Familly Business แบบพี่น้อง หนุนพีพี กรุ๊ป ทะยานสู่รายได้ 2,000 ล้าน - Forbes Thailand

Familly Business แบบพี่น้อง หนุนพีพี กรุ๊ป ทะยานสู่รายได้ 2,000 ล้าน

หลายธุรกิจครอบครัว เกิดจากการส่งทอดธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น แต่สำหรับพีพี กรุ๊ป เป็น Familly Business แบบพี่น้อง ที่สร้างโดย สุวดี พึ่งบุญพระ และ โอฬาร ปุ้ยพันธวงศ์ ผู้ปลุกปั้นอาณาจักรแฟชั่นของพีพี กรุ๊ป จากการเป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายสินค้าแฟชั่นระดับโลก ที่เริ่มต้นธุรกิจเพียงแค่ 3 คน ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 300 คน และรายได้กำลังแตะระดับ 2,000 ล้านบาทในปีนี้ และเพิ่มเท่าตัวในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือทะยานสู่ 4,000 ล้าน ในปี 2569 

    

    “พีพี กรุ๊ป ก่อตั้งในปี 2003 ปิ่น (สุวดี) กับ โอ (โอฬาร) เริ่มทำธุรกิจกันแบบพี่น้อง จากแบรนด์เพียงไม่กี่แบรนด์ ขยับขยายธุรกิจมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันดูแลแบรนด์แฟชั่นระดับโลกรวม 11 แบรนด์ และคาดว่าปีนี้จะมีรายได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท” 



    สุวดี เล่าย้อนถึงการเข้ามาสู่วงการแฟชั่นด้วยการเริ่มงานที่หลุยส์ วิตตอง (ไทยแลนด์) สิ่งที่นำพาเธอมาไกลขนาดนี้ คือ ความหลงใหล (passion) อย่างแท้จริง หลังจากหลุยส์ วิตตอง แยกแต่ละแบรนด์ออกมาทำตลาด จึงได้รับโอกาสจากเจ้านายให้ลองทำธุรกิจด้วยตัวเอง ด้วยการตั้งบริษัทนำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบรนด์แรก คือ “Emilio Pucci (เอมิลิโอ ปุชชี่)” และชักชวนโอฬารมาร่วมสร้างธุรกิจด้วยกัน 

    ช่วงเริ่มต้นของพีพี กรุ๊ป ตลาดสินค้าลักชัวรีในไทย ยังไม่ใหญ่มาก เพราะคนยังนิยมบินไปซื้อสินค้าในต่างประเทศเป็นหลัก จึงเริ่มต้นด้วยสินค้าที่ถูกจริตกับคนไทย มีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจน ไม่ซับซ้อน สามารถบอกเล่าเรื่องราวของแบรนด์ให้เป็นที่สนใจและน่าติดตาม หลังจากนั้นค่อยๆ ขยายแบรนด์เพิ่มขึ้น เช่น Off-White (ออฟไวท์) Givanchy (จีวองชี่) Longchamp (ลองฌอมป์) Tory Burch (ทอรี่ เบิร์ช) เป็นต้น 

    “พีพี กรุ๊ป ไม่ได้ทำแค่นำเข้า ทำทั้งรีเทล และพีอาร์ มาร์เก็ตติ้ง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของแบรนด์ให้เป็นที่น่าสนใจของผู้บริโภคในประเทศไทย” สุวดีระบุ 

    ปัจจุบัน สุวดี ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการ พีพี กรุ๊ป ดูแลด้านการบริหารงาน บุคลากร ขณะที่โอฬาร เป็นรองประธานกรรมการ ดูแลการวางแผนกลยุทธ์ ต่างคนต่างมีจุดแข็งที่ช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกัน และทำให้พีพี กรุ๊ป เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

    

ผู้บริโภคเปลี่ยนอุตสาหกรรมแฟชั่นปรับตัว



    โอฬาร กล่าวว่า ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมแฟชั่นเปลี่ยนแปลงอย่างมาก สมัยก่อนสินค้าลักชัวรีเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (นิช มาร์เก็ต) ที่เล็กมาก และทำตลาดเฉพาะกับคนไทยเท่านั้น แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นตลาดใหญ่ และรวมกันเป็นพลเมืองของโลก (Global Citizen) ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ฐานลูกค้ากว้างมากขึ้น การสื่อสารของแบรนด์ต้องครอบคลุมในระดับโลก ยิ่งช่วงหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 อุตสาหกรรมแฟชั่นเติบโตสูงมาก 

    “ปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นเติบโตมาก เพราะมีกลุ่มคนรวยเพิ่มมากขึ้น กลุ่มผู้บริโภคเปลี่ยนจากเจน เอกซ์ เป็น เจน ซี หรือมิลเลนเนียล ฐานลูกค้ากว้างขึ้น และเด็กลง จึงเห็นว่าแบรนด์ระดับโลกได้หันมาใช้เค-ป็อบในการสื่อสารแบรนด์กับผู้บริโภค รวมถึงการขยายตัวของการท่องเที่ยว เป็น 3 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นเปลี่ยนไป” โอฬารระบุ 

    อุตสาหกรรมแฟชั่น โดยธรรมชาติเป็นธุรกิจที่หมุนตามกระแส สิ่งสำคัญที่ทำให้พีพี กรุ๊ปอยู่มาได้ถึง 20 ปี คือการหมุนตามกระแสโลก และที่สำคัญ คือผู้บริโภค โดยเน้นการคัดเลือกแบรนด์ที่มีความเคลื่อนไหว (Dynamic) อยู่ตลอดเวลา รวมถึงมองไปข้างหน้า เพื่อหาไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคให้เจอ อาทิ พีพี กรุ๊ป เป็นผู้เริ่มนำเสนอสินค้าในกลุ่ม Street Luxury ให้กับเมืองไทยในปี 2561 หรือการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่ดูแลการจัดจำหน่ายให้กับ Casetify ซึ่งเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ในกลุ่มเทคโนโลยี 

    ล่าสุด บริษัทฯ ร่วมทุนกับแบรนด์แว่นตาสัญชาติเกาหลี “Gentle Monster” (เจนเทิล มอนสเตอร์) แบรนด์ใหม่ที่เป็นกระแสระดับโลก ที่เข้ามาเพิ่มพอร์ตของพีพี กรุ๊ป ให้มีความหลากหลายมากขึ้น

    “สินค้าลักชัวรีก็มีการปรับตัว เป็นแมส พรีเมียมมากขึ้น ลูกค้าไม่ได้มองแค่การเป็นสินค้าลักชัวรี แต่มองเป็นไลฟ์สไตล์ 

    เทรนด์สินค้าแฟชั่นเปลี่ยนทุก 6 เดือน แต่สิ่งสำคัญ คือเทรนด์ของผู้บริโภคที่ต้องตามให้ทัน พีพี กรุ๊ป ต้องพยายามเปลี่ยนตัวเอง ขยายฐานกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น เลือกสินค้าที่ผู้บริโภคสามารถซื้อได้ (affordable) ที่สำคัญ คือคุณภาพ” โอฬารกล่าว 

    สำหรับปี 2566 นี้ จะเป็นปีที่พีพี กรุ๊ป ลงทุนครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี ด้วยการขยายสาขาเพิ่มจาก 20 จุดขายในศูนย์การค้าชั้นนำ เป็น 40 จุดขายภายในสิ้นปีนี้ โดยใช้งบลงทุนกว่า 200 ล้านบาท จากการเห็นโอกาสเติบโตของอุตสาหกรรมแฟชั่นในยุคหลังโควิด ผู้บริโภคเริ่มหันกลับมาที่สโตร์มากขึ้น หน้าที่ของพีพี กรุ๊ป คือการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับการช้อปปิ้ง ให้ลูกค้าได้สัมผัสแบรนด์โดยตรง เช่น การใช้โรบอตในร้าน “Gentle Monster” เพื่อสร้างประสบการณ์ลูกค้าคนไทยให้เทียบเท่ากับการไปร้านในต่างประเทศ 

    สุวดี กล่าวว่า ปัจจุบันรูปแบบการทำธุรกิจของพีพี กรุ๊ป ไม่ได้เป็นแค่ผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย แต่เป็นการใช้ประสบการณ์กว่า 20 ปี เพื่อต่อยอดธุรกิจไปสู่การบริหารร้านค้า การเป็นที่ปรึกษาและการทำตลาดให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นจุดแข็งของพีพี กรุ๊ป เชื่อว่าจากนี้ไป จากการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องใน 3 ปีข้างหน้า บริษัทจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าตัว หรือมีรายได้ประมาณ 4,000 ล้านบาท

    

สร้างธุรกิจครอบครัวแบบโปรเฟสชั่นนอล

     

    พีพี กรุ๊ป สร้างธุรกิจครอบครัว ในแบบ “สมอลล์ คัมพานี ในบิ๊ก แฟมิลี่” ของอุตสาหกรรมแฟชั่นเมืองไทยที่มีการแข่งขันสูงและมีผู้ประกอบการขนาดใหญ่จำนวนมาก ด้วยแนวคิดในการทำธุรกิจที่ Think Local Act Global ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากแบรนด์ใหญ่ๆ ระดับโลกให้เป็นผู้ทำตลาดในประเทศไทย รวมทั้งมีโอกาสขยายตลาดไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วง 3 ปีข้างหน้านี้ 

    รวมถึงการสร้างโปรเจกต์ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ อย่าง The Talent Contest เฟ้นหาศิลปินรุ่นใหม่ผ่านโครงการให้ความรู้และเปิดประสบการณ์การทำงานอย่างมืออาชีพ เพื่อพัฒนาเป็นมืออาชีพในอุตสาหกรรมแฟชั่น และโปรเจกต์ One for All ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม โดยยอดซื้อสินค้าส่วนหนึ่งจากแบรนด์ในเครือพีพี กรุ๊ป ได้นำไปบริจาคให้กับมูลนิธิรามาธิบดี เป็นต้น 

    “เราต้องการเป็น Familly Business ที่รันโดยโปรเฟสชั่นนอล รวมถึงเปิดโอกาสให้พนักงาน คนรุ่นใหม่ ขึ้นมาเป็นผู้บริหารในส่วนงานต่าง ๆ เพราะการที่บริษัทจะเติบโตได้ ต้องมีทีมที่แข็งแกร่ง และให้โอกาสคนรุ่นใหม่ได้เติบโต ถือเป็นเส้นทางการเป็นผู้ประกอบการของพีพี กรุ๊ป” สุวดีกล่าว

    วันนี้ ในฐานะพี่กับน้องในพีพี กรุ๊ป สุวดี และโอฬาร ต่างให้ความเคารพการตัดสินใจซึ่งกันและกันในการทำงาน ในจุดแข็งของแต่ละคน รวมไปถึงพนักงาน ที่เป็นเหมือนครอบครัว พี่น้อง ผู้ร่วมงานที่มีความเคารพซึ่งกันและกัน ทำให้แทบจะไม่มีความขัดแย้ง ดังนั้นแม้ธุรกิจจะเติบใหญ่สักเพียงไหน วัฒนธรรมองค์กรแบบครอบครัวนี้จะเป็นส่วนสำคัญ ในการผลักดันให้พีพี กรุ๊ปเติบโตอย่างมีคุณค่าและยั่งยืนต่อไปในอนาคต

    

    อ่านเพิ่มเติม : PPS คว้างานจัดจ้างบริหารและควบคุมโครงการ รพ.รามาฯ มูลค่ารวม 346 ล้านบาท แตกไลน์จำหน่ายและติดตั้งอุปกรณ์ EV charger

    ​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine