CMMU เจาะลึกเทรนด์ Lazy Economy กับ 4 พฤติกรรมขี้เกียจที่สร้างโอกาสทางธุรกิจในโลกยุคใหม่ - Forbes Thailand

CMMU เจาะลึกเทรนด์ Lazy Economy กับ 4 พฤติกรรมขี้เกียจที่สร้างโอกาสทางธุรกิจในโลกยุคใหม่

FORBES THAILAND / ADMIN
06 Nov 2024 | 01:13 PM
READ 772

ท่ามกลางโลกที่เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือผู้บริโภคได้มากมาย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมจนเกิดคำว่า Lazy Economy หรือเทรนด์เศรษฐกิจขี้เกียจ เช่น การรับจ้างซื้อสินค้า ซื้ออาหาร ไปจนถึงการต่อคิว และอื่นๆ เทรนด์นี้มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 อีกทั้ง ยังมีสถิติที่น่าสนใจพบว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพทั่วโลกกว่า 34% ทำธุรกิจเพื่อสนับสนุนพฤติกรรมเหล่านี้


    ผศ.ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาดวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เปิดเผยงานวิจัย “เจาะลึกอินไซต์ พิชิตใจคนขี้เกียจ” ว่า ตลาดคนขี้เกียจยังคงเป็นที่จับตามองและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องถึงอนาคต แม้จะยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดเกี่ยวกับมูลค่าของ Lazy Economy ทั่วโลก แต่จากการเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น ธุรกิจ Delivery และช็อปปิ้งออนไลน์ต่างๆ ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าตลาดนี้มีศักยภาพมหาศาล และมีแนวโน้มเติบโตอีกมาก เนื่องจาก 3 ปัจจัยหลักของผู้บริโภคที่เกิดขึ้น ได้แก่

    - ยิ่งหาเงินได้มาก ก็ยิ่งอยากใช้เงินแก้ปัญหาเพื่อซื้อความสะดวกสบายก็จะยังคงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้มีรายได้สูง ยิ่งมีรายได้สูงเท่าไหร่แนวโน้มที่จะใช้เงินซื้อความสะดวกสบายก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

    - ยิ่งทำงานหนัก ก็ยิ่งไม่อยากทำอะไร ดังนั้น เมื่อคนยังต้องทำงานหนักและมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบ สินค้าหรือบริการที่ช่วยทุ่นพลังกาย พลังสมอง และทุ่นเวลาจึงไม่มีทางตกเทรนด์

    - ยิ่งเทคโนโลยีเจริญมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้คนขี้เกียจ เพราะสามารถสร้างสรรค์บริการใหม่ๆ ที่ตอบสนองความสะดวกสบายของผู้บริโภคทมากขึ้นเรื่อยๆ

    นอกจากนี้ ยังได้สรุป 4 พฤติกรรมขี้เกียจ ที่ทำให้คนพร้อมจ่ายเงินเพื่อรับบริการต่างๆ และอินไซด์นี้จึงกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าจับตามอง ได้แก่

    - ขี้เกียจเดินทาง

    เมื่อการเดินทางอาจสร้างค่าใช้จ่าย และทำให้ผู้บริโภครู้สึกเสียดายเวลา จึงยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อบริการต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้บริโภคบริหารจัดการเรื่องส่วนตัวได้ง่ายขึ้น เช่น บริการ Delivery ทุกรูปแบบ ทั้งส่งอาหาร, ส่งของ ซึ่งปัจจุบันได้แตกไลน์บริการเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เช่น บริการส่งด่วนทันใจภายใน 24 ชั่วโมง, บริการแบบ Door-to-Door Service จากหน้าบ้านผู้ส่งถึงหน้าบ้านผู้รับ ฯลฯ บริการแบบส่งตรงถึงบ้าน เช่น ทำสปา, เสริมสวย, นวดแผนไทย, ล้างรถ, อาบน้ำตัดขนสัตว์เลี้ยง ฯลฯ รวมถึงการช็อปออนไลน์ทุกช่องทาง

    - ขี้เกียจรอ
    LAZY Consumer ท่ามกลางยุคดิจิทัลไม่ชอบการรอคอย และต้องการความรวดเร็ว ทำให้เกิดธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจรับจ้างต่อคิวซื้อสินค้า, ต่อคิวร้านอาหาร, ต่อคิวซื้อบัตรคอนเสิร์ต, ต่อคิวทำธุระที่หน่วยงานราชการ, หรือบริการจองคิวล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน นอกจากนี้ยังรวมไปถึงกลุ่มสินค้าและบริการที่ออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่ายที่สุด สะดวกที่สุด และเพิ่มฟังก์ชันที่ช่วยให้ทำทุกอย่างได้แบบครบจบในที่เดียว เช่น บริการแบบ One stop Service แพลตฟอร์มซูเปอร์แอปที่รวมหลายๆ บริการไว้ในที่เดียว

    - ขี้เกียจออกแรง

    LAZY Consumer มักหาวิธีหรือทางลัดต่างๆ ที่จะช่วยให้ออกแรงน้อยที่สุด จึงมักเลือกใช้สินค้าหรือบริการที่ช่วยทุ่นแรงหรือให้คนมาทำแทนได้ ส่งผลให้สินค้าและบริการที่ช่วยลดภาระในชีวิตประจำวันขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เช่น บริการทำความสะอาดบ้าน, จัดสวน, ซักรีด, ย้ายบ้าน, ดูแลสัตว์เลี้ยง ฯลฯ

    - ขี้เกียจคิด ขี้เกียจตัดสินใจ

    กลุ่ม LAZY Consumer มักมองหาสินค้าและบริการที่ช่วยให้การตัดสินใจง่ายขึ้น ไม่ต้องคิดเยอะ ธุรกิจแบบจัดการให้จบ ครบวงจร คิดมาให้พร้อม ไม่ต้องเสียเวลาวางแผนหรือจัดการเองจึงเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น บริการวางแผนท่องเที่ยวแบบครบวงจร, บริการจัดงานแต่งงาน, บริการสไตลิสต์ส่วนตัวที่จัดส่งสินค้าไปให้ทดลองใส่ก่อนตัดสินใจซื้อ รวมถึงสินค้าที่จัดเป็น Set และสินค้าสำเร็จรูปพร้อมใช้ต่างๆ เช่น ชุดอาหารพร้อมปรุง (Meal Kit)

    การทำความเข้าใจทั้ง 4 พฤติกรรมขี้เกียจหลักๆ ของผู้บริโภค จะช่วยให้ธุรกิจมีโฟกัสที่ชัดเจนและสามารถออกแบบสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ ตรงใจ ผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น



ภาพ: CMMU



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กรุงไทยจับตา ‘บาทผันผวนสูง’ หลังปิดหีบ-ลุ้นผลเลือกตั้งปธน.สหรัฐฯ เช้านี้ (6 พ.ย.) แข็งค่าเล็กน้อย

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine