การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปีที่ผ่านมาเป็นเพียงก้าวแรกสู่จุดหมายอันยิ่งใหญ่ เพราะล่าสุด ‘เจ้าสัว’ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายขนมขบเคี้ยวชั้นนำของไทย ได้ประกาศเป้าหมายรายได้ 2,200 ล้านบาทภายในปี 2570 พร้อมเผยยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตในระยะยาว ที่ให้ความสำคัญทั้งกับการตลาด นวัตกรรม และการแสวงหาโอกาสในต่างประเทศ
บริษัท เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ CHAO เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายขนมขบเคี้ยวรวมไปถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ของไทย ภายใต้แบรนด์ ‘เจ้าสัว’ และ ‘โฮลซัม’ (Wholesome) ซึ่งครอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่ข้าวตัง หมูแท่งกรอบ แครกเกอร์ธัญพืช และอื่นๆ
ณภัทร โมรินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) เผยว่า ภาพรวมปี 2567 บริษัทฯ ยังคงเป็นผู้นำตลาดในไทยใน 2 หมวดหมู่สินค้าหลัก ได้แก่ ขนมข้าวตังที่มีส่วนแบ่งการตลาด 79% และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ที่มีส่วนแบ่งการตลาด 62% สำหรับปี 2568 เธอมองว่า ตลาดขนมข้าวตังจะมีมูลค่าตลาดรวมที่ 1,635 ล้านบาท ส่วนผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 732 ล้านบาท
แม้ปัจจุบัน บริษัทฯ จะครองอันดับ 1 ในธุรกิจที่เชี่ยวชาญแล้ว สิริณัฏฐ์ ชญาน์นันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เจ้าสัวยังสามารถขยับขยายได้อีก โดยชี้ให้เห็นถึงมูลค่าของตลาดขนมขบเคี้ยวในไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 105,000 ล้านบาทในปี 2567 สู่ 127,700 ล้านบาทในปี 2570 ซึ่งมีข้าวตังและขนมที่ทำจากเนื้อหมูเป็นผู้นำการเติบโต

เจ้าสัวยังเล็งเห็นช่องว่างในตลาดขนมขบเคี้ยว สืบเนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่มีการทานขนมรองท้องต่อเนื่องไปจนการเป็นขนมทานเล่นยามว่าง แต่ก็มองหาขนมที่ ‘ทานแล้วรู้สึกผิดน้อยลง’ และ ‘มีประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้น’ ซึ่งผลิตภัณฑ์ของเจ้าสัวตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าว อาทิ หมูแท่งกรอบที่มีโปรตีน และข้าวตังที่ทำจากข้าวไรซ์เบอร์รี่
แน่นอนว่าพฤติกรรมรวมถึงความต้องการเหล่านี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้บริโภคในไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้บริโภคในต่างประเทศ กลายเป็นโอกาสในการรุกตลาดระดับสากล ซึ่งณภัทรเล่าว่า เมื่อครั้งไปออกงานแสดงสินค้าที่ต่างประเทศ ชาวต่างชาติให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ของเจ้าสัวอย่างมาก ด้วยความเป็นขนมจากเนื้อสัตว์ที่มีประโยชน์สอดรับกับเทรนด์สุขภาพและไม่ค่อยพบเห็นได้บ่อยนัก เพราะขนมส่วนใหญ่มักเป็นแป้งอย่างเบเกอรี่ต่างๆ เสียมากกว่า
นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ของเจ้าสัวยังทานง่าย ไม่เลอะเทอะ และพกพาสะดวก ตอบโจทย์วิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบันที่มีความเร่งรีบยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งเป็นตลาดต่างประเทศที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ
เปิด 4 กลยุทธ์สร้างการเติบโต
เจ้าสัว วางเป้าหมายรายได้เติบโตทะลุ 2,200 ล้านบาทในปี 2570 หรือภายใน 3 ปีนับจากนี้ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ที่ 12% ต่อปี โดยมีกลยุทธ์หลักทั้งหมด 4 ข้อ ซึ่งบางส่วนก็เริ่มดำเนินการไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนี้
1) ความเป็นเลิศด้านการตลาด (Marketing Excellence) บริษัทฯ ตั้งเป้าเป็นอันดับ 1 ในใจผู้บริโภค ผ่านการปรับภาพลักษณ์ให้ทันสมัยและน่าสนใจ โดยมีแผนการตลาดที่สนุก น่าตื่นเต้น มาเติมสีสันให้แบรนด์ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สื่อต่างๆ การจัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถมีส่วนร่วม การใช้ผู้นำทางความคิด (KOL) รวมถึงแบรนด์แอมบาสเดอร์ซึ่งสำหรับปีนี้ก็ยังคงเป็น ‘เจมส์ - จิรายุ ตั้งศรีสุข’ ที่ทางเจ้าสัวเผยว่าได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีการแจกตัวอย่างขนมให้ทดลองชิม เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์อย่างมีประสิทธิภาพ เสริมแกร่งให้กับแบรนด์เจ้าสัวในตลาดทั้งไทยและต่างประเทศ
2) นวัตกรรมและความหลากหลาย (Product Innovation & Diversification) บริษัทฯ มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ (NPDs) ไม่ต่ำกว่า 15-20 SKUs ตลอดปี อีกทั้งเจ้าสัวมีการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคอยู่เสมอ นำมาสู่การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ เช่น ผู้บริโภคที่มองหาขนมทานง่าย สะดวก ไม่เลอะเทอะ และผู้บริโภคที่มองหาขนมที่ดีต่อสุขภาพ โดยตลาดขนมเพื่อสุขภาพก็เป็นเป้าหมายหนึ่งที่เจ้าสัวต้องการรุกเข้าไป

3) เสริมความแข็งแกร่งในการจัดจำหน่าย (Distribution Channel Reinforcement) บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาช่องทางค้าปลีกทั้งแบบสมัยใหม่ (Modern Trade) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 40% และแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 24%
ในส่วนของการค้าปลีกแบบดั้งเดิมนั้น สิริณัฏฐ์เผยว่ามีร้านค้าทั้งหมดราว 300,000 แห่งทั่วประเทศ แต่เจ้าสัวเข้าถึงเพียง 31,590 แห่ง หรือแค่ประมาณ 10% เท่านั้น ทำให้บริษัทฯ ยังสามารถขยับขยายในส่วนนี้ได้อีกมาก
บริษัทฯ ยังตั้งใจเสริมความแข็งแกร่งให้กับช่องทางออนไลน์ที่คิดเป็นสัดส่วน 8% ของช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งหมดและกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว สุดท้าย ในส่วนของตลาดต่างประเทศ บริษัทฯ มีการมองหาและร่วมกับตัวแทนจัดจำหน่ายเพื่อให้ผลิตภัณฑ์แบรนด์เจ้าสัวและโฮลซัมเข้าถึงผู้บริโภคทั่วถึงยิ่งขึ้น
4) การขยายตลาดสู่ระดับสากล (International Market Expansion) ในปี 2567 บริษัทฯ มีการนำสินค้าเข้าไปตีตลาดต่างประเทศรวม 21 ประเทศ ส่วนปี 2568 นี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายในการขยายสู่กลุ่มประเทศใหม่เพิ่มราว 5-10 ประเทศ โดยมุ่งเน้นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพเติบโตในเอเชียและยุโรป รวมถึงประเทศกลุ่มฮาลาล ผ่านการออกงานจัดแสดงสินค้า พร้อมแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง
แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ล้วนมีการเตรียมพร้อมเอาไว้ส่วนหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะการสำรวจตลาด ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละประเทศ การยกระดับกำลังการผลิต ต่อเนื่องไปจนถึงการเตรียมพร้อมเผชิญความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ
ขยายโรงงาน เพิ่มขีดจำกัดการส่งออก
การ IPO เมื่อปี 2567 ที่ผ่านมาของเจ้าสัว ส่วนหนึ่งเพื่อระดมทุนนำเงินไปสร้างโรงงานผลิตขนมแบรนด์โฮลซัมแห่งที่ 2 ซึ่งในการประกาศยุทธศาสตร์ครั้งนี้ สิริณัฏฐ์เผยว่า โรงงานโฮลซัมแห่งแรกมีกำลังการผลิตราว 2,000 ตันต่อปี หากโรงงานโฮลซัมแห่งใหม่สร้างเสร็จภายในสิ้นปีนี้และเริ่มเดินสายพานการผลิตในปี 2569 จะมีกำลังการผลิตเพิ่มอีก 2,000 ตันต่อปี กล่าวคือทำให้โรงงานโฮลซัมสามารถผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในตลาดต่างประเทศ
ทั้งนี้ ดังเช่นที่กล่าวไปแล้วว่าตลอดปีที่ผ่านมา เจ้าสัวมีการขยายสู่ตลาดใน 21 ประเทศ หากลงลึกในรายละเอียด จะพบว่า 19 ประเทศนั้นได้มีการเจรจาหาตัวแทนจำหน่ายได้เรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างทำการตลาดเพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ ส่วนอีก 2 ประเทศที่มีการจัดจำหน่ายแล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนการเสริมแกร่งในกับแบรนด์ตลอดจนการทยอยเปิดตัวสินค้าใหม่ๆ
ณภัทร ชี้ว่า ตลาดต่างประเทศที่มีโอกาสน่าจับตามองคือออสเตรเลียและยุโรป อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ และจีนยังคงเป็นตลาดสำคัญ ด้วยจำนวนประชากรมหาศาล กอปรกับมูลค่าตลาดขนมขบเคี้ยวใน 2 ประเทศนี้มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนและนโยบายภาษีนำเข้าของประธานาธิบดี Donald Trump จะเป็นปัจจัยที่ต้องคอยติดตาม แต่ไม่น่ากระทบธุรกิจขนมขบเคี้ยวมากนัก และเธอเน้นย้ำว่าเจ้าสัวจะยังมุ่งมั่นเดินหน้าสร้างการเติบโตผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคต่อไป ทั้งในเรื่องของคุณภาพ รสชาติอร่อย และความคุ้มค่า
ภาพ: บริษัท เจ้าสัว ฟู้ดส์ อินดัสทรี จำกัด (มหาชน)
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : น้ำหวานขาลง เทรนด์สุขภาพขาขึ้น! Fairlife นมพรีเมียมที่ Coca-Cola ถือหุ้น มียอดขายแตะ 1,000 ล้านเหรียญแล้ว
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine