พาณิชย์ ชี้เทรนด์ส่งออกไทย ชูตลาด “Protein snack” ในสหรัฐมูลค่าสูงกว่า 4,800 ล้านเหรียญฯ - Forbes Thailand

พาณิชย์ ชี้เทรนด์ส่งออกไทย ชูตลาด “Protein snack” ในสหรัฐมูลค่าสูงกว่า 4,800 ล้านเหรียญฯ

FORBES THAILAND / ADMIN
01 Apr 2024 | 05:42 PM
READ 1123

กระทรวงพาณิชย์ เผยเทรนด์ “ของว่างโปรตีน” ในสหรัฐโตดี ปี 66 มูลค่าตลาดแตะ 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 9.3% คาดปี 2572 ขยายตัวถึง 7,640 ล้านเหรียญสหรัฐ เร่งผู้ประกอบการไทยส่งออกเจาะ 4 กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย “รักสุขภาพ-ชอบออกกำลังกาย-คนยุ่ง-เน้นควบคุมอาหาร”


    ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยจากรายงานล่าสุดของทูตพาณิชย์นิวยอร์กพบว่า ตลาดอาหารว่างจำพวกโปรตีน (Protein snack) ในสหรัฐฯ กำลังเติบโตสูงเพราะความต้องการบริโภคที่มากขึ้น โดยปี 2566 ที่ผ่านมา ในสหรัฐมียอดจำหน่ายอาหารว่างจำพวกโปรตีน ประมาณ 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 174,384 ล้านบาท*) และในช่วงปี 2567-2572 น่าจะมีการขยายตัวเฉลี่ย 9.3% และ Market Data Forecast ยังคาดว่าในปี 2572 ตลาดอาหารว่างจำพวกโปรตีนน่าจะมีมูลค่าถึง 7,640 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 277,824 ล้านบาท*)

    ทั้งนี้ Protein snack ในสหรัฐแบ่งได้ 2 ประเภทหลัก ได้แก่ 1.ของว่างประเภทแท่ง เช่น เนยถั่วแท่ง โปรตีนช็อกโกแลตชิปแท่ง กราโนล่าแท่งและผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหาร และ 2.ของว่างที่ไม่ใช่แท่ง เช่น ธัญพืชผสมผลไม้แห้ง เนื้ออบแห้ง โยเกิร์ต ถั่วเหลืองอ่อน ขนมขบเคี้ยวกรุบกรอบที่ทำมาจากธัญพืช อาทิ ถั่วชิกพี ถั่วเลนทิลหรือแป้งข้าวกล้อง เนยถั่วแบบพกพา และสมูทตี้ (protein smoothie) เป็นต้น โดยสินค้าจะขายผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่

    1) ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต ได้แก่ Walmart, Target, Kroger และ Meijer

    2) ร้านสะดวกซื้อ เช่น 7-Eleven, Wawa และ Casey’s

    3) ร้านค้าเฉพาะทาง เช่น ร้านขายอาหารเพื่อสุขภาพ ได้แก่ Whole Foods Market, Sprouts Farmers Market และ GNC

    4) ช่องทางออนไลน์ เช่น แพลตฟอร์ม Amazon และร้านค้าปลีกออนไลน์เฉพาะที่เชี่ยวชาญด้านขนมเพื่อสุขภาพ

    ขณะที่ข้อมูลตลาดสหรัฐยังพบว่า กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายของ Protein snack ในสหรัฐฯ แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

    1) กลุ่มบุคคลที่ใส่ใจสุขภาพ เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและต้องการผนวกโปรตีนเข้ากับอาหาร

    2) กลุ่มบุคคลที่มีไลฟ์สไตล์ที่กระฉับกระเฉง เช่น นักกีฬา ผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกายและผู้ที่ต้องใช้พลังงานมาก

    3) กลุ่มบุคคลที่มีตารางชีวิตค่อนข้างแน่นหรือมีอาชีพการงานที่ค่อนข้างยุ่งวุ่นวาย นิยมพึ่งพาของว่างที่พกพาสะดวกเพื่อเติมพลังงานตลอดทั้งวัน

    4) กลุ่มผู้บริโภคที่ควบคุมอาหารและมีความต้องการเฉพาะเจาะจง เช่น อาหารที่มีโปรตีนสูงคาร์โบไฮเดรตต่ำ อาหารวีแกนหรืออาหารมังสวิรัติ

    อย่างไรก็ตาม จากรายงานพบว่า ตลาด Protein snack ในสหรัฐที่กำลังเติบโตนี้ถือเป็นโอกาสของผู้ผลิต ผู้ส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยที่มีศักยภาพ เช่น ของกินเล่นจำพวกถั่ว หนังไก่อบกรอบ ปลาอบแห้ง สาหร่ายอบกรอบ อาหารว่างที่ทำจากพืชและอื่นๆ โดยมีมุมมองบนผลิตภัณฑ์ควรมีความชัดเจนทั้งการระบุปริมาณโปรตีนและประโยชน์ ขณะเดียวกันรสชาติต้องมีเอกลักษณ์ความเป็นไทย เช่น รสต้มยำ ฯลฯ อีกทั้งต้องมีความหลากหลาย เช่น เนื้อแดดเดียว เค้กข้าวเพิ่มโปรตีน ถั่วและเมล็ดพืชผสมผงปรุงรส หนังไก่อบแห้งและอื่นๆ นอกจากนี้ควรใช้ช่องทางออนไลน์ เช่น การใช้ Influencer เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างเจาะจง


*อัตราแลกเปลี่ยนที่ 36.36 บาท/เหรียญสหรัฐ


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ธนจิรา เปิดตัว ‘UNITED ARROWS’ เสริมแกร่งพอร์ตธุรกิจแฟชั่น ประเดิมสาขาแรกที่ The Emsphere

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine