ตลาดมูมาแรง! ยอดจดทะเบียน "ธุรกิจความเชื่อความศรัทธา" เติบโตสูงเกิน 20% ในช่วง 5 ปี DBD ชี้เป็นโอกาสเจาะตลาด GEN Z ที่นิยม 'มู' - Forbes Thailand

ตลาดมูมาแรง! ยอดจดทะเบียน "ธุรกิจความเชื่อความศรัทธา" เติบโตสูงเกิน 20% ในช่วง 5 ปี DBD ชี้เป็นโอกาสเจาะตลาด GEN Z ที่นิยม 'มู'

FORBES THAILAND / ADMIN
02 Apr 2024 | 03:18 PM
READ 2256

เทรนด์สายมู หรือธุรกิจความเชื่อความศรัทธา แม้จะอยู่คู่กับคนไทยมานาน แต่ช่วงที่ผ่านมาเห็นการปรับใช้กับภาคธุรกิจ และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนือง โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า ในช่วง 5 ปีทีผ่านมา (2562-2566) ยอดการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในหมวดนี้เติบโตขึ้น ปัจจุบันมีนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ 134 ราย ทุนจดฯ 135.89 ล้านบาท


    นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา “ธุรกิจความเชื่อและความศรัทธา” หรือ “ธุรกิจสายมู” เติบโตอย่างมากในทุกช่วงอายุ (โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z) จึงเห็นการการพัฒนาเป็นสินค้าและบริการที่หลากหลาย เช่น วอลเปเปอร์รูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนจอโทรศัพท์มือถือ, สร้อยคอ, ผ้าปูที่นอนที่นำสีมงคล, เครื่องสำอาง, หมายเลขโทรศัพท์มงคล ฯลฯ 

    อีกทั้ง ยังเห็นภาคธุรกิจนำความเชื่อความศรัทธามาร่วมวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด หรือที่เรียกว่า Muketing ( MU + Marketing) ใช้เป็นจุดขาย หรือใช้ประชาสัมพันธ์สินค้า/บริการ โดยจัดแคมเปญให้เข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่มมากขึ้น เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นำเรื่องฮวงจุ้ยมาปรับใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าหรือเพิ่มโอกาสในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมากขึ้น ธุรกิจการท่องเที่ยวที่มีการจัดทัวร์สายมู เป็นต้น

    จากกระแสนี้เองคาดว่าส่งผลให้ธุรกิจด้านความเชื่อและความศรัทธามีอัตราการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นเปรียบเทียบในแต่ละปี (ปี 2562 - 2567) ได้แก่

ปี 2562 จดทะเบียนจัดตั้ง 11 ราย ทุนจดทะเบียนที่ 15.4 ล้านบาท

- ปี 2563 จัดตั้ง 11 ราย ทุนจดทะเบียน 7.59 ล้านบาท ถือว่าลดลง 50.71%

- ปี 2564 จัดตั้ง 20 ราย ในด้านจำนวนเพิ่มขึ้น 81.81% ขณะที่ทุนจดทะเบียน 13.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76.70%

- ปี 2565 จัดตั้ง 24 ราย ในด้านจำนวนเพิ่มขึ้น 20.00% ส่วนทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 27.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 104.70%

- ปี 2566 จัดตั้ง 33 ราย ในด้านจำนวนเพิ่มขึ้น 37.50% ส่วนทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 26.88 ล้านบาท ลดลง 2.08%

- เดือน ม.ค.-มี.ค. 2567 มีการจัดตั้ง 12 ราย ทุนจดทะเบียนที่ 7.51 ล้านบาท


ขณะที่ด้านผลประกอบการของธุรกิจ มีรายละเอียด ดังนี้

- ปี 2562 อยู่ที่ 24.28 ล้านบาท สินทรัพย์ 49.54 ล้านบาท กำไร 1.12 ล้านบาท

- ปี 2563 รายได้รวม 28.76 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 18.43%) สินทรัพย์ 47.31 ล้านบาท (ลดลง 4.50%) กำไร 1.52 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 35.71%)

- ปี 2564 รายได้รวม 61.28 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 113.07%) สินทรัพย์ 71.07 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 50.23%) ขาดทุน 1.86 ล้านบาท (ลดลง 222.37%)

- ปี 2565 รายได้รวม 148.99 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 143.13%) สินทรัพย์ 103.32 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 45.38%) ขาดทุน 1.7 แสนบาท (ขาดทุนลดลง 90.86%

    ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567) ธุรกิจความเชื่อความศรัทธามีนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 134 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 135.89 ล้านบาท เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) ทั้งหมด แบ่งเป็น บริษัทจำกัด 108 ราย ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 26 ราย คิดเป็นสัดส่วน 80.60% และ 19.40% ของนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ ตามลำดับ

    ในขณะที่ทุนจดทะเบียนรวมแบ่งเป็น (เป็นการลงทุนโดยสัญชาติไทยทั้งหมด) 1) บริษัทจำกัด 116.64 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 85.83% ของนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ 2) ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 19.25 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 14.17% ของนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่

    ทั้งนี้ เมื่อแบ่งตามพื้นที่ตั้งธุรกิจ มีธุรกิจตั้งอยู่ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร 62 ราย คิดเป็น 46.27% ของธุรกิจทั้งประเทศ และมีทุนจดทะเบียน 63.46 ล้านบาท ส่วนพื้นที่ที่มีธุรกิจตั้งอยู่แบ่งตามภาค ได้แก่

- ภาคกลาง 35 ราย ทุน 34.34 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 26.12% ของธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่)

- ภาคตะวันออก 13 ราย ทุน 11.05 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 9.70%)

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 ราย ทุน 6.55 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 5.22%)

- ภาคเหนือ 7 ราย ทุน 2.99 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 5.22%)

- ภาคใต้ 6 ราย ทุน 14.40 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 4.48%)

- ภาคตะวันตก 4 ราย ทุน 3.10 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 2.99%)

    “ธุรกิจความเชื่อความศรัทธา หรือ ศาสตร์มูเตลู ได้รับความนิยมจากทุกกลุ่มอายุ โดยแต่ละกลุ่มอายุจะมีวิธีการ มูเตลูที่แตกต่างกัน ซึ่งกลุ่มที่มีความเชื่อค่อนข้างสูงได้แก่ กลุ่ม Gen Z โดยการเข้าถึงข้อมูลส่วนใหญ่จะมาจากสื่อโซเซียลมีเดีย ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่ม Gen Z ที่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงสุดกว่าทุกช่วงกลุ่มวัย หากธุรกิจสามารถพัฒนาสินค้า และส่งเสริมการตลาดได้ตรงกลุ่ม ย่อมส่งผลต่อโอกาสในการขายสินค้าและบริการได้สูงขึ้นเช่นกัน” อรมน กล่าว

    อย่างไรก็ตาม ธุรกิจกิจกรรมด้านความเชื่อความศรัทธามีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบปริมาณของผู้ประกอบธุรกิจด้านความเชื่อในตลาด ส่วนใหญ่นิยมประกอบกิจการในรูปบุคคลธรรมดา


Image by Freepik



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : RS Mall รีแบรนด์เป็น 'RS Mall X' รุตลาดคนรุ่นใหม่ คาดสร้างรายได้ 400 ล้าน ภายในปี 67
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine