จากผู้ประสบปัญหาการมีบุตรยาก ทำให้ "กรพัส อัจฉริยมานีกูล" ซีอีโอ บริษัท เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ หรือ GFC ตัดสินใจลงทุนร่วมกับนายแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านเจริญพันธุ์ เปิดบริการรักษาผู้มีบุตรยากและเป็นผู้ประกอบการรายแรกที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมเสนอขาย IPO จำนวน 60 ล้านหุ้น พร้อมเปิดบริการแช่แข็งและฝากไข่รองรับความต้องการในอนาคต
ย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปี ก่อน กรพัส อัจฉริยมานีกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ หรือ GFC ในปัจจุบัน เคยเป็นผู้ประสบปัญหาการมีบุตรยาก และด้วยความต้องการที่จะมีบุตรชายในปีมังกร จึงเข้ารับการรักษาที่ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากแห่งหนึ่ง ซึ่งการรักษาครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จ จนมาพบกับรศ.นพ.พิทักษ์ เลาห์เกริกเกียรติ ที่ช่วยให้ความฝันเป็นจริง
“ช่วงที่เข้ารับบริการในครั้งแรก ได้เห็นถึงความยากลำบาก รวมถึงความพยายามของคนที่ต้องการจะมีลูก ซึ่งรวมถึงตัวเองด้วย ที่ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อจะมีลูกให้ได้ แม้จะต้องใช้เงินเท่าไหร่ก็ตาม ได้เห็นถึงความพยายาม ความผิดหวัง สูญเสีย และไม่ใช่แค่คนที่มีรายได้สูงเท่านั้นที่จะใช้บริการ แต่ปัจจุบัน มีคนจำนวนมากที่ต้องการการมีลูก หรือทายาท ถึงขั้นเก็บเงินเพื่อมารับการรักษาการมีบุตรยาก ผมจึงมองเป็นโอกาสที่จะสร้างธุรกิจนี้ขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนไป” กรพัสกล่าว
ขยายบริการครอบคลุมแช่แข็ง-ฝากไข่
ปัจจุบัน ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การมีบุตรยากกลายเป็นปัญหาไปทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่ผู้มีบุตรยาต้องการมารักษามากที่สุด และไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ทางการแพทย์แห่งหนึ่ง โดยตลาดบริการที่รักษาด้วยวิธี IVF (In-vitro Fertilization) หรือที่เรารู้จักกันดีว่า “เด็กหลอดแก้ว” ในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6 ต่อปี มูลค่ามากกว่า 3,000 ล้านบาท ขณะที่หากรวมบริการทางการแพทย์อื่น ๆ จะมีมูลค่าสูงถึง 4,500 ล้านบาท
“ปัญหาภาวะผู้มีบุตรยากมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ปัจจัยสำคัญประการแรก คือความเครียด ปัจจัยต่อมา คือค่านิยมของคนในปัจจุบันที่ไม่อยากมีลูก เพราะมีค่าใช้จ่ายเยอะ แต่เมื่อถึงเวลาอยากมี แต่สภาพร่างกายไม่พร้อมแล้ว เราจึงมีบริการแช่แข็งและฝากไข่ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับอนาคต” กรพัส กล่าว
ธุรกิจรักษาผู้มีบุตรยาก เป็นหนึ่งในบริการทางการแพทย์ที่ภาครัฐสนับสนุน และผลักดันให้ไทยกลายเป็น Medical Hub ด้วยอัตราการเติบโตของตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากในไทยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 14.60% ต่อปี ขณะที่อัตราค่ารักษาพยาบาลของไทยถูกกว่าประเทศคู่แข่งเฉลี่ยร้อยละ 178
สำหรับธุรกิจของ GFC แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. การให้บริการตรวจเบื้องต้นก่อนให้คำแนะนำหรือรักษา 2. การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี IUI (Intrauterine insemination) 3. การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) 4. การให้บริการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน (Next generation sequencing : NGS) และ 5. การให้บริการแช่แข็งไข่และการฝากไข่ โดยลูกค้าหลักของบริษัทฯ ประกอบด้วย กลุ่มลูกค้าผู้ที่วางแผนการมีบุตรในอนาคต กลุ่มลูกค้าคู่สมรสคนไทยที่สนใจอยากมีบุตร กลุ่มลูกค้าคู่สมรสคนไทยกับชาวต่างชาติที่สนใจอยากมีบุตร และกลุ่มลูกค้าคู่สมรสชาวต่างชาติ ที่สนใจอยากมีบุตร เป็นต้น
“จุดเด่นของ GFC คือการเป็นศูนย์รวมแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีชั้นนำด้านการเจริญพันธุ์ เพื่อผู้หญิงยุคใหม่ และคู่สมรสที่ปรารถนาอยากมีบุตรที่สมบูรณ์ แข็งแรง มาเติมเต็มความสุขของครอบครัว จากแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูตินรีเวชและเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ที่มีประสบการณ์ด้านการให้บริการทางการแพทย์ผู้มีปัญหามีบุตรยากมากกว่า 23 ปี ขณะเดียวกัน GFC มีการนำเทคโนโลยี Early Embryo Viability Assessment (EEVA) ซึ่งเป็นการนำระบบ AI จากประเทศสหรัฐอเมริกามาช่วยประเมินตัวอ่อน ซึ่งเป็นที่แรกในประเทศไทย” กรพัสกล่าว
ขาย IPO 60 ล้านหุ้น ระดมทุนขยายสาขา
GFC ถือเป็นผู้ประกอบการธุรกิจรักษาผู้มีบุตรยากรายแรกที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีบริษัทย่อย 2 บริษัท (“กลุ่มบริษัท”) ที่ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ได้แก่
1. บริษัท จีโนโซมิกส์ จำกัด (“GSM”) ดำเนินธุรกิจการให้บริการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน (Next generation sequencing : NGS ) และ
2. บริษัท จีเอฟซี เฟอร์ทิลีตี กรุ๊ป จำกัด (“GFCFG”) เป็นบริษัทโฮลดิ้ง (holding company) จัดตั้งขึ้นเพื่อลงทุนในกิจการอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจที่ก่อให้เกิดประโยชน์ หรือสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ
ปัจจุบัน บริษัทมีทุนจดทะเบียนที่ออกและเรียกชำระแล้ว 80 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 160 ล้านหุ้น โดยจะเสนอขาย IPO จำนวน 60 ล้านหุ้น ราคาพาร์ 050 บาทต่อหุ้น โดยจะเสนอขายภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ โดยบริษัทฯมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ
กรพัส กล่าวว่า สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่ใช้ลงทุนขยายคลินิก GFC สาขาสุวรรณภูมิ-พระราม 9 มูลค่า 450 ล้านบาท ตลอดจนการลงทุนในสาขาย่อยอื่น ๆ ตามพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีศักยภาพและมีฐานลูกค้าผู้มีบุตรยาก เช่น อุบลราชธานี เพื่อขยายพื้นที่การให้บริการเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหัวเมืองหลักในต่างจังหวัด ควบคู่กับการเพิ่มศูนย์ฝึกอบรม นักเทคนิคการแพทย์ ให้สอดคล้องกับการขยายตัวของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายตัวสำหรับรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เข้ารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากทั้งชาวไทยและที่เป็นชาวต่างชาติในอนาคต
สำหรับรายได้เติบโตเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี อยู่ที่ร้อยละ 13.37 อัตราส่วน ROE และอัตราส่วน ROA สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม โดยอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์สูงกว่าค่าเฉลี่ย และสูงสุดถึงร้อยละ 72.29 ปัจจุบัน บริษัทมีรายได้จากการให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI เป็นสัดส่วนหลักร้อยละ 80 โดยปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้รวม 275.91 ล้านบาท ขณะที่งวด 3 เดือนแรกของปี 2566 มีรายได้ 86.11 ล้านบาท
“ปัจจุบันภาวะมีบุตรยากเป็นปัญหาที่พบบ่อยขึ้น และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับคู่สามี-ภรรยายุคใหม่ทั่วโลก จนองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้ภาวะมีบุตรยากเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษา ทำให้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ เข้ามามีบทบาทกับคู่สามี-ภรรยามากขึ้น โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากเกิดจากหลากหลายปัจจัย อาทิ ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือแต่งงานและมีบุตรลูกช้าลง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนแต่เป็นสาเหตุที่เกิดภาวะการมีบุตรยากทั้งสิ้น ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการนำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญที่การตอบโจทย์ของกลุ่มผู้ที่มีบุตรยาก“ กรพัสกล่าว
Krungthai COMPASS มองว่า ตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี IVF ในไทยยังมีโอกาสเติบโตสอดคล้องกับเทรนด์ในต่างประเทศ เนื่องจากไทยมีชื่อเสียงและคุณภาพการรักษาเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยจุดเด่นสำคัญที่นอกเหนือจากชื่อเสียงของแพทย์ คุณภาพและมาตรฐานการรักษา และการบริการที่ดีจากแพทย์และพยาบาล คือ ค่ารักษาพยาบาลในไทยถูกกว่าประเทศคู่แข่งและประเทศชั้นนำอย่างสหรัฐอเมริกา
ซึ่งจากข้อมูลของ Medical Tourism Association พบว่า ค่าบริการการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ต่อครั้ง ของไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4,100 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 135,000 บาท) ถูกกว่าสหรัฐอเมริกาถึงร้อยละ 67 และยังถูกกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาคอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย ถึงร้อยละ 72 และ 41 ตามลำดับ
การเติบโตของตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ โดยวิธีการทำเด็กหลอดแก้วทั้ง IVF และ ICSI จะเข้ามามีบทบาทในการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจบริการทางการแพทย์ของไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน และคลินิกเฉพาะทางด้านการรักษาผู้มีบุตรยาก และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ตลาดนี้เติบโตอย่างก้าวกระโดด คือการขยายตัวของตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยาก หรือที่เรียกว่า Fertility Tourism ซึ่งกลุ่มลูกค้าสำคัญยังคงเป็นชาวจีนที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องหลังจากนี้
อ่านเพิ่มเติม : หลุดทำเนียบ
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine