JOOX ประเทศไทย ประกาศรายได้เติบโต 100% ตั้งเป้าปี 2562 เพิ่มจำนวนผู้ใช้ 20% บุกต่างจังหวัด-เมียนมา - Forbes Thailand

JOOX ประเทศไทย ประกาศรายได้เติบโต 100% ตั้งเป้าปี 2562 เพิ่มจำนวนผู้ใช้ 20% บุกต่างจังหวัด-เมียนมา

JOOX ประเทศไทย โชว์การเติบโตปี 2561 สร้างรายได้เพิ่มขึ้น 100% ขึ้นแท่นเบอร์ 1 แอพฯ สตรีมมิ่งเพลงที่ผู้ใช้ไทยเลือก เดินหน้าปี 2562 ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนผู้ใช้เป็น 12 ล้านคน มุ่งเจาะตลาดต่างจังหวัด-ประเทศเมียนมา

JOOX แอพพลิเคชั่นมิวสิคสตรีมมิ่งภายใต้ร่มเงาของบริษัท Tencent ประเทศจีน ย่างเข้าสู่ปีที่ 4 หลังจากเข้ามาเปิดบริการในไทยเมื่อปี 2559 และยังคงยึดครองบัลลังก์เบอร์ 1 ในตลาด กฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) ผู้บริหาร JOOX ประเทศไทย เปิดเผยตัวเลขการเติบโตของ JOOX ในปีที่ผ่านมา มีการดาวน์โหลดเพิ่มขึ้นเป็น 68 ล้านครั้ง (โต 35% เทียบปีก่อนหน้า) โดยมีจำนวนผู้ใช้ active user ทั้งหมด 10 ล้านคน และมีการสตรีมมิ่งทั้งหมด 3 พันล้านครั้งในปีที่ผ่านมา (โต 50% เทียบปีก่อนหน้า) ที่สำคัญคือ JOOX มีการสำรวจผ่านแบบสอบถามใน Facebook จากผู้ใช้ 1,667 คน พบว่า 72% ของผู้ตอบแบบสอบถามเลือก JOOX เป็นแอพฯ สตรีมมิ่งเพลงเมื่อต้องการฟังดนตรี โดยอันดับรองลงมาคือ Spotify สัดส่วน 25% และ Apple Music 11% ตัวเลขของ JOOX นี้เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ซึ่งมีผู้เลือกใช้ JOOX สัดส่วน 59% สำหรับคอนเทนต์เพลงใน JOOX ผู้ฟังเลือกฟังเพลงไทยเกือบ 90% มากกว่าปีก่อนหน้าที่มีการฟังเพลงไทย 70-80% โดยหมวดดนตรีที่มีการฟังสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.ป็อป 2.ร็อค 3.ฮิปฮอปและอาร์แอนด์บี 4.ลูกทุ่งและเพื่อชีวิต 5.อินดี้และอัลเทอร์เนทีฟ โดย 3 หมวดหลังนั้นมีสัดส่วนฐานผู้ฟังที่เติบโตขึ้นกว่าปีก่อน ในแง่รายได้ กฤตธีกล่าวว่าบริษัทสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 100% ในปี 2561 โดย 50% มาจากค่าโฆษณา อีก 50% เป็นรายได้จากสมาชิกที่สมัครบริการ JOOX VIP "ตอนนี้มีผู้ใช้ VIP ไม่ถึง 10% ก็จริง แต่กลุ่มนี้ทำรายได้ให้เราครึ่งหนึ่ง และเป็นสัดส่วนที่เราค่อนข้างพอใจ เพราะเปรียบเทียบกับฮ่องกงซึ่งเป็นตลาดที่มีผู้สมัคร VIP มากที่สุดของ JOOX ถือว่าใกล้เคียงกัน" กฤตธีกล่าว  

ส่งเสริมศิลปิน-คาราโอเกะ-ถ่ายทอดสด แม่เหล็กดึงผู้ฟัง

กฤตธีสรุปการทำงานในปีที่ผ่านมาของ JOOX ที่ส่งผลให้มีการเติบโตดังกล่าวว่า เกิดจากกลยุทธ์ที่บริษัทวางไว้ตั้งแต่แรก มุ่งเป้าหมายเป็น "แพลตฟอร์มสื่อกลางที่เชื่อมต่อศิลปินเข้ากับผู้ฟัง" ทำให้ JOOX มีโปรแกรมเพื่อพัฒนาศิลปินและพัฒนาเพลง เช่น JOOX new faces ที่มีการค้นหาศิลปินหน้าใหม่เพื่อผลิตเพลง จนทำให้ศิลปินหลายคนสามารถแจ้งเกิดได้ อาทิ ACTART, LAXYLOXY, OG-ANIC หรือโปรแกรม collab ศิลปินอย่าง NEXTPLORER ที่นำศิลปินค่าย GMM Grammy มาทำงานกับศิลปินค่ายอื่น ไปจนถึงการช่วยโปรโมตศิลปิน Artist of the Month บนพื้นที่สื่อของ JOOX และการจัดงานอีเวนต์คอนเสิร์ตตลอดปี "โปรแกรมเหล่านี้ทำให้เรามีโอกาสได้เป็นแพลตฟอร์มเปิดตัวเพลงครั้งแรก 130 เพลงในปีที่ผ่านมา จากจำนวนเพลงเปิดตัวในไทย 500 เพลงต่อปี และทำให้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับค่ายเพลงต่างๆ ในประเทศไทย" กฤตธีกล่าว นอกจากนี้ ปีก่อน JOOX ยังเปิดฟีเจอร์ใหม่ 'คาราโอเกะ' มีผู้ใช้บริการนี้แล้ว 5 ล้านครั้ง และมีการถ่ายทอดสดงานคอนเสิร์ตและงานประกาศรางวัลต่างๆ โดยเฉพาะงานประกาศรางวัลดนตรี K-POP เช่น MMA, Seoul Music Awards ซึ่งดึงดูดให้มีผู้ใช้เข้าสู่แพลตฟอร์มมากยิ่งขึ้น  

ปี'62 บุกต่างจังหวัด-เมียนมา-เอาใจแฟนคลับศิลปิน

ด้วยเป้าหมายเพิ่มผู้ใช้ active user เป็น 12 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 20% กฤตธีกล่าวว่า นอกจากการเดินหน้าเชื่อมศิลปินกับแฟนเพลงอย่างที่เคยทำมา JOOX ประเทศไทย จะมีแผนพัฒนา ได้แก่ 1.บุกตลาดต่างจังหวัด จากสัดส่วนปัจจุบันมีผู้ใช้ กทม. 55% และต่างจังหวัด 45% ทั้งยังเห็นแนวโน้มการเติบโตในกลุ่มเพลงลูกทุ่ง ทำให้มองว่าปีนี้จะเน้นการทำตลาดต่างจังหวัดและเพลงลูกทุ่ง ผ่านการโปรโมตด้วยคอนเสิร์ตในต่างจังหวัด และการค้นหาศิลปินหน้าใหม่ในกลุ่มลูกทุ่งมาเชื่อมต่อสู่ผู้ฟัง 2.พัฒนาเว็บไซต์ JOOX.com เพื่อให้เข้าถึงฐานผู้ฟังบนคอมพิวเตอร์ได้ดีขึ้น โดยถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยบุกต่างจังหวัด เนื่องจากพบว่าผู้ฟังดนตรีแบบสตรีมมิ่งในต่างจังหวัด 50% ยังเป็นการฟังผ่านคอมพิวเตอร์ 3.ตลาดมิวสิคสตรีมมิ่งในเมียนมา ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ JOOX ประเทศไทย เปิดตัวไปเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ในปีนี้จะมีกิจกรรมกระตุ้นตลาด วางงบ 5 ล้านบาทเพื่อสร้างโปรเจ็กต์ Shake The World มีการ collab ศิลปินไทยกับศิลปินเมียนมา กลุ่มศิลปินไทย เช่น The Toys, ตู่ ภพธร, สแตมป์ อภิวัชร กลุ่มศิลปินเมียนมา เช่น Big Bag, Mi Sandi, X BOX  เป็นต้น วางแผน collab ทั้งหมด 10 เพลง เวอร์ชันภาษาพม่าเปิดตัวในเดือนมีนาคมนี้ และเวอร์ชันภาษาไทยเปิดตัวไตรมาส 2/62 “ประชากรเมียนมามีกว่า 50 ล้านคน แม้ว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตยังไม่พัฒนาเท่าประเทศไทย แต่ผู้บริโภคพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ และแบรนด์ JOOX เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว จึงเชื่อว่ามีศักยภาพในการเติบโต มุมมองของเราต่อเมียนมาคล้ายกับยุคแรกที่เข้ามาเปิดตลาดไทย คือมุ่งมั่นเข้าไปช่วยพัฒนาวงการเพลงก่อน” กฤตธีกล่าว
โปรเจ็กต์ Shake The World ที่ JOOX ลงทุน 5 ล้านบาท สร้างสรรค์เพลงจากการ collab ระหว่างศิลปินไทยกับเมียนมา
4.ฟีเจอร์คาราโอเกะ เพิ่งเปิดตัวฟังก์ชันใหม่คือ Duet Video ให้ผู้ใช้สามารถร้องคาราโอเกะไปพร้อมกับศิลปินคนโปรดในรูปแบบวิดีโอได้ 5.ระบบ Coins เพื่อใช้ซื้อสติ๊กเกอร์ภายในแอพพลิเคชั่น ส่วนนี้ได้ทดลองตลาดไปแล้วระหว่างงานถ่ายทอดสด Seoul Music Awards ให้แฟนคลับสามารถซื้อสติ๊กเกอร์ส่งให้กับศิลปินที่ชอบได้ระหว่างถ่ายทอดสด เชื่อว่าจะกลายเป็นอีกแหล่งรายได้หนึ่งที่สำคัญ จากพฤติกรรมแฟนเพลงไทยที่พร้อมจ่ายค่าสินค้าและบริการให้กับศิลปิน ส่วนการเพิ่มจำนวนผู้ใช้ VIP หรือการปรับราคาแพ็กเกจ กฤตธีมองว่าปีนี้จะเป็นปีที่บริษัทมาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อทำความเข้าใจการตัดสินใจซื้อแพ็กเกจ VIP และวางแผนการตลาดต่อไป เบื้องต้นปีนี้ยังไม่มีแผนการปรับราคาขึ้นหรือลง (ราคาปกติ 129 บาทต่อเดือน) นอกจากการจัดโปรโมชันเป็นระยะ และอาจมีการเพิ่มสิทธิพิเศษเพื่อจูงใจให้มีผู้สมัครสมาชิก VIP เพิ่มขึ้น "ตลาดมิวสิคสตรีมมิ่งไทยยังเป็นบลูโอเชียน คนอีกมากที่ยังฟังเพลงจากซีดีหรือธัมป์ไดรฟ์ ยังมีพื้นที่ให้ไปและยังต้อง educate กันต่อไป" กฤตธีกล่าวปิดท้าย   Forbes Facts
  • ปัจจุบัน JOOX ประเทศไทย ดูแลตลาดไทย เมียนมา และอินโดนีเซีย ส่วนมาเลเซียยังคงมีสำนักงานใหญ่เฉพาะประเทศอยู่ ทั้งนี้ ยังไม่มีแผนขยายตลาดเพิ่มในอาเซียน
  • สมาชิก JOOX VIP จะได้รับสิทธิเข้าถึงเพลงบางรายการที่สงวนเฉพาะ VIP (ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเพลงต่างประเทศ) ไม่มีโฆษณาคั่น สามารถดาวน์โหลดเพลงได้ไม่จำกัด สิทธิการฟังเพลงคุณภาพ HD และสามารถอัดเสียงร้องจากฟีเจอร์คาราโอเกะได้
  • ข้อมูลตลาดมิวสิคสตรีมมิ่งทั่วโลกจาก IFPI Global Music Report 2018 พบว่าตลาดนี้มีมูลค่ารายได้ 1.73 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โตขึ้น 41.1% จากปีก่อนหน้า และกลายเป็นแหล่งรายได้อันดับ 1 ของวงการดนตรี คิดเป็น 38% แซงหน้าการขายแผ่นเสียง ซีดี และเทปที่มีสัดส่วน 30%