HENRYs, SINKs, DINKs และ PANKs เช็คไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ คุณคือใครใน 4 กลุ่มนี้ - Forbes Thailand

HENRYs, SINKs, DINKs และ PANKs เช็คไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ คุณคือใครใน 4 กลุ่มนี้

​ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป วิถีชีวิต การทำงาน และไลฟ์สไตล์ของผู้คนยุคใหม่จึงต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบทในสังคมตามไปด้วย ในเรื่องของเชิงธุรกิจและการตลาด หลากหลายแบรนด์จึงต้องทำการโฟกัสวิเคราะห์เจาะจงกลุ่มลูกค้าหรือผู้บริโภคที่เป็นเป้าหมายหลักของตัวสินค้าและบริการให้ชัดเจนมากขึ้นตามด้วย


    โดย ณ ปัจจุบัน มีการจำแนกและให้คำจำกัดความถึงกลุ่มคนที่มีพฤติกรรม รูปแบบการใช้ชีวิต และฐานะทางเศรษฐกิจ ที่มีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยสิ่งต่างๆ ไว้อย่างชัดเจนขึ้น จากกลุ่มคน 4 ประเภท ดังนี้ 

1. HENRYs

   มาจาก High Earners, Not Rich Yet หมายถึง กลุ่มคนที่มีรายได้สูง แต่ยังไม่รวยสักที มีที่มาครั้งแรกจากนิตยสาร Fortune ปี 2003 ใช้เรียกเซกเมนท์ครอบครัวที่มีรายได้สูงราวๆ 2.5- 5 แสนเหรียญสหรัฐ แต่ไม่ค่อยเงินเหลือเก็บเพราะมีค่าใช้จ่ายสูง เช่น ค่าภาษี ค่าเล่าเรียนลูก ค่าผ่อนบ้าน ค่าใช้จ่ายในครอบครัว จนถึงอาจไม่มีการเก็บออมสำหรับเกษียณมากเท่าที่ควร 

    ณ ปัจจุบัน HENRYs กลายเป็นคำเรียนกลุ่ม Gen Millennials หรือ Gen Y ที่มีหน้าที่การงานดี รายได้สูง แต่ก็มีพฤติกรรมใช้จ่ายไปกับไลฟ์สไตล์ช้อป กิน เที่ยวอย่างหรูหราจนไม่มีเงินเหลือเก็บ กล่าวคือแม้จะหาเงินมาได้มาก แต่ก็ใช้จ่ายหนักมากด้วยเช่นกัน คนกลุ่มนี้ จึงถือเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมูลค่ามหาศาลของสินค้าลักชัวรี่แบรนด์ต่างๆ ที่มีการกำหนดกลยุทธ์การตลาดสำหรับกลุ่ม HENRYs ไว้โดยเฉพาะ 



2. SINKs 

    ย่อมาจากคำว่า Single Income No Kids หมายถึงคนโสดที่มีรายได้แต่ไม่มีลูก โดยคนโสดเหล่านี้มักจะนิยมใช้จ่ายเพื่อสร้างความสะดวกสบายและซื้อความสุขปรนเปรอให้แก่ตนเอง เพราะไม่มีภาระต้องรับผิดชอบจากการเลี้ยงดูแลลูก



3. DINKs 

    ย่อมาจาก Double Income No Kids หมายถึง คู่แต่งงานมีรายได้สูงทั้งคู่และไม่มีลูก ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะคู่หนุ่มสาวข้าวใหม่ปลามันอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงคู่สามีภรรยาสูงอายุที่ลูกๆ เติบโตจนย้ายออกจากบ้านไปดูแลตัวเองได้แล้ว รวมถึงคู่ชีวิต LGBTQ และคู่แต่งงานที่ตัดสินใจไม่มีลูก (Childless Couple) ที่ไม่ต้องกังวลในเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงลูก ทำให้คนกลุ่มนี้มีเงินเหลือมาเก็บออมลงทุนหรือใช้จ่ายเพื่อความสะดวกสบายของตัวเองได้มากขึ้น อีกทั้งกลุ่ม DINKs ยังมีค่าใช้จ่ายในบ้านต่อคนน้อยกว่ากลุ่ม SINKs ที่เป็นคนโสด เพราะพวกเขาสามารถแชร์ค่าใช้จ่ายกับคู่ของตัวเองได้

    ทั้งนี้ กลุ่ม SINKs และ DINKs ถือเป็นกลุ่มที่หมายปองของเหล่าบรรดาสินค้าลักชัวรี่ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และภาคธุรกิจท่องเที่ยว ยกตัวอย่าง เช่น รถยนต์ราคาแพง แพ็คเกจโรงแรมหรู รวมถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนต่างๆ และเมื่อไม่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่เกี่ยวกับลูก นี่จึงกลายเป็นโอกาสให้คนกลุ่มนี้สามารถนำเงินบางส่วนนี้มาเก็บออมและลงทุนในหุ้น พันธบัตร หุ้นกู้ รวมถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนอื่นๆ ที่จะช่วยสร้างความมั่งคงให้กับตัวเองและครอบครัวได้ 



4. PANKs

    ย่อมาจาก Professional Aunt, No Kids ถือเป็นคำจำกัดความเรียกกลุ่มผู้หญิงโสดที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป มีรายได้ และอาชีพหน้าที่การงานดี บทความ “The Rise of PANKs and What That Means for Startup Culture” ได้กล่าวถึงแนวโน้มของกลุ่ม PANKs ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยว่า ปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่มีผู้หญิงจำนวนมากได้รับสนับสนุนทักษะความสามารถด้านผู้ประกอบการให้สร้างธุรกิจของตัวเอง 

    ยิ่งถ้าผู้หญิงทำธุรกิจของตัวเองมากขึ้นเท่าไหร่ แนวโน้มที่จะเกิดประชากรกลุ่ม PANKs ก็มากขึ้นเท่านั้น เพราะจะเอาเวลาในช่วงอายุ 20 มาทุ่มเทสร้างธุรกิจ มากกว่าที่จะหาคู่เพื่อแต่งงานมีลูกให้ทันช่วงวัยที่สังคมตั้งเกณฑ์เอาไว้ที่อายุ 30 ปี ยิ่งกว่านั้นการบุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ ก็ต้องทุ่มเทเวลา พลังงานมาก และถ้าเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพที่ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ทำงานไม่จำกัดเวลา มีความไม่แน่นอนสูง จึงเป็นความท้าทายอย่างมากที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะแบกความรับผิดชอบในฐานะแม่ สร้างธุรกิจสตาร์ทอัพไปพร้อมๆ กัน และบาลานซ์ทั้งสองอย่างให้ลงตัว ผู้ประกอบการหญิงหลายคนจึงเลือกที่จะสร้างธุรกิจให้เป็นลูกของพวกเธอแทน


    อย่างไรก็ตาม กลุ่ม PANKs ถือเป็นอีกหนึ่งเซกเมนต์ที่นักการตลาดพุ่งเป้าให้ความสำคัญ ด้วยเงินรายได้ที่มีอย่างเหลือเฟือและไม่มีครอบครัวเป็นของตัวเอง แต่ธุรกิจที่ขายสินค้าให้แก่เด็กและคนเป็นพ่อแม่ก็อย่ามองข้ามคนกลุ่ม PANKs เหล่านี้ เพราะคุณป้ากลุ่มนี้มีอิทธิพลชักจูงใจเด็กๆ และพ่อแม่เด็กที่อยู่รอบตัว 

    และจากการสำรวจกว่า 68% กลุ่ม PANKs จะเป็นแบบอย่างให้กับเด็กๆ ที่รู้จัก เช่น หลาน ลูกของเพื่อน ขณะที่ 67% กล่าวว่าพวกเขามักจะมีเพื่อนมาขอคำปรึกษาในการตัดสินใจเพื่อเลือกซื้อสิ่งของต่างๆ และ 2 ใน 3 ของคนกลุ่ม PANKs จะรู้สึกว่าดีใจที่ไม่ต้องมีลูกเอง ซึ่งคำว่า “Aunt” จากเดิมที่เคยเป็นคำเรียกจิกกัด ก็ได้แปรเปลี่ยนมาเป็นความหมายใหม่ที่นิยามถึงผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในโลกการทำงาน มีรายได้ดี ดูแลพึ่งพาตัวเองได้อย่างสง่างาม



​​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 5 วิธีรับมือพฤติกรรม HENRY "กินหรู อยู่สบาย" รายได้สูง แต่ไม่มีเงินเหลือเก็บ

​​คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2566