ไฮเออร์ ทุ่มงบ 10,000 ล้านบาท ตั้งโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศ ณ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 3(WHA ESIE 3) จ.ชลบุรี พร้อมดันประเทศไทยให้เป็นฮับการผลิตครบวงจรเพื่อจำหน่ายและส่งออกทั่วโลก ตั้งเป้าผลิตเครื่องปรับอากาศเป็น 6 ล้านเครื่องต่อปี จ้างแรงงานเพิ่มกว่า 3,000 ตำแหน่ง
มร. โจว หยุนเจี๋ย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไฮเออร์ กรุ๊ป กล่าวว่า “การเลือกขยายธุรกิจมายังประเทศไทยด้วยการตั้งโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่แห่งใหม่และเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน เนื่องด้วยศักยภาพเชิงพื้นที่ที่แข็งแกร่งและยังถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ประกอบกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของตลาดเครื่องปรับอากาศในประเทศไทยที่มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งไฮเออร์ยังคงเป็นผู้นำในตลาดโดยมีส่วนแบ่งกว่า 13% และยังครองยอดขายอันดับ 1 ในแง่ของจำนวนผ่านช่องทางการขายแบบออฟไลน์”
ทั้งนี้ โรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศของไฮเออร์แห่งใหม่ ขนาดพื้นที่กว่า 324,000 ตร.ม. ใช้งบลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 3 (WHA ESIE 3) จ.ชลบุรี มีแผนการก่อสร้างแบ่งเป็น 3 เฟส ซึ่งเฟสแรกจะเปิดในส่วนของการผลิต 3 ล้านเครื่องในเดือนกันยายน 2568 เฟสที่สองและสามจะเสร็จสิ้นพร้อมเปิดดำเนินการในปี 2569 และ 2570 ตามลำดับ โดยหลังจากทั้ง 3 เฟสก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์คาดว่าโรงงานแห่งนี้จะกลายเป็นฐานการผลิตเครื่องปรับอากาศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตเครื่องปรับอากาศในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของไฮเออร์ที่มีกำลังการผลิตเครื่องปรับอากาศสูงสุดถึง 6 ล้านเครื่องต่อปี
ด้าน มร. ต่ง เจี้ยนผิง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไฮเออร์ อีเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากเดิมไฮเออร์มีโรงงานที่ take over มาจากบริษัทซันโยในปี 2007 ซึ่งตั้งอยู่ที่จ.ปราจีนบุรี มีกำลังผลิตเครื่องปรับอากาศราวๆ 2.7 ล้านเครื่องต่อปี ทั้งนี้การขยายโรงงานแห่งใหม่ที่มีกำลังผลิตสูงถึง 6 ล้านเครื่องต่อปีจะช่วยรองรับความต้องการผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น
“ครึ่งปีแรกนี้เรามียอดขายเครื่องปรับอากาศ 4,500 ล้านบาท เครื่องใช้ไฟฟ้าโดยรวมทั้งหมด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ตู้แช่มียอดขายราว 6,000 ล้านบาท จึงคาดการณ์ได้ว่ายอดขายรวมตลอดทั้งปี 2024 จะเป็นไปตามเป้าที่เราวางไว้ 11,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของแผนกลยุทธ์การตลาด จะเน้นในเรื่องของการสร้างมูลค่าแบรนด์ ไม่ได้เน้นแข่งขันเรื่องราคาถูกกว่า เพราะสินค้ามีหลาย segment และจะเน้นขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น จากเดิมที่มีสัดส่วนออฟไลน์ 90% ออนไลน์ 10% ก็จะขยับเป็นออนไลน์ 20% ภายในปีหน้า โดยจะผลิตสินค้ารุ่นที่มีราคาถูกลงมาตอบโจทย์ผู้บริโภคผ่านออนไลน์โดยเฉพาะ“
อย่างไรก็ตาม มร. ต่ง เจี้ยนผิง ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การขยายโรงานใหม่แห่งนี้ จะช่วยสร้างงานให้ผู้คนในจ.ชลบุรีได้กว่า 3,000 ตำแหน่ง ซึ่งเรื่องของค่าแรงที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 400 บาทต่อวันนั้น น่าจะไม่กระทบต่อธุรกิจแต่อย่างใด เพราะจะมีการถัวเฉลี่ยกับการนำเข้าชิ้นส่วนวัตถุดิบเพื่อนำมาประกอบในไทยและลดต้นทุนการผลิตได้ และปัจจุบันไฮเออร์ในไทยมีสัดส่วนการใช้ซัพพลายเออร์ท้องถิ่นในประเทศ 60% จากต่างประเทศ 40%
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : พฤกษา เผยครึ่งแรกปี 67 รายได้เฉียดหมื่นล้าน พร้อมทุ่มงบ 1.5 พันล้าน ลุยธุรกิจเฮลท์แคร์ต่อเนื่อง
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine