ฮาโลวีน (Halloween) ถือเป็นวัฒนธรรมของประเทศทางตะวันตก ตรงกับวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งในประเทศไทยอาจเรียกวันฮาโลวีนว่าเป็น “วันปล่อยผี” โดยในช่วงนี้ของทุกปี บริษัทหรือองค์กรในไทยไม่น้อยต่างจัดกิจกรรมเพื่อให้เข้ากับเทศกาลฮาโลวีน ทำให้ช่วงปลายเดือนตุลาคมจึงเต็มไปด้วยความคึกคักและสีสันเกี่ยวกับเรื่องผีผีมากเป็นพิเศษ
ฮาโลวีนปีนี้ถ้าจะไม่พูดถึงหนังผีคงไม่ได้ แต่ก่อนที่จะพาไปส่องกระแสโซเชียลในเรื่องการพูดถึงเรื่องผีผี เรามาดูกันก่อนว่า เทศกาลฮาโลวีน มีผลกับจำนวนหนังผีที่ฉายในโรงภาพยนตร์มากน้อยแค่ไหน
ส่องกระแส “ฮาโลวีน” โซเชียลชอบคุยเรื่องหลอนมากแค่ไหน?
บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ผู้ให้บริการ Media Intelligence ได้รวบรวมข้อมูลบนโซเชียลมีเดียระหว่างวันที่ 21 กันยายน ถึง 29 ตุลาคม 2566 ผ่านเครื่องมือ DXT360 เพื่อฟังเสียงในสังคมออนไลน์ (Social Listening) พบว่า ผู้คนในสังคมออนไลน์ หรือ ในโซเชียลมีเดีย มีการพูดถึงเกี่ยวกับเรื่องราวสยองขวัญหรือเรื่องผีอยู่ที่ 12,885 โพสต์ และได้รับเอ็นเกจเมนต์ (Engagement) รวม 9,485,246 ครั้ง โดยเฟซบุ๊ก (Facebook) เป็นช่องทางโซเชียลมีเดียที่มีการกล่าวถึงเรื่องราวสยองขวัญหรือเรื่องผีมากที่สุด โดยมีการกล่าวถึง 7,774 โพสต์ และได้รับยอดเอ็นเกจเมนต์ (Engagement) รวมสูงที่สุดถึง 5,101,514 ครั้ง
นอกจากนี้ ในช่วงเก็บข้อมูลยังพบคำยอดฮิตอื่น ๆ ที่คนโซเชียลสนใจพูดคุยและกล่าวถึง เช่น Halloween ฮาโลวีน สัปเหร่อ ผี ธี่หยด IMAX ณเดชน์ หลอน เดอะโกส เป็นต้น
เรื่องเล่าผีเดอะโกส เป็นที่นิยมของคนชอบเรื่องหลอน
ในปีนี้ต้องยอมรับเลยว่ากระแสการฟังเรื่องผีนั้นกลับมาได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบตั้งแต่การเล่าผ่านเว็บบอร์ดและสื่อวิทยุกลายเป็นการเล่าผ่าน Live Streaming บน Social Media ที่มีความสะดวกในการเก็บเรื่องเล่านั้น ๆ ให้สามารถรับชมย้อนหลังได้ ซึ่งสามารถเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ฟังเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถฟังเวลาไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างเดินทาง ทำงาน ออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งช่วงเวลาก่อนเข้านอน จากความสะดวกที่มากขึ้นดังกล่าวส่งผลให้ปริมาณผู้ฟังเรื่องผีมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
และหนึ่งในอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ที่ทำให้กระแสการฟังเรื่องผีได้รับความนิยมอย่างมากบนโลกโซเชียล คนที่ชอบฟังเรื่องราวสยองขวัญสุดหลอนต้องรู้จัก The Ghost Radio รายการของคนชอบฟังเรื่องหลอนบนยูทูบ (Youtube) ปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 3.7 ล้านคน และมียอดเข้าชมคลิปวิดีโอทั้งหมดมากถึง 2,700 ล้านครั้ง มีผู้ติดตามที่หลากหลายเพศ วัย และอาชีพ แม้กระทั่งศิลปินชื่อดังหรือนักการเมืองยังเป็นแฟนรายการ
หนังผี “ธี่หยด” จากเรื่องเล่าสุดหลอนบนโซเชียลสู่โรงภาพยนตร์
เรื่อง “ธี่หยด” ถูกวิวัฒนาการมาหลายขั้นตอนจากที่เคยเป็นเรื่องเล่าติดกระแสจนได้รับฉายาเรื่องสุดหลอนประจำเว็บบอร์ดพันทิป จนถูกนำมาเล่าใหม่ผ่านรายการเล่าเรื่องผีอย่าง The Ghost Radio ที่ทำให้กระแสกลับมาอีกครั้ง จนได้ถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ อีกทั้งจะได้เป็นหนังผีไทยเรื่องแรกที่จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ประเภท IMAX อีกด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของวงการหนังผีไทย
ในปัจจุบัน “ธี่หยด” เป็นที่พูดถึงอย่างมากในโซเชียลมีเดีย โดยในช่วงวันที่ 21 กันยายน - 29 ตุลาคม มีจำนวนการกล่าวถึง “ธี่หยด” ทั้งหมด 3,090 ข้อความ ได้รับ Engagement ทั้งหมด 3,112,753 ครั้ง โดยสามารถแยกตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้ดังนี้
จากการรวบรวมข้อมูลบน DXT360 แพลตฟอร์มการฟังเสียงบนสังคมออนไลน์ (Social Listening) พบว่าในช่องทาง Facebook มีจำนวนข้อความมากที่สุดที่ 1,758 ข้อความ และยังได้รับ Engagement สูงสุดที่ 2,774,572 ครั้ง รองลงมาด้วยช่องทาง X, Pantip, YouTube, Instagram และ TikTok ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่ามีการแสดงความคิดเห็นในเชิงสนใจที่จะเข้าชมภาพยนตร์ดังกล่าว และมีการบอกเล่าถึงความน่ากลัวของเรื่อง “ธี่หยด” เป็นจำนวนมาก
จากการรวบรวมข้อมูล พบว่าโดยเฉลี่ยภาพยนตร์หรือหนังที่เข้าฉายต่อเดือนมีอยู่ประมาณ 20 เรื่อง โดยเป็นหนังประเภทสยองขวัญประมาณ 2-3 เรื่องต่อเดือน แต่พบว่าในเดือนตุลาคมจะมีอัตราการเข้าฉายของหนังประเภทสยองขวัญเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า อ้างอิงจากเดือนตุลาคมปี 2566 พบว่ามีหนังผีเข้าฉายมากถึง 7 เรื่องเลยทีเดียว
“สัปเหร่อ” หนังไทยติดลมบน กระแสดีมีแต่คนพูดถึง
“สัปเหร่อ” ภาพยนตร์แนวสยองขวัญที่ได้รับความสนใจและได้รับการพูดถึงอย่างมากในโซเชียลมีเดียตั้งแต่หนังเข้าฉายวันแรก เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 66 และยังเป็นที่พูดถึงอย่างต่อเนื่องจนถึงวันนี้ การันตีด้วยยอดรายได้ที่ตอนนี้กวาดรายได้ทั่วประเทศไปแล้ว 600 ล้านบาท ได้กระแสทั้งตัวภาพยนตร์และทีมงาน โดยเฉพาะผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้อย่าง “ต้องเต ธิติ” วันที่นำทีมนักแสดงไปให้สัมภาษณ์ในรายการออนไลน์ “กรรมกรข่าวคุยนอกจอ” ถ่ายทอดสดพร้อมกันบนยูทูบ (Youtube) และ เฟซบุ๊ก (Facebook) ซึ่งบนเฟซบุ๊กมีคนเข้าชมถึง 5.6 ล้านวิว และได้รับ Engagement รวมอยู่ที่ 406,066 ครั้ง ส่วนใหญ่ของผู้ที่เข้ามาชมรายการได้แสดงความคิดเห็นร่วมยินดีกับความสำเร็จของนักแสดงและผู้กำกับ ทั้งยังกล่าวชื่นชมกับผลงานที่นำเสนอออกมา
จากกระแสความนิยมคอนเทนต์ประเภทสยองขวัญบนโซเชียล สามารถพัฒนาไปสู่ภาพยนตร์คุณภาพและมีโอกาสส่งออกไปฉายในต่างประเทศ หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจังในการผลักดันให้เป็น Soft Power เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยสามารถสร้างผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและส่งเสริมให้วัฒนธรรมไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น
อ่านเพิ่มเติม : L’Oreal แถลงเติบโตต่อเนื่อง คว้ารางวัลด้านสิ่งแวดล้อม
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine