เปิดอินไซต์ตลาดอีคอมเมิร์ซไทย ‘Shopee-Lazada’ ยังครองความนิยมสูงสุด - Forbes Thailand

เปิดอินไซต์ตลาดอีคอมเมิร์ซไทย ‘Shopee-Lazada’ ยังครองความนิยมสูงสุด

FORBES THAILAND / ADMIN
19 Sep 2024 | 03:30 PM
READ 1554

ในยุคดิจิทัลที่การช็อปปิ้งออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างๆ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคชาวไทย ผลสำรวจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยปี 2566 โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ระบุว่า E-Commerce ในกลุ่ม B2C (Business to Customer) ครองแชมป์สัดส่วนมูลค่าอีคอมเมิร์ซมากที่สุด โดยช่องทางการขายที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ e-Marketplace เช่น Lazada และ Shopee


    แต่ท่ามกลางตัวเลือกที่หลากหลาย แพลตฟอร์มใดที่ผู้บริโภคพูดถึงมากที่สุดในปัจจุบัน?


    บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้ใช้เครื่องมือ DXT360 ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากความคิดเห็นในสังคมออนไลน์ (Social Listening) ของนักช็อปชาวไทยในช่วงวันที่ 1 สิงหาคม - 10 กันยายน 2567 เพื่อเผยให้เห็นถึงแนวโน้มการเลือกใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซล่าสุด


Shopee-Lazada ยังครองใจนักช็อปไทย

    ข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย พบว่า Shopee (แอปส้ม) และ Lazada (แอปฟ้า) เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยอดนิยมที่ได้รับการพูดถึงสูงสุด โดย Shopee ได้รับการพูดถึงมากในสัดส่วน 36%, Lazada 27%, Temu 23%, TikTok Shop 13% และอื่นๆ อีก 1%

    Shopee และ Lazada ถือเป็นผู้นำในตลาดอีคอมเมิร์ซไทย โดยทั้งสองแพลตฟอร์มมีกลยุทธ์ที่โดดเด่นในการดึงดูดผู้ใช้ที่แตกต่างกัน

    Shopee เน้นการสร้างประสบการณ์ผู้ใช้ ด้วยการออกแบบ UI (User Interface) ที่ใช้งานง่าย และนำเสนอฟีเจอร์นวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ Shopee ยังให้ความสำคัญกับการสร้างปฏิสัมพันธ์หรือการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ที่ดีผ่านแพลตฟอร์ม

    ในขณะที่ Lazada มุ่งเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มตามแนวคิด Shoppertainment โดยเฉพาะผ่านฟีเจอร์ LazLive ซึ่งเป็นการไลฟ์สตรีมที่ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมและเชื่อมโยงอารมณ์ความรู้สึกระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ส่งผลให้ผู้ใช้งานใช้เวลาบนแพลตฟอร์มนานขึ้นและมีแนวโน้มที่จะกลับมาใช้บริการซ้ำ



ส่องประสบการณ์ใช้แอปของนักช็อปออนไลน์

    ผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นว่า Shopee มีจุดเด่นในเรื่องการออกแบบ UI ซึ่งทำให้ใช้งานง่ายทั้งการค้นหาสินค้าและการเก็บโค้ดโปรโมชั่นที่สะดวก ในขณะที่จุดเด่นของ Lazada คือราคาสินค้า โดยเฉพาะประเภทสินค้าที่มีราคาสูง หรือสินค้าที่ขายผ่าน Official Store ของแบรนด์ต่างๆ มักจะมีราคาสุทธิที่ถูกกว่า นอกจากนี้ Lazada ยังโดดเด่นในด้านบริการหลังการขาย ทั้งการเคลมสินค้าและการติดต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคส่วนใหญ่

    ทั้งนี้ ปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยไม่ได้มีเพียงแค่ยักษ์ใหญ่ 2 เจ้านี้อีกต่อไป แต่ตอนนี้มีผู้เล่นใหม่เข้ามาในตลาด นั่นคือ Temu แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหม่ที่กำลังมาแรงในหลายประเทศ และได้เริ่มขายสินค้าหลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการในไทยเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

    อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Temu คือ แม้จะเข้ามาขายสินค้าในไทยแล้ว แต่ Temu ยังไม่ได้มีการจดทะเบียนการค้าในประเทศไทย และยังไม่มีการจัดตั้งบริษัทในไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งนำไปสู่การพูดถึงอย่างกว้างขวางบนโลกออนไลน์เป็นจำนวนมากตลอดเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงเกี่ยวกับ Temu แบ่งออกเป็นหัวข้อดังนี้

ยังไม่จดทะเบียนการค้า ยังไม่เข้าข่ายเสียภาษีไทย : Temu เข้ามาทำตลาดในไทยโดยยังไม่มีการจดทะเบียนการค้าอย่างเป็นทางการ ซึ่งทำให้ยังไม่เข้าเงื่อนไขต้องเสียภาษีในประเทศไทย

ผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อย : การเข้ามาของ Temu อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อยและร้านค้าปลีกของไทย เนื่องจากโมเดลการทำธุรกิจของ Temu เป็นการซื้อขายโดยตรงกับโรงงานผู้ผลิตสินค้า ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการทำราคาได้ถูกกว่าคู่แข่ง

คุณภาพสินค้าและราคา : เนื่องจาก Temu เพิ่งเริ่มดำเนินการในไทย จึงอัดโปรโมชันส่งฟรีทุกออเดอร์ นโยบายคืนสินค้าในทุกๆ ออเดอร์ฟรีภายใน 90 วัน หรือสามารถเลือกรับเป็นการคืนเงินส่วนหนึ่ง โดยไม่ต้องส่งสินค้ากลับคืนได้

ความเชื่อมั่นในการติดตั้งแอปพลิเคชัน : ผู้ใช้หลายรายยังมีความกังวลเรื่องการเก็บข้อมูลผู้ใช้ผ่านแอปและความกังวลด้านความปลอดภัย

    จะเห็นได้ว่าเสียงตอบรับ Temu จากผู้ใช้งานบนโซเชียลมีเดียไม่ค่อยดีนัก ด้วยเหตุผลหลักคือ Temu ยังไม่ได้จดทะเบียนการค้าในไทย รวมถึงราคาสินค้าไม่ได้ถูกกว่า Shopee และ Lazada อย่างที่คาดหวังไว้ ผลที่ตามมาคือผู้ใช้ส่วนใหญ่ตัดสินใจกลับไปใช้บริการยักษ์ใหญ่ทั้ง 2 เจ้าดังเดิม 

    ตัวอย่างที่ชัดเจนคือในแคมเปญ 9.9 ที่ผ่านมา Shopee ประเทศไทย สามารถทำยอดขายได้ถึง 1 พันล้านบาทภายในเวลาเพียง 18 นาที ผ่านช่องทางต่างๆ ของแพลตฟอร์ม เช่น Shopee Live, Shopee Video และ Shopee Affiliate Program แสดงให้เห็นว่า Shopee ยังคงเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอันดับ 1 ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในหมู่นักช็อปชาวไทย

TikTok Shop ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว

    Social Commerce คือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซได้รับความนิยมไม่แพ้กันในประเทศไทย โดยเฉพาะ TikTok Shop ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ข้อได้เปรียบของ TikTok Shop คือการที่ตัวแอปเป็นโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มที่เป็นที่นิยมอันดับต้นๆ หากมีการทำคอนเทนต์รีวิวสินค้าหรือการไลฟ์สตรีมขายสินค้า สามารถทำได้จบในแอปเดียวโดยไม่ต้องข้ามไปแพลตฟอร์มอื่น

    จากความเห็นผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ชื่นชอบพบว่า การช็อปปิ้งผ่าน TikTok Shop ได้ส่วนลดสูงกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ โดยเฉพาะการซื้อสินค้าผ่านการไลฟ์สตรีมที่จะได้รับโค้ดส่วนลดพิเศษ โดยไม่ต้องซื้อสินค้าขั้นต่ำตามที่กำหนด ทำให้ประหยัดได้มากกว่าปกติ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : United Airlines เซ็นสัญญา SpaceX เตรียมให้บริการ WiFi ฟรีบนเครื่องบิน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine