้จึงมีแนวคิดว่าจะกลับมาเน้นให้มากขึ้น

    “ลูกค้าอิสลามบอกไม่ชอบเวลาเข้าเว็บไซต์แล้วเจอหมู เขาต้องการความมั่นใจทั้งซัพพลายเชน รถขนส่งคนกินหมูปิ้งบนรถก็ไม่ได้ รถคันนี้ขนหมูมาก่อนก็ไม่ได้” เป็นประเด็นปลีกย่อยที่ผู้บริหารสหฟาร์มไม่มองข้าม มันสะท้อนได้ว่าสหฟาร์มเริ่มกลับมาทำตลาดอย่างจริงจังในทุกมิติ


ไก่ไทยโดดเด่นในเวทีโลก

    ผลประกอบการและแนวทางการเติบโตของสหฟาร์มสอดคล้องกับข้อมูลจาก SCB EIC Industry Insight ที่ระบุว่า อุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยปี 2566 เติบโตต่อเนื่องจากปัจจัยหนุนด้านความต้องการบริโภคเนื้อไก่ ทั้งจากตลาดในประเทศและตลาดส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้นตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

    โดยได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว การเปิดประเทศและยกเลิกนโยบาย Zero-COVID ของรัฐบาลจีน การทยอยรับรองมาตรฐานโรงงานส่งออกไก่ของไทย โรคระบาดในสุกร (ASF) ที่ยืดเยื้อส่งให้ไก่ขายดี และการส่งออกเพื่อทดแทนประเทศผู้ผลิตอย่างมาเลเซียที่ระงับการส่งออกไก่ชั่วคราว โดยคาดว่าการส่งออกไก่เติบโตขึ้นราว 15%

    ขณะเดียวกันข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเนื้อไก่ปรุงแต่งอันดับ 1 ของโลกในปี 2565 โดยมีส่วนแบ่งในตลาดโลก 27.1% รองจากไทยคือ จีน เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และโปแลนด์ ตลาดส่งออกเนื้อไก่ปรุงแต่งที่สำคัญของไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น สหราช-อาณาจักร และเนเธอร์แลนด์



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 

คลิกอ่านเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2567 ในรูปแบบ e-magazine